‘พิธา’โอนหุ้น itv แก้เกมฟื้นคืนชีพ เป็นสื่อ นักวิชาการห่วงแค่หวังกำจัด ‘ก้าวไกล’

นาทีนี้ ยังอยู่ในความสนใจของสังคมในทุกขณะ สำหรับกรณีการถือครองหุ้นไอทีวี ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ล่าสุดเจ้าตัวได้ออกมายอมรับว่าได้มีการโอนหุ้นให้กับทายาทคนอื่นแล้ว และมีความบริสุทธิ์ใจพร้อมที่จะชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“ข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้ผมตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ผมถือครองหุ้น ITV ซึ่งเป็นมรดกของคุณพ่อไว้แทนทายาทอื่น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าให้ผมจัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น”

“ในชั้นนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา และรักษาความเป็นเอกภาพในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนี้ ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าผมไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด”

“ผมมีความมั่นใจว่าก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ ผมมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ผมไม่อาจคาดหมายได้ว่าบริษัท ITV จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด”

“กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันทุกท่านว่าผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด”

“ไม่มีใคร หรืออำนาจไหนมาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียงได้อีกแล้ว ขอให้ทุกท่านสบายใจ และเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกันครับ”

ถ้อยคำชี้แจงบางส่วนจากพิธาถึงกรณีหุ้นไอทีวี

 

ด้าน “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” นักร้องในกรณีหุ้นไอทีวี ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ โดยกล่าวขอบคุณถึงพิธาที่ออกมาโพสต์ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การโพสต์ในสังคมออนไลน์ ส่วนตัวเข้าใจว่า กกต.จะไม่เอาการโพสต์นี้ไปใส่ไว้ในสำนวน เพราะสิ่งที่จะประกอบในสำนวนต้องเป็นเอกสารทางการจากผู้ถูกร้อง น่าจะมีกระบวนการให้ส่งคำชี้แจงอีกครั้ง ตัวเองในฐานะผู้ร้องก็จะทำหน้าที่รวบรวมส่งเป็นหลักฐานเพิ่มเติมให้กับ กกต.ไปด้วย

ส่วนการโอนหุ้นไปให้ทายาทและการพยายามอธิบายสถานะของไอทีวีในแต่ละช่วงเวลา ว่าไม่ได้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนและไม่ได้เป็นสื่อโทรทัศน์แล้วนั้น มองว่าก็เป็นการใช้วิธีชี้แจงคล้ายๆ กับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตว่าในข้อความชี้แจง ไม่ได้มีการระบุวันที่โอนหุ้นให้ทายาท แล้วก็ไม่ได้ระบุวันที่แจ้งข้อมูลกับ ป.ป.ช. ทั้งๆ ที่เป็นหลักฐานสำคัญที่มีผลต่อคดี

ขณะที่ กกต.เริ่มขยับสั่งสอบเพิ่มคดีหุ้นไอทีวี โดยเอกสารระบุว่า

“นายพิธามีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้ง และการยินยอมให้พรรคส่งชื่อตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ก.ก.ลำดับที่ 1 รวมถึงยอมให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ เข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ ทั้งนี้ ให้พนักงานสืบสวนไต่สวนของสำนักงาน กกต.เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวน”

“อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต.ยังเห็นว่าสำนักงาน กกต.ยังเสนอรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงให้ไปดำเนินการมาให้ครบถ้วนและเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาใหม่โดยเร็วอีกครั้ง”

 

“รายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา” อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถึงมุมมองกรณีหุ้นไอทีวีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าควรจบอย่างไรในสายตาอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย

“ต้องยอมรับก่อนว่าพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงที่คาดไม่ถึง อันนี้เป็นประเด็นแรก ประเด็นที่สองคือเราไม่อาจก้าวล่วง เดาใจศาลรัฐธรรมนูญหรือ กกต.ได้ ณ วันนี้เรายังไม่ทราบเลยว่า กกต.จะมีมติอย่างไร จะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือจะเห็นว่าได้เคยชี้แจงแล้วก็อาจจะไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ หรืออาจออกมาในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัย เป็น 3 ทาง”

“มองตามข้อเท็จจริง หุ้นที่คุณพิธาถือ คือในฐานะ ‘ผู้จัดการมรดก’ ทีนี้ในการโอนมรดกเป็นหุ้นมันต้องมีการร้องขอศาลเป็นผู้จัดการมรดกก่อน การโอนหุ้นมีขั้นตอนที่ไม่เหมือนการโอนทรัพย์สินบางอย่าง ฉะนั้น การที่คุณพิธาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ มันเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าหุ้นนั้นเป็นของคุณพิธา เพราะเราไม่รู้ว่าเจตจำนงของเจ้ามรดกในวันที่เสียชีวิตเขาต้องการให้หุ้นจำนวน 42,000 หุ้น เป็นของคุณพิธา พี่น้องหรือญาติคุณพิธา”

“อย่างที่สองคือเจ้ามรดกในวันที่ถึงแก่ความตายเขามีเจตนาจะให้คุณพิธาเป็นคนบริหารจัดการโดยแบ่งให้ทายาทคนอื่นๆ เราไม่รู้เจตนา พี่น้องอาจจะยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นคนรับผิดชอบหรือได้รับหุ้นตัวนี้ไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องถือไว้อยู่ แต่มันไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของ คุณพิธาถือในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้ถือในฐานะเจ้าของ”

เมื่อถามว่าถ้าโอนหุ้นไปแล้ว จะช่วยได้หรือไม่ อาจารย์ยอดพลกล่าวว่า “กฎหมายไทยแปลกอย่างหนึ่ง เราไปเอาสิ่ง Qualify คุณสมบัติ กับสิ่งที่เรียกว่า Disqualify ไปปะปนกันหมด ฉะนั้น ตอนนี้ถ้ายึดตามกฎหมายไทย ไม่ดูเจตนารมณ์ ไม่ดูเจตนาของคุณพิธา ไม่ดูอะไรทั้งสิ้น ดูกับแบนๆ ทื่อๆ โอนไปแล้วช่วยอะไรได้ไหม ก็ตอบว่าช่วยไม่ได้”

“มันไม่ใช่ความยาก แต่มันมีการทำให้มันยาก เรื่องง่ายๆ หนึ่งคือกฎหมายบอกว่าคุณสมบัติต้องห้ามของผู้รับสมัครเป็น ส.ส. คือถือหุ้นสื่อหรือสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสารมวลชนหรือสื่อสิ่งพิมพ์ คำถามง่ายๆ เลย หุ้นสื่อสิ่งพิมพ์ บริษัทที่ดำเนินกิจการสื่อสิ่งพิมพ์พวกนี้ เราตีความกันยังไง บริษัทที่เคยประกอบแล้วปิดไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว ไม่ได้มีใบอนุญาตแล้ว ก็ถือหรือไม่ ณ วันที่ถือก็ไม่มีการประกอบกิจการแล้ว หรือเราจะตีความตามตัวอักษรเลยคือเอาล่ะไม่ว่ามันจะทำหรือไม่ทำอยู่ แต่มันเป็นหุ้นที่มีการประกอบกิจการเป็นลักษณะของสื่อสารมวลชนโดนห้ามหมดทุกอย่าง อันนี้ไม่ใช่”

อาจารย์ยอดพลกล่าวต่อว่า กฎหมายไทยไปปะปนกัน ทั้งคุณสมบัติและข้อห้าม ซึ่งจริงๆ มันต้องแยก วันนี้คุณพิธาเป็นนายพิธา ไม่ใช่ ฯพณฯ พิธา ถามว่ามีหุ้นสื่อผิดไหม ไม่ผิด ถูกไหมครับ สมมุติเป็น ฯพณฯ พิธา แต่บังเอิญมีหุ้นสื่อ ไม่ได้พูดถึงหุ้นไอทีวีนะ ผมพูดหุ้นสื่อสักตัวหนึ่ง อันนี้อ่ะผิด เจตนารมณ์มันไม่ต้องการให้ใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ หรือใช้สื่อในการโฆษณาชวนเชื่อตัวเอง มันต้องแยกกันระหว่าง Qualify กับ Disqualify แต่กลายเป็นว่าเราต้องมานั่งตีความกันเรื่องถือหุ้นไอทีวี ไอทีวีประกอบกิจการสื่อหรือเปล่า คุณเป็นผู้ขาดคุณสมบัติรับสมัครหรือเปล่า

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ไม่อยากพูดว่าอนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร แต่ระบบกฎหมายในอนาคตมันจะอยู่ยังไงมากกว่า มีคนไม่พอใจแน่ๆ ถ้าพิธาถูกตัดสินด้วยกรณีหุ้นไอทีวี ครั้นนักร้องหรือใครจะมาพูดว่า ทำตัวเอง มองว่ามันไม่ใช่ อย่างที่ถามไปว่าวันนี้ไอทีวีเผยแพร่ภาพอยู่ช่องไหน ในฐานะคนในวงการกฎหมายที่สอนกฎหมาย คิดว่าเรามาไกลจนหลักกฎหมายไม่มีเหลือให้สอนหนังสือแล้ว ถ้ายึดกฎหมายเป็นหลัก หุ้นคุณพิธาไม่เป็นหุ้นสื่อ ไอทีวีไม่ใช่สื่อ จบ…มันง่ายทุกอย่าง ถ้ามองว่ามันเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในอนาคตเราไม่ต้องมาถามหรอกว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือเปล่า มันจบแล้วครับ!

เกมการเมืองแบบนิติสงคราม เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยการทำเรื่องง่ายๆ ให้กลายเป็นเรื่องยาก เป็นรูปแบบที่เคยใช้มาตลอด จากนักร้อง สู่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ

แต่รอบนี้อาจไม่ง่าย เพราะพรรคที่มีคนเลือกกว่า 14 ล้านเสียง ได้ส่งเสียงชัดเจนว่า ต้องการการเปลี่ยนแปลง และต้องการให้พิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30