ธุรกิจลุ้นตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ เร็ว ปลดล็อกเศรษฐกิจ แก้ปมค่าพลังงานแพง

หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา การฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางขวากหนาม

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ยังเผชิญความท้าทายกับคดีถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดเจ้าตัวได้ชี้แจงว่า ได้โอนให้ทายาทเรียบร้อยแล้ว

สาเหตุเพราะในอดีตที่ผ่านมามั่นใจในข้อกฎหมายและหลักฐาน แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีขึ้นมา และมีหลายท่านบอกว่า “ในอนาคตกับในอดีตไม่เหมือนกัน”

เส้นทางจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลยังต้องเจออีกหลายด่าน

ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนทั้งหลายได้แต่ลุ้นตัวโก่ง หวังว่าการเมืองจะหายฝุ่นตลบ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป

 

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2566 ว่าจะยังคงประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีพีพี) ที่ 3.7% จากแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีความแน่นอน อาจเป็นปัจจัยเข้ามากระทบเศรษฐกิจ ทำให้การเติบโตต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

“หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์จะส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณปี 2567 ล่าช้าออกไป ขณะเดียวกันนักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะมีหน้าตาอย่างไร”

ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมาช่วยผลักดันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนให้ปรับปรุงการทำงานร่วมกันเพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อนำการดิสรัปชั่นไปต่อสู้ในตลาดโลก โดยเชื่อว่าภาคการผลิตของประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ ถ้ากำหนดนโยบายได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

เช่นเดียวกับ ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) ที่แสดงความเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ก็คาดหวังการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แน่นอนว่าทุกคนต้องการความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ด้าน น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็นอยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้ช่วยดูแลว่า ตอนนี้อยากจะเห็นภาพนโยบายเศรษฐกิจว่ารัฐบาลมองภาพอย่างไร โดยเฉพาะการดึงการลงทุนจากต่างชาติ เพราะเป็นจุดที่สำคัญมากในการที่ประเทศไทยจะเป็นเบอร์ 1 หรือกลับมายืนบนเวทีของโลก

ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในเมืองไทย ต่างก็รอดูนโยบายอยู่ว่า รัฐบาลใหม่จะกระตุ้นหรือสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติแค่ไหน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่นอยู่แล้ว เราอยากเห็นว่าจะมีความแตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง

 

ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐมนตรีที่เข้ามาให้ความสำคัญกับภาคท่องเที่ยว เพราะท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว และมีโอกาสที่จะขยายผลนำรายได้เข้าประเทศมากมาย การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่โรงแรม แต่มีทั้งเอเย่นต์ ชุมชน เกษตรกร ขนส่ง ฯลฯ ดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจอย่างทวีคูณจึงกว้างมาก ทุกคนจะได้ประโยชน์จากตรงนี้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การขึ้นค่าแรง ซึ่งสมาคมฯอยากให้ชะลอออกไปก่อน เนื่องจากเพิ่งขึ้นค่าแรงไปเมื่อปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน เดิมที่ค่าไฟฟ้าคิดเป็น 5-6% ของรายได้ แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รองจากค่าจ้างพนักงาน

“อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ 2-3 ประเด็นนี้ เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ในระยะฟื้นตัว แม้จะเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว แต่ก็มีอีกหลายโรงแรมที่ยังปิด และรอที่จะเปิดแต่ยังไม่มีเงินมาปรับปรุงก็มี” นางมาริสากล่าว

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือขอให้ตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว เพื่อประเทศไทยจะได้เดินหน้าอย่างมีพลัง

พร้อมกันนี้ก็อยากฝากรัฐบาล เรื่องช่วยกันสร้างแบรนด์ซอฟต์เพาเวอร์ให้ประเทศไทยเป็น”พรีเมียม เดสติเนชั่น” สำหรับการท่องเที่ยว สร้างมาตรฐานทั้งในเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย จับจ่ายใช้สอย สร้างมูลค่าเพิ่มทำให้นักท่องเที่ยว โดยไม่จำเป็นต้องดึงนักท่องเที่ยวมาจำนวนมากๆ ถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่ให้พักในประเทศไทยนานขึ้นและใช้เงินมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาแรงงาน ซึ่งในช่วงโควิดทำให้คนออกไปจากธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จะทำอย่างไรให้คนมีทักษะเพียงพอเหมาะสมและดึงแรงงานให้กลับเข้ามาในอุตสาหกรรม

รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่อง sustainability เพราะบ้านเรากำลังเจอเรื่องมลภาวะ ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วม เช่น โรงแรม สามารถทำพลังงานโซลาร์แล้วอาจจะได้ลดหย่อนภาษีมากขึ้น หรือเสริมทักษะคนในองค์กรก็สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น

และสุดท้ายคือ การลดเรื่องขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ปัจจุบันมีโรงแรมหรือที่พักที่ไม่มีใบอนุญาตมากกว่าครึ่ง ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึง และมีมาตรฐานอยู่ในใบอนุญาตเดียวกัน อะไรที่ซับซ้อน ไม่จำเป็น ต้องตัดออกไป เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีทั้งมาตรฐานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ภาคส่งออกซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สถานการณ์ส่งออกปี 2566 คาดว่าจะเติบโตระหว่าง 0-1% แม้ว่าช่วง 4 เดือนแรก ส่งออกไทยหดตัว -5.2% มองว่าครึ่งปีหลังยังมีการเติบโต

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการส่งออกปีนี้ คือ

1) ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล อาจส่งผลต่อแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

2) เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน ภาคการเงิน การผลิต ส่งออก วัตถุดิบ และพลังงาน

3) อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ

4) ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อความสามารถการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้าไทย

5) ปริมาณสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้ายังคงมีปริมาณสูง ส่งผลให้ชะลอคำสั่งซื้อออกไป

และ 6) ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลต่อภาคการเกษตรในประเทศ

และทั้งหมดนี้ก็คือเสียงสะท้อนของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยกับความกังวลและคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่