คุยกับ ‘เกษียร เตชะพีระ’ ‘อำนาจนำใหม่’ ของ ‘ก้าวไกล’ และข้อเสนอถึง ‘ขวาไทย’

หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ “ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ” คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่แสดงความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง ในรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี

 

: ชัยชนะของก้าวไกลเกินความคาดหมายหรือไม่? และสะท้อนอะไรถึงการเมืองไทยยุคปัจจุบัน?

เกินความคาดหมายผมครับ และก็คงเกินความคาดหมายของคนส่วนใหญ่ในสังคมการเมืองไทย เพราะที่บอกว่าชนะนี่ ผมคิดว่าที่น่าสนใจมาก คือ ชนะในคะแนนของคนที่เลือกพรรค ก็คือปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งผมคิดว่าลักษณะเด่นของการเลือกพรรคมันไม่เหมือนเลือกเขต

เวลาคุณเลือกพรรค คุณเลือกคนแปลกหน้า คุณไม่เห็นชัดเจนหรอกว่าพรรคที่คุณเลือกหน้าตาเป็นอย่างไร คุณไว้ใจเขาโดยผ่านแนวนโยบายของเขา

ดังนั้น มันสำคัญมากเลยว่าแนวนโยบายของพรรคและอัตลักษณ์ของพรรคคืออะไร

ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลมีอัตลักษณ์ที่ถูกตราหน้าโดยฝั่งตรงข้ามทางการเมืองว่า ในแง่หนึ่ง ก็เป็นพรรคที่ต้องการจะปฏิรูปโครงสร้างสังคมการเมืองไทย แต่ขณะเดียวกัน ก็ถูกหาว่าเป็น “พรรคสุดโต่ง” บ้าง หรือบางทีก็เตลิดไปถึงขั้นหาว่าเป็น “พรรคล้มเจ้า”

ดังนั้น พรรคที่ถูกกล่าวหาอย่างที่อาจไม่ตรงกับความจริง อย่างที่ไม่เป็นธรรมว่าเป็น “พรรคสุดโต่ง-ล้มเจ้า” มีคนเลือก 14 ล้านคน มีคนเลือกเป็น 1 ใน 3 คือ 36 เปอร์เซ็นต์ของโหวตเตอร์ นี่น่าสนใจ เป็นกลุ่มก้อนใหญ่สุดของคนเลย ที่พร้อมจะเลือกพรรคที่ถึงแม้จะถูกตราหน้าประณามแบบนั้น แต่เขาคิดว่าตรงกับใจมากกว่า ในแง่ต้องการเปลี่ยนแปลง

คราวนี้มันสะท้อนอะไร ผมคิดว่าสองส่วน ในแง่หนึ่ง มันเป็นปฏิกิริยาตอบกลับต่อ 9 ปีของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าจะยกคุณงามความดีให้กับใครที่ทำให้มีเสียงเลือกพรรคก้าวไกลที่ต้องการปฏิรูปโครงสร้างถล่มทลายขนาดนี้ ก็คือ 9 ปีของคุณประยุทธ์ ทำให้คนเหล่านี้ดวงตาเห็นธรรมว่าต้องปฏิรูประดับโครงสร้าง

ในแง่ทางตรง ผมคิดว่าตั้งแต่เขาตั้งพรรคมา เดิมทีเป็นอนาคตใหม่ ต่อมาถูกยุบเปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกล เขาทำอันหนึ่งที่แน่วแน่ตลอดเวลา ก็คือ ปักธงความคิด อันนี้เป็นไอเดียที่นำเสนอโดยอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) แล้วมันก็ปรากฏผลให้เห็นเป็นจริงในช่วง 4-5 ปีข้างหลัง

ก็คือว่าคุณทำให้สังคมเกิดความคิดใหม่ เกิดจินตนาการใหม่ ว่าเมืองไทยไม่ต้องเป็นแบบนี้ก็ได้ อาจจะไม่ต้องเกณฑ์ทหารโดยที่เรามีความมั่นคงก็ได้ สถาบันกษัตริย์อาจจะเข้มแข็งมั่นคงโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่าง ม.112 ก็ได้

เขาปักธงความคิด เขาทำให้สังคมจินตนาการ-ฝันถึงเมืองไทยที่ต่างออกไป แล้วทำให้เป็นทางเลือกนโยบายขึ้นมา ผมคิดว่าอันนี้เป็นส่วนสำคัญ

คราวนี้มันสะท้อนอะไรต่อสังคมการเมืองไทย ผมคิดว่า มันสะท้อน “ความตกห่าง” ก็คือมันไม่สอดคล้องกลมกลืน ตกห่างจากกันของการเมืองกับสังคมไทย

ในขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เรื่องใหญ่ๆ ก็เช่น การกลายเป็นเมืองมากขึ้น ผมคิดว่าเป็นข้อเท็จจริงทางสังคมวิทยา ทางประชากรศาสตร์ ว่าคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในเมือง มันไม่ใช่ชุมชนชนบทแบบเก่า ที่จะใช้การเมืองอุปถัมภ์แบบเก่า

มีการเปลี่ยนในแง่รุ่นคน ก็คือ กลุ่มคนที่โตขึ้นมาในช่วง 9 ปีของคุณประยุทธ์ มันมีการเปลี่ยนรุ่นคนในหมู่ประชากรกลุ่มก้อนใหญ่พอสมควร

แล้วก็มีสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า “สังคมที่ท่วมท้นล้นไปด้วยสื่อ” โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดียกับคนหนุ่มสาว คือเป็นชีวิตของสังคมและชีวิตทางการเมืองที่ดำเนินไปโดยอิทธิพลและกลมกลืนไปกับสื่อเยอะพอสมควร

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นในแง่วัฒนธรรมการเมือง ผมคิดว่า “อำนาจนำเก่า” ก็คืออำนาจที่ทำให้คนเชื่อและทำตามได้โดยไม่ต้องบังคับ มันเสื่อมถอยลง

เกิดโครงสร้างความรู้สึกใหม่ กล่าวคือ อำนาจนำเก่าไม่ได้อธิบายโลกอย่างที่คุณเห็น คุณเกิดความรู้สึกแบบใหม่ที่ไม่ตรงกับที่อำนาจนำเก่าบอก (หรือ) อยากจะให้รู้สึก แทนที่จะซาบซึ้ง กลับสงสาร แทนที่จะตื้นตัน กลับหมั่นไส้ เป็นต้น

มันก็มีปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม เพลงดนตรี การแสดงต่างๆ ออกมาเยอะแยะที่สะท้อนความรู้สึกใหม่นี้ ในที่สุดก็นำมาสู่ผลลงเอยของมัน ก็คือเกิด “อำนาจนำทวนกระแส” ขึ้นมา มันไม่ได้มีอำนาจนำเดียวในสังคม มันมีอีกอำนาจหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องเที่ยวไปบังคับใคร คนก็อยากจะเดินตามเขาอย่างสมัครใจ เพราะเชื่อในแนวทางของเขา

ก็คือสังคมมันขยับเปลี่ยน แต่ว่าการเมืองเป็นอย่างไร ผมคิดว่าโครงสร้างของระบบการเมืองเรายังเป็น “โครงสร้างต่อต้านเสียงข้างมาก” คือถ้าคุณได้เสียงข้างมากมาในสังคม เสียงข้างมากในหมู่ผู้แทนมา มันมีอุปสรรคเยอะแยะไปหมดเลย

ขณะเดียวกันในโครงสร้างอันนี้ ชัยชนะของก้าวไกลคือ “กระแสปฏิรูปจากเบื้องล่าง” ดังนั้น มันปะทะกันแน่ (ระหว่าง) โครงสร้างแบบเก่าที่ต่อต้านเสียงข้างมากของการเมือง กับกระแสปฏิรูปจากเบื้องล่างที่กระเพื่อมมายังสังคม และก็มาปรากฏตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

: ฝั่งอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวาจะโต้กลับก้าวไกลหรือไม่? อย่างไร? หากนึกถึงอุปสรรคอีกหลายด่านก่อนการจัดตั้งรัฐบาล

อันที่หนึ่ง ผมประเมินสูง จะไม่ประเมินต่ำ ก็คือดูจากผลงานที่ผ่านมาของพวกท่าน ในการยุบพรรค ในการทำอะไรต่อมิอะไร มัน (การยุบพรรคก้าวไกลหรือตัดสิทธิทางการเมืองของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”) เกิดขึ้นได้

แต่ผมอยากจะเรียนเตือนว่า มันจะแก้ปัญหาให้พวกท่านได้แค่เฉพาะหน้า แต่ว่าระยะยาวมันจะเกิดผลเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องมือที่ท่านใช้ ผมอยากให้ลองคิดดู เกียรติภูมิของกองทัพเมื่อ 9 ปีก่อนกับปัจจุบันต่างกันไหม? การยอมรับของสังคมต่อสถาบันตุลาการเมื่อ 9 ปีก่อนกับปัจจุบันต่างกันไหม?

ผมเกรงว่าเครื่องมือที่ใช้ในภารกิจที่มันเปลืองความชอบธรรม คือ คนเริ่มไม่เห็นด้วยมากขึ้น มันจะทำให้สิทธิอำนาจของเครื่องมือเหล่านั้นลดน้อยถอยลง

ถึงวันหนึ่ง ถ้าคุณต้องใช้เครื่องมือนั้นในยามจำเป็น คนอาจจะไม่ยอมรับสิทธิอำนาจนั้นก็ได้ ซึ่งพอถึงจุดนั้นมันก็จะวนลูป คือคุณจะไม่สามารถทำให้คนปฏิบัติตามในสิ่งที่คุณต้องการได้ คุณก็ต้องไปใช้กำลัง ซึ่งไม่เป็นผลดี

เรื่องที่สอง ปัญหาคืออะไรกันแน่ ผมคิดว่ารูปแบบเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันกษัตริย์และสถาบันกองทัพอย่างที่เป็นอยู่ มีอำนาจและทรัพยากรอยู่ในมือมากเกินไป จนเป็นภาระเกิน ผมอยากจะเรียกว่าเป็นโอเวอร์โหลด ทำให้บริหารจัดการทรัพยากรและอำนาจเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ จึงเกิดปัญหาปะทุขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดเวลา

กรณีกองทัพก็จะเห็นได้ชัดว่า มีกรณีกำลังพล มีกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น คือ แบกรับภาระหนักไป และภาระหนักจำนวนมากอยู่นอกขอบข่ายภารกิจหลักของท่าน ดังนั้น มันก็ทำให้ท่านเหนื่อยมากและตกเป็นเป้าในการเพ่งเล็งในการติดตามตรวจสอบ

ผมคิดว่าต้องคลี่คลายรูปแบบของเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจที่เอาทรัพยากรกับอำนาจไปไว้ในมือเยอะเกินไป ผมคิดว่าอันนี้อันตราย

นำไปสู่ประเด็นที่สาม อยากชนะก้าวไกลไหม? ถ้าอยากชนะก้าวไกล (ผม) แนะนำให้สร้าง “พรรคอนุรักษนิยม” ในสภาที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ “พรรคเฉพาะกิจชั่วคราว” ที่รับใช้นายพลบางคน และก็ไม่ใช่ด้วยความคิดอนุรักษนิยมแบบโบราณ แบบไหน? ก็แบบคลิปของรวมไทยสร้างชาติที่ออกมาล่าสุดก่อนวันเลือกตั้ง

นั่นคือวิธีการความคิดแบบโบราณ ที่ท่านพยายามจะต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ขอเรียกร้องให้นักอนุรักษนิยมที่รักชาติทุกท่านจงนำเสนอแนวคิดอนุรักษนิยมไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งคู่ควรแก่นาม ซึ่งคู่ควรแก่ภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่จะปกปักรักษามรดกของชาติต่อไปข้างหน้า อีกร้อยปีสองร้อยปี

และต้องมีแก่นความคิดที่ชัดเจน เป็นอนุรักษนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 21 และต้องมีพรรคการเมืองที่เชื่อมั่น ยึดมั่น ในแนวคิดอนุรักษนิยมนั้น

อันนี้แหละที่ผมสงสัย คือ ท่านทำได้หรือเปล่า? ผมไม่สนใจ คุณจะตั้งพรรคใหม่ (หรือ) เอาชื่อพรรคเก่า แต่ผมคิดว่าไม่ว่าจะชื่อพรรคไหน คุณยังไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย

คือบรรดาคนอนุรักษนิยมที่อยู่ในวงการเมือง ทันทีที่เผชิญกับคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งตอนหาเสียงหนที่แล้ว คุณควักอาวุธที่เก่าที่สุดและไม่ได้เรื่องที่สุดจากในย่ามมาขว้างใส่เขา เคยซัดเขาด้วยข้าวสารเมื่อร้อยปีก่อน ก็ยังล้วงข้าวสารจากย่ามมาซัดใส่เขาแบบผีร้อยปีก่อน

ไม่ใช่ นี่มันผีอันใหม่ ผมคิดว่าไม่ไหวแล้วครับ อันนี้เตือนด้วยความหวังดี ถ้าอยากชนะก้าวไกล อยากชนะเพื่อไทย สร้างพรรคอนุรักษนิยมแบบใหม่ในสภาที่เข้มแข็งขึ้นมา

มันต้องเริ่มจากความตระหนักก่อนว่าความเชื่อแบบเก่าของคุณอธิบายโลกไม่ได้ ความเชื่อแบบเก่าของคุณไม่เพียงอธิบายโลกแบบที่คุณอยู่และอยากจะอยู่ไม่ได้เมื่อเทียบกับโลกปัจจุบัน มันอธิบายศัตรูของคุณไม่ได้ด้วย

เวลาคุณมองเห็นก้าวไกล หรือคุณมองเพื่อไทยแต่ก่อน คุณจะเห็น “พวกล้มเจ้า” “พวกไม่จงรักภักดีต่อชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด และเมื่อคุณโจมตีศัตรูของคุณด้วยการเข้าใจศัตรูคุณผิด คุณไม่มีวันชนะศัตรูของคุณได้

“แว่นเก่า” ไม่เวิร์กแล้ว คุณต้องเข้าใจคนที่คุณคิดว่าเป็นศัตรูของคุณด้วยสายตาที่เที่ยงตรง แล้วเริ่มการต่อสู้จากการเข้าใจตรงนั้น

ผมคิดว่าขวาไทย “have it too easy” คือ เขาคิดมาให้หมดแล้ว บรรดาความคิดอนุรักษนิยมไทยแต่ก่อน ก็เพียงแต่ไปจำแล้วเอามา สถาบันทิศทางไทยเสนออะไรที่ใหม่ไปกว่าสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุเทศน์ไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน อะไรที่ใหม่ไปกว่าสิ่งที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พูดไว้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีเลย ข้อถกเถียงวิ่งกลับไปที่นั่น

มันเป็นข้อถกเถียงที่ตกยุคไปแล้ว และอธิบายปรปักษ์ที่คุณเผชิญหน้าตอนนี้ไม่ได้ มันได้เวลาที่คุณจะเห็นขีดจำกัดของความคิดเดิม และเริ่มคิดใหม่ สร้าง “อนุรักษนิยมใหม่” ขึ้นมา เพื่อที่จะธำรงรักษาสิ่งที่คุณรักเอาไว้ในรูปแบบที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น