Moneyball สูตรรวมตัวคนด้อยค่า

วัชระ แวววุฒินันท์

แม้กีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพจะผ่านไปร่วม 10 วันแล้ว แต่เรื่องราวหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากการจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งแรกของกัมพูชายังถูกพูดถึงอยู่

โดยเฉพาะประเด็นของการพยายามเป็นเจ้าเหรียญทอง ที่ใช้วิธีการที่ไม่ถูกควรหลายประการ รวมทั้งการ “ซื้อตัวนักกีฬาชาติอื่นให้โอนสัญาชาติมาแข่งในนามกัมพูชา”

เราจึงได้เห็นนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ที่ได้ชื่อว่าเก่งในกีฬาชนิดนั้นๆ มาสวมเสื้อทีมชาติ Cambodia เข้าแข่งขัน อย่างที่ชัดๆ เลยคือ บาสเกตบอล ที่นำนักกีฬาชาวอเมริกัน และปิงปอง ที่นำนักกีฬาจีน มาสวมสัญชาติใหม่ เป็น “ชาวกัมพูชาแบบฉุกเฉิน” ลงแข่งขัน

จนนักกีฬากัมพูชาจริงๆ ถึงขั้นออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านเรื่องนี้ เพราะนั่นเท่ากับการดูถูกนักกีฬาของตนเอง ที่ได้อดทนฝึกฝนมาอย่างเหนื่อยยาก เพียงหวังให้ได้ “มีโอกาส” แสดงฝีมือต่อหน้ากองเชียร์ของคนในประเทศ จะแพ้หรือชนะ ก็ยังน่าภูมิใจมากกว่า

ซึ่งแน่นอนว่าการดึงนักกีฬาต่างชาติมาโอนสัญชาตินี้ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย จะดีกว่าไหมถ้านำเงินก้อนนั้นมาพัฒนานักกีฬาของตนเอง เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน

แต่ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดแบบเอา “ผลสำเร็จเป็นที่ตั้ง” จะใช้วิธีการไหนก็ได้ พูดง่ายๆ… “กูจะเอา” ซะอย่าง

ผมเลยอยากพูดถึงหนังเรื่อง “Moneyball” สักหน่อย เพราะด้วยบริบทของหนังเรื่องนี้คือการให้โอกาสกับผู้ที่ถูกมองว่าด้อยค่า และนำพวกเขามาเพื่อพิสูจน์ว่า “ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องใช้เงินก็ได้”

“Moneyball” เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2011 นำเนื้อหามาจากหนังสือเรื่อง “Moneyball : The Art of Winning an Unfair Game” เขียนโดย ไมเคิล ลูอิส เป็นเรื่องราวในชีวิตจริงของอดีตนักเบสบอลมีชื่อ คือ “บิลลี่ บีน” ที่ผันตัวเองมาเป็นแมวมองหานักกีฬา และเป็นผู้จัดการทีมในที่สุด

เรื่องราวในหนังเกิดขึ้นในปี 2002 ที่บิลลี่เป็นผู้จัดการทีมให้กับสโมสรโอ๊กแลนด์ แอธเลติก เขาพาทีมตกรอบในนัดตัดเชือกพ่ายแพ้ให้กับทีมยักษ์ใหญ่เงินหนาอย่างทีมนิวยอร์ก แยงกี้ส์ ซึ่งมีทุนในการทำทีมถึง 120 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่โอ๊กแลนด์มีแค่ 38 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

นอกจากจะพ่ายแพ้แล้ว ทีมยังต้องเสียนักกีฬาฝีมือดีไปพร้อมๆ กัน 3 คน เขาจึงเจรจาขอเงินเพิ่มจากเจ้าของทีมในการสู้ในฤดูกาลหน้า แต่เจ้าของไม่สามารถเพิ่มเงินให้ได้

บิลลี่มองว่าหากเขาเล่นตามเกมแบบเดิมๆ ก็จะมีผลลัพธ์เหมือนเดิม เขาจึงล้มวิธีการทำงานแบบเก่าที่มี กลุ่มผู้เชี่ยวชาญคอยสเกาต์นักกีฬามาเข้าทีมให้เขาได้เลือกใช้ตามต้นทุนที่มี โดยมองนักกีฬาเหล่านั้นแบบเป็น “สินค้า” ที่นอกจากจะดูถึงฝีมือแล้ว ยังดูถึงภาพภายนอกด้วย เช่น “คนนี้ดูเนี้ยบ หน้าตาดี ฟันสวย” “คนนี้มีแฟนไม่สวย แสดงว่าเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง”

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการมองจาก “ความรู้สึก” ที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ และสำหรับทีมโอ๊กแลนด์มันคงจะผิดมากกว่าถูก ผลงานของทีมจึงไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ตัวบิลลี่นั้นมีปมกับการเคยถูกมองด้วยความรู้สึก แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเหลวมาแล้ว

เขาจึงเปลี่ยนวิถีการทำทีมจากการใช้ “ความรู้สึก” มาเป็นการใช้ “สถิติ” คือ การนำเรื่องการคำนวณมาใช้ประเมินค่านักกีฬาแทน โดยดูจากผลงานที่ผ่านมา แน่นอนที่ถ้าใช้ความรู้สึก จะมีนักกีฬากลุ่มใหญ่ที่จะถูก “ด้อยค่า” ลง เพราะมีจุดด่างดำเต็มไปหมด

แต่การใช้สถิติ จะนำเอาจุดแข็งและจุดด้อยของนักกีฬาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับทีม ภายใต้งบประมาณที่เป็นจริง นี่คือทฤษฎีที่เรียกว่า “Moneyball” นั่นเอง

บิลลี่โละกลุ่มสเกาต์เดิมออก และนำนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ที่จบใหม่จากมหาวิทยาลัยเยล ที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาเบสบอลด้วยซ้ำ แต่รู้จักใช้สถิติประเมินคุณค่านักกีฬามาเป็นผู้ช่วย แน่นอนที่จะต้องถูกต่อต้านอย่างหนัก ตามประสาการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ

ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกระดับของสังคม แม้แต่การเมืองบ้านเรา

ถึงจะมีอุปสรรคต่างๆ แต่บิลลี่ยังยืนกรานและเชื่อมั่นในทฤษฎีที่เขาใช้นี้ โดยมีราคาเป็นเดิมพันของชีวิตการทำงานของเขาด้วย หากว่ามันล้มเหลว

และใน 10 เกมแรกมันก็ล้มเหลวจริงๆ ทีมไม่ชนะใครเลย นั่นก็เพราะโค้ชของทีมไม่เลือกใช้นักกีฬาที่เขาเลือกมาในตำแหน่งที่ควรจะเป็น เพราะ “ไม่เชื่อ” และบรรยากาศของทีมกำลังดิ่งเหว ร้อนถึงเขาต้องลงมาจัดการไล่นักกีฬาบางคนออก และเข้ามาทำหน้าที่ “โค้ช” เสียเอง พร้อมกับทำความเข้าใจกับนักกีฬาแต่ละคนอย่างใกล้ชิดถึงวิธีการเล่นที่แตกต่างไปจากเดิม

ผลลัพธ์คือ การชนะติดต่อกันถึง 20 เกม เป็นการสร้างสถิติใหม่ในวงการกีฬาเบสบอลของอเมริกาในรอบ 100 ปี สร้างความตื่นตะลึงและงงงวยให้กับคนในวงการอย่างมาก เพราะแต่แรกทุกคนต่างสงสัยในทฤษฎี “Moneyball” ว่ามันจะสำเร็จได้แค่ไหน อย่างไร

ถึงแม้ว่าในที่สุดโอ๊กแลนด์ก็ยังไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะมาพ่ายแพ้ในรอบตัดเชือกเป็นปีที่สองติดต่อกัน แต่นั่นก็ได้สร้างแนวทางใหม่ๆ ให้กับการทำทีมกีฬาที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อความสำเร็จอย่างเดียว เป็นแนวทางที่เปิดโอกาสให้ผู้เสียเปรียบในด้านเงินทุนและโอกาส มีโอกาสสู้กับทีมยักษ์เงินทุนหนาและมีโอกาสในการเลือกตัวนักกีฬาดังๆ ฝีมือดีได้

เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เป็น Underdog ได้อย่างดี

ต่อมาได้มีการนำทฤษฎีนี้มาใช้กับธุรกิจกีฬาอย่างแพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งกีฬาฟุตบอลในฟากยุโรปที่เดิมสู้กันด้วยเงินถัง ก็ได้มีหลายทีมใช้แนวทางนี้เพื่อสร้างความสำเร็จได้เช่นกัน เช่น ทีมดังอย่างลิเวอร์พูล และเอซี มิลาน

สโมสรของคนไทยอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ก็ได้ใช้แนวทางนี้ จนสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาล 2015-2016 แบบหักปากกาเซียนมาแล้ว

หากมองใกล้ๆ ในแวดวงกีฬาฟุตบอลบ้านเรา สโมสรเล็กๆ อย่าง “นครปฐมยูไนเต็ด” ก็ได้ใช้แนวทางนี้มาบริหาร เพราะเงินน้อยจึงไม่มีนักฟุตบอลดังในทีม แต่เป็นนักกีฬาที่ฝีเท้าดีราคาถูกที่หลายทีมมองข้ามมารวมตัวกัน และผลลัพธ์คือ การเขยิบจากที่อยู่ในลีกต่ำสุด “T4” ขึ้นมาเป็นลีก “T3” และขึ้นมาเป็น “T2”

และในปีนี้ก็ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดอย่าง “T1” เป็นผลสำเร็จ

จากแวดวงกีฬาก็มาสู่การเมือง ล่าสุดเราได้เห็นพรรคการเมืองที่เคยถูกมองว่าเป็น Underdog ที่หาญกล้ามาสู้กับพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่ใหญ่ทั้งเงินทุน อำนาจ บารมีและคอนเน็กชั่น จนสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ได้ และกำลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ยามนี้

เราคงได้อ่านข่าวกันแล้วถึงการที่นักการเมืองหน้าใหม่จากพรรคการเมืองนี้ได้ล้มยักษ์ในหลายๆ พื้นที่ ถึงในบางพื้นที่จะแพ้แต่ก็แพ้ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่ห่างจากที่หนึ่งมากนัก

และที่กำลังเผชิญอยู่ก็คือ การถูกต่อต้านกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งอย่างที่บอกว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในทุกวงการ ทุกพื้นที่ของโลกใบนี้

ในหนัง “Moneyball” บิลลี่ บีน ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นเป็นจริงได้ เขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการกีฬาระดับโลกได้

ในการเมืองบ้านเรา ก็ต้องติดตามดูว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้จริงหรือไม่

ตัวหนังนั้นถูกใจผู้ชมและนักวิจารณ์อย่างมากจนได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 รางวัล แต่สุดท้ายต้องผิดหวังไม่สามารถคว้ารางวัลมาได้แม้แต่รางวัลเดียว

สำหรับพรรคก้าวไกลนั้น ได้เข้าชิงการเป็นแกนนำของรัฐบาลเสียงข้างมาก พร้อมกับที่นายพิธาเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วย

ก็ต้องมาดูกันว่าสุดท้ายแล้วจะถูกใจกองเชียร์ แต่ไม่สามารถคว้ารางวัลที่ตั้งใจมาครองได้เหมือนกับภาพยนตร์หรือไม่

จากนี้ไปห้ามกะพริบตา เพราะกะพริบบ่อย จะเคืองตาได้ แค่นั่นแหละครับ ไม่ได้มีอะไรมาก แฮะ แฮะ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์