อิทธิพลของจอห์น ล็อค ต่อการปฏิวัติอเมริกัน

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

www.facebook.com/bintokrit

 

อิทธิพลของจอห์น ล็อค

ต่อการปฏิวัติอเมริกัน

 

การปฏิวัติอเมริกันเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 ช่วงปี ค.ศ.1775-1782 หลังการปฏิวัติในอังกฤษประมาณ 100 ปี และราวๆ 15 ปีก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

การปฏิวัติอเมริกันเป็นการรวมตัวกันของ 13 มลรัฐในอเมริกาเพื่อประกาศสงครามกับจักรวรรดิอังกฤษ อันนำไปสู่การประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อการปกครองของอังกฤษอีกต่อไป

มูลเหตุของความขัดแย้งก็มาจากเรื่องการเรียกเก็บภาษีในปริมาณสูง ความไม่เสมอภาคทางการเมืองระหว่างอังกฤษกับอาณานิคมในอเมริกา

รวมทั้งแนวความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในทฤษฎีการเมืองของจอห์น ล็อค

นอกจากเหตุการณ์การปฏิวัติอเมริกันแล้ว ความคิดของล็อคยังส่งอิทธิพลในประเทศฝรั่งเศส นั่นคือเป็นแรงดลใจในการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 ด้วย

โดยทฤษฎีของล็อคถูกนำไปใช้ในการต่อต้านลักษณะความเป็นเผด็จการของระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศสที่ฝังรากลึก

ซึ่งแนวคิดของล็อคอย่างเช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพก็เป็นฐานคิดสำคัญของความเคลื่อนไหวนี้

 

ในช่วงศตวรรษดังกล่าว แนวความคิดแบบล็อคเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และสังคมการเมืองของอังกฤษโดยภาพรวมแล้วก็สอดคล้องกับหลักการของล็อค

กล่าวคือ มีลักษณะที่ว่ากษัตริย์จะใช้อำนาจตามอำเภอใจมิได้ รวมทั้งการปกครองอาณานิคมของอังกฤษก็เช่นกัน จะต้องเป็นไปโดยถือเอาสิทธิและความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครองเป็นหลัก

อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความคิดแบบของล็อคได้กลายเป็นสามัญสำนึกของนักคิดโดยทั่วไป ซึ่งบรรดาผู้นำและปัญญาชนชาวอาณานิคมก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการศึกษาอบรมมาทางทฤษฎีการเมืองแบบของล็อค ความคิดทางการเมืองของล็อคจึงเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายในหมู่อาณานิคมด้วย

ข้อเขียนต่างๆ ของชาวอาณานิคมยกย่องทรรศนะของล็อคหรืออ้างถึงล็อค ตลอดจนนำความคิดของล็อคมาใช้เป็นส่วนใหญ่

จึงเป็นธรรมดาอยู่ว่าเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างชาวอาณานิคมและรัฐบาลอังกฤษ ชาวอาณานิคมจึงนำหลักการของล็อคมาใช้ตัดสินว่ารัฐบาลอังกฤษกระทำการโดยไม่ชอบธรรม

ในกรณีพิพาทครั้งนั้น ชาวอาณานิคมต้องการเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำของตน

และเหตุผลเช่นนั้นมีอยู่ในความคิดของล็อคแล้ว ชาวอาณานิคมซึ่งรู้หลักการของล็อคเป็นอย่างดี ย่อมอาศัยความคิดของล็อคมาเป็นเหตุผลของตน

แม้ในสมัยนั้นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เช่น ฌอง ฌาก รุสโซ ได้มีข้อเขียนออกตีพิมพ์แพร่หลายแล้ว และแถลงความคิดซึ่งชาวอาณานิคมอาจนำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน

แต่เนื่องจากชาวอาณานิคมคุ้นเคยกับผลงานของล็อคมากกว่า จึงใช้ความคิดของล็อคมาอ้างเป็นส่วนใหญ่

 

ความคิดของล็อคที่ชาวอาณานิคมนำมาใช้ ได้แก่ เรื่องสิทธิตามธรรมชาติ ชาวอาณานิคมถือว่าการที่รัฐสภาอังกฤษออกกฎหมายเก็บภาษีพวกตน ทั้งๆ ที่พวกตนไม่มีผู้แทนฯ อยู่ในสภานั้นเป็นการละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของตน และดังนั้น ชาวอาณานิคมย่อมมีสิทธิที่จะขัดขืน การแถลงเหตุผลเช่นนี้ปรากฏชัดใน “คำประกาศอิสรภาพ” (The Declaration of Independence)

ความคิดเกี่ยวกับสิทธิตามธรรมชาติ ความยินยอมของประชาชน หน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยปกป้องสิทธิตามธรรมชาติ ตลอดจนสิทธิของประชาชนที่จะทำการปฏิวัติ ล้วนสะท้อนให้เห็นอิทธิพลความคิดของล็อคทั้งสิ้น และคำประกาศอิสรภาพก็ไม่ใช่ข้อเขียนเดียวเท่านั้นที่สะท้อนให้เห็นอิทธิพลนี้

ยังมีข้อเขียนและบทความของชาวอาณานิคมอีกเป็นจำนวนมากที่นำความคิดของล็อคมาแถลงอย่างชัดแจ้ง

เมื่อชาวอาณานิคมชนะสงครามกับอังกฤษแล้ว พวกเขาได้จัดตั้งประเทศสหพันธรัฐแห่งอเมริกา ซึ่งเป็นสาธารณรัฐและเป็นประชาธิปไตยแบบนายทุนที่เฉพาะผู้ชายผิวขาวที่มีที่ดินและเสียภาษีมีสิทธิเลือกผู้แทนฯ แต่ไม่รวมทาสผิวดำ ชนพื้นเมือง ผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม ชาวอาณานิคมส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือเป็นชนชั้นกลางผิวขาว หรือไม่ก็เป็นคนระดับล่างที่ไม่มีฐานะร่ำรวย แต่ช่องว่างทางเศรษฐกิจไม่ได้ต่างกันมากนัก แม้จะมีเจ้าที่ดิน เกษตรที่ร่ำรวย พ่อค้า นายทุน อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นพวกที่เริ่มพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในยุคแรก อเมริกาไม่มีระบบการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนายในยุโรป

แม้ตอนนั้นยอร์ช วอชิงตัน ผู้พัฒนาจากเจ้าที่ดินเป็นนายพลที่คุมกองทัพทั้งหมดและรบชนะอังกฤษได้ จะมีชื่อเสียง มีอำนาจบารมีมาก ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นแบบไม่มีคู่แข่ง ก็ไม่ได้มีความคิดที่ตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่

หรือถ้าเกิดคิด เขาก็คงทำได้ไม่สำเร็จ เพราะอาณานิคมอเมริกาพัฒนามาแบบผู้บุกเบิกที่ร่วมมือกันสร้างชุมชนและมลรัฐ มีความเป็นอิสระ พึ่งตนเองได้ แบบมลรัฐของใครของมัน มากกว่าการพึ่งรัฐบาลกลางแบบรวมศูนย์

 

สําหรับการพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์ หากมองตามลำดับของเหตุการณ์ตั้งแต่จอห์น ล็อค นำเสนอแนวคิดทางการเมืองจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมก็สามารถมองเห็นพัฒนาการได้ดังนี้

ในปี ค.ศ.1215 เกิดกฎบัตรแม็กนา คาร์ตา (Magna Carta) ขึ้น โดยยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

ต่อมาในปี 1632-1651 จึงเกิดสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับรัฐสภา ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกประหารชีวิต และอังกฤษเปลี่ยนมาใช้ระบอบสาธารณรัฐอยู่ช่วงหนึ่ง

หลังจากนั้นในปี 1651 โธมัส ฮ็อบส์ นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญที่ใช้วิธีการเสนอแนวคิดแบบสัญญาประชาคม (Social Contract) ชื่อว่า “Leviathan”

พอมาถึงปี 1668 ก็เกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ขึ้นในอังกฤษ ทำให้มีการปกครองด้วยระบอบรัฐสภาโดยกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นในปี 1690 จอห์น ล็อค ก็ตีพิมพ์หนังสือ Two Treatises of Government เสนอทฤษฏีเรื่องรัฐบาลที่มาจากความยินยอมของประชาชน ซึ่งรัฐบาลนี้มีอำนาจชั่วคราวและจำกัด กระทั่งมาถึงปี 1690 รัฐสภาอังกฤษจึงผ่านกฎหมายที่สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์คือกฎหมายว่าด้วยสิทธิพลเมือง (Bill of Rights)

ในปี ค.ศ.1756-1763 ได้เกิดสงคราม 7 ปี ขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างนี้ คือปี 1762 ฌอง ฌาก รุสโซ ได้พิมพ์หนังสือเรื่องสัญญาประชาคม (Social Contract) ขึ้น อันเป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองการปกครองของประชาชนในยุคสมัยใหม่ หลังจากนั้นในปี 1773 ก็เกิดการประท้วงกฎหมายเพิ่มการเก็บภาษีชาในอเมริกา และปี 1775-1782 จึงการปฏิวัติอเมริกัน

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้คือในปี ค.ศ.1776 สหรัฐอเมริกาก็ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ถือกำเนิดเป็นประเทศใหม่ขึ้นในโลก

แล้วหลังจากนั้นไม่นาน คือในปี 1789-1799 จึงเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นในที่สุด

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ อิทธิพลทางความคิดของจอห์น ล็อค ที่มีต่อเหตุการณ์การปฏิวัติอเมริกันนั้นมีหลายประการ ดังต่อไปนี้

1. ก่อนหน้าที่แนวคิดของล็อคจะได้รับการเผยแพร่และมีอิทธิพลนั้น ได้เกิดการปฏิวัติในอังกฤษ ซึ่งทำให้อังกฤษปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากความยินยอมของประชาชนและมีอำนาจจำกัด และเมื่อชาวอังกฤษอพยพไปอยู่อเมริกาจึงมีความคิดทางสังคมการเมืองแบบที่เป็นอยู่ในอังกฤษ แนวคิดของล็อคที่เป็นความคิดร่วมสมัยของอังกฤษในขณะนั้นก็เป็นความคิดของชาวอเมริกันด้วย

2. แนวคิดของล็อคได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักการในการปฏิวัติอเมริกันอย่างชัดเจน โดยเห็นได้จากงานเขียนต่างๆในช่วงนั้น ซึ่งงานเขียนชิ้นสำคัญที่สุดก็คือคำประกาศอิสรภาพซึ่งมีการอ้างอิงถึงหลักการในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นแก่นความคิดสำคัญในทฤษฎีของจอห์น ล็อค

3. บุคคลสำคัญในเหตุการณ์การปฏิวัติอเมริกันที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีของล็อคเป็นอย่างมากก็คือ โธมัส เจฟเฟอร์สัน เบนจามิน แฟรงคลิน เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาด้วย

ทำให้แนวคิดของล็อคปรากฏให้เห็นในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาสืบเนื่องมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน