คณะทหารหนุ่ม (36) | บันทึก ‘เขมรฆ่าโหดคนไทย 30 ศพ’ กับพ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บ้านน้อยป่าไร่ บ้านกกค้อ และบ้านหนองดอ

รุ่งมณี เมฆโสภณ บันทึกการก่อเหตุเขมรแดงต่อคนไทยไว้ใน “ถกขแมร์ แลเขมร” ดังนี้…

“เหตุการณ์หฤโหดที่บ้านน้อยป่าไร่ บ้านกกค้อ และบ้านหนองดอ เกิดขึ้นในช่วงก่อน 22.00 น. ของคืนวันที่ 28 มกราคม 2520 โดยมีเสียงปืนดังรัวขึ้นที่บ้านหนองดอ หมู่บ้านเล็กๆ ชายแดนไทยกัมพูชา หลังจากนั้นก็ปรากฏแสงเพลิงลุกขึ้นโชติช่วงที่นั่น

หลังจากนั้นไม่นาน เหตุการณ์ทำนองเดียวกันก็เกิดขึ้นที่บ้านกกค้อ ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 6 ก.ม. หลังเหตุการณ์ ภาพที่ปรากฏก็คือชาวบ้านของทั้ง 2 หมู่บ้านทั้งเด็ก ผู้หญิง รวมทั้งคนท้อง คนชราและชายฉกรรจ์ถูกสังหารโหดในสภาพที่สุดจะพรรณนา”

ประสิทธิ์ แสงรุ่งเรือง บันทึกไว้ตอนหนึ่งในสมุดภาพ ‘เขมรฆ่าโหดคนไทย 30 ศพ‘ ว่า

‘ผู้หญิงท้องถูกยิงตายเปลือยอยู่ข้างบุตรชายวัย 13 เดือนของเธอไม่ห่างจากบ้านที่อาศัยเท่าไหร่นัก เด็กหลายคนถูกจับเชือดคอ การดิ้นทุรนทุรายของหนูน้อยไร้เดียงสาทำให้ดินบริเวณนั้นยังเป็นรอยมองเห็นถนัด พี่น้อง 2 คนกอดตายกันกลม รอยกระสุนอาวุธสงครามทั่วตัว มันเป็นภาพที่ทุกคนจะไม่มีวันลืม โดยสรุปบ้านหนองดอมีผู้เสียชีวิตรวม 21 คน ส่วนที่บ้านกกค้อมีผู้เสียชีวิต 8 คน บางบ้านตายยกครัวก็มี’

“สำหรับเหตุการณ์ที่บ้านน้อยป่าไร่ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดน 1 กิโลเมตร และห่างจากบ้านหนองดอ 2 กิโลเมตร แตกต่างไปจาก 2 หมู่บ้านข้างต้น เนื่องจากชาวบ้านได้อพยพออกไปจากหมู่บ้านหมดแล้วก่อนหน้าเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน เพราะชาวบ้านที่นั่นต้องพิการและเสียชีวิตจำนวนมากเนื่องจากเหยียบกับระเบิดโดยในหมู่บ้านมี ตชด.ประจำอยู่ที่ฐานปฏิบัติการย่อย 18 นาย”

“ในเวลาไล่เลี่ยกับที่บ้านหนองดอและบ้านกกค้อถูกโจมตี บ้านน้อยป่าไร่ก็ถูกปิดล้อมและซุ่มโจมตี การตอบโต้ดำเนินไปอย่างหนักหน่วง กองกำลังของเขมรถอยในช่วงแรกแต่ก็กลับเข้าโจมตีใหม่ในอีกชั่วโมง”

“หลังจากนั้น ตชด.หลายคนถูกกระสุนแต่ไม่ถูกที่สำคัญนัก ยกเว้น จ.ส.ต.ภิรมย์ แก้ววรรณา ที่โดนเข้าอย่างจังและเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นานนัก แต่ด้วยกำลังสนับสนุนทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศโดยการใช้เครื่องบินตรวจการณ์หมายเลข 1603 จากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 2 ออกไปยิงสนับสนุนด้วยปืนกลเบา ท้ายที่สุดกองกำลังของเขมรก็ล่าถอยไป”

“แม้สถานการณ์จะคลี่คลายไปในวันรุ่งขึ้น แต่ทุกคนก็ฝังใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาพของชาวบ้านที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดทารุณ”

 

พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร
ที่บ้านสันรอชะงันและบ้านแสง์

“ต่อมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปีเดียวกัน เวลาประมาณ 20.00 น. ได้มีการสูญเสียชีวิตชาวไทยอีก 29 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก มีทั้งทหาร ตำรวจและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านสันรอชะงันและบ้านแสง์ อ.ตาพระยา”

“คืนนั้นทหารเขมรได้บุกเข้ามาในเขตไทยด้าน อ.ตาพระยา เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการร่วมกันของทหารและตำรวจตระเวนชายแดนบ้านสันรอชะงันและฐานปฏิบัติการของ ตชด.หมวด 212 ที่บ้านแสง์ ทางด้านบ้านสันรอชะงันนั้นถูกโจมตีหนักถึงขนาดขาดการติดต่อชั่วระยะหนึ่ง”

“ทางด้านหมู่บ้านแสง์ก็โดนเผาเสียหายมาก สร้างความเจ็บแค้นให้แก่ชาวบ้านจนถึงขนาดเมื่อเสร็จสิ้นการปะทะถึงกับทำการบั่นหัวทหารฝ่ายตรงข้ามเพื่อสังเวยเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านเพื่อให้ช่วยคุ้มครองปกป้องแผ่นดินไทย”

“เหตุเกิดที่บ้านสันรอชะงันและบ้านแสง์ครั้งนั้น พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ในฐานะผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมผสมที่ 2 ปราจีนบุรี ได้นำทหารไทยเข้าผลักดันกองกำลังฝ่ายเขมรอย่างห้าวหาญทุกรูปแบบ เล่าขานกันถึงขนาดว่าผู้พันสั่งยิงปืนใหญ่จนกระสุนหมดคลังและทหารไทยรุกเข้าไปถึงปอยเปตของเขมร”

 

“ผลจากวีรกรรมของผู้พันหนุ่มที่ได้ใจคนไทยทั้งประเทศเวลานั้นก็คือคำสั่งย้ายที่ พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นลงนามคำสั่งทันทีในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 3 สิงหาคม ให้ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ไปรับตำแหน่งใหม่เป็น ‘อาจารย์หัวหน้าวิชาทั่วไป’ ที่ศูนย์การทหารราบ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์”

“อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่ อ.ตาพระยาครั้งนั้น สื่อมวลชนที่เคยขนานนาม พ.ท.ประจักษ์ ว่าเป็น ‘วีรบุรุษบ้านน้อยป่าไร่’ เมื่อเดือนกรกฎาคม ก็เปลี่ยนมาให้ฉายาใหม่กับ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ว่า ‘วีรบุรุษตาพระยา’ แทน และเป็นฉายาที่อยู่ยั้งยืนยงมาจนตราบทุกวันนี้”

“คุณประสิทธิ์ แสงรุ่งเรือง เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ดิฉันฟังว่า ท่านประจักษ์ได้นำรถหุ้มเกราะเข้ามาช่วยเสริม ท่านบัญชาการรบเองโดยตลอด ผมว่าท่านน่ายกย่องมาก”

“นอกจากเหตุการณ์ครั้งนั้นแล้ว ท่านประจักษ์ก็ยังมีวีรกรรมที่ชายแดนอีกหลายต่อหลายครั้ง ที่โด่งดังเป็นพลุแตกก็เห็นจะเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2520 ที่บ้านสันรอชะงันและบ้านแสง์ อ.ตาพระยา จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดสระแก้ว)”

 

รุ่งมณี เมฆโสภณ ยังได้บันทึกการสัมภาษณ์ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร เมื่อปลายปี พ.ศ.2520 หลังเหตุการณ์โค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยตัดมาเฉพาะประเด็นเหตุการณ์ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อต้นปี พ.ศ.2520 ดังนี้

ข่าวไทยนิกร : แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อรัญตอนที่ผู้พันเป็นผู้บังคับกองพันอยู่

พ.ท.ประจักษ์ : คือในเขมรนี่นะ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบ เขาต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเรื่องสังคมกับเรื่องความมั่นคง

ทีนี้ตามแนวชายแดนมีทั้งชาวบ้านไทย เขมร ไม่ใช่เขมรเสรี เขาอพยพไปหมด ชาวบ้านเราไม่อพยพ ยังทำมาหากินตามปกติ ทีนี้พอเราปิดประเทศปังขึ้นมา เขาก็เดือดร้อนเพราะเขามีพี่น้องอยู่ เราขอร้องว่าอย่าได้ทำร้ายประชาชนคนไทยและเขตไหนเขตไทยห้ามเข้ามาอยู่

แผนที่สมัยนั้น สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองได้ทำแผนที่ขึ้น ไทยกับเขมรถือแผนที่คนละฉบับ เขาไม่รับรองเขตแดนเรา

พอผมไปถึงปั๊บ เขาก็บอกเขตเขา เราก็บอกเขตนี้เขตไทยอยู่ไม่ได้ต้องออกไปซะ แล้วเราก็ไปอยู่ตามแนวชายแดน เมื่อชาวบ้านออกไปทำมาหากินเขาก็เข้ามาปล้น มาจับเอาไปฆ่า ทำอย่างนี้ไม่ถูก เราก็ส่งทหารกับตำรวจออกไป เมื่อทหารออกไปอยู่ตามแนวชายแดน ทหารเขาก็อยู่ตามชายแดน มันเจอกันก็ปะทะกัน เราไม่ยิงเขาหรอกถ้าเขาไม่ยิงเรา

แต่ทีนี้พอเขาเห็นเราเขาก็ยิงเรา พอยิงเรา เรื่องอะไรเราจะยอมตาย เราก็ยิงเขาบ้าง

 

ข่าวไทยนิกร :
ผู้พันไปเยี่ยมถึงปอยเปตหรือเปล่า

พ.ท.ประจักษ์ : ไม่ได้ไปเยี่ยม (หัวเราะ) ก็ปอยเปตไม่มีอะไรนี่ เราบอกให้ออกไป เขาไม่ออกไป เราก็ต้องเอาทหารผลักดันให้เขาออกไป ก็มีการปะทะ เป็นความรับผิดชอบของผม ผมต้องทำ เมื่อเราทำอย่างนั้นเขาก็กลัวว่าจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศรุนแรง เขาก็ย้าย

ข่าวไทยนิกร : ‘เขา’ นี่คือผู้บังคับบัญชาของผู้พันใช่ไหม

พ.ท.ประจักษ์ : ก็เอ้า (หัวเราะ) ก็อย่างนั้นแหละ คือเอากลาง ทั้งทางด้านฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารนะ เขาเห็นว่าถ้าเผื่อผมอยู่ต่อไปก็อาจเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ฉะนั้น เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างประเทศ เขาก็ย้าย ความจริงไม่ควรย้ายผมคนเดียว…ควรจะย้ายเขมร เขาก็ควรย้ายผู้พันของเขาเหมือนกัน (หัวเราะ)

ที่ผมต้องทำลงไปนี่เพราะคิดว่าศักดิ์ศรีของชาติเหนือกว่าอนาคตของผม ผมจะถูกยิงเป้าหรือจะถูกออกจากราชการก็ต้องทำเพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นไทย ใครจะมารุกรานไม่ได้

เมื่อผมรับผิดชอบอยู่ มัวแต่จะมาคอยคำสั่ง เมื่อเขาทำเราได้ เราก็เอาเขาได้