การเลือกตั้งที่ทักถามความเป็นไทย

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

การเลือกตั้งที่ทักถามความเป็นไทย

 

ในทรรศนะ จอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาเสรีนิยมชาวอังกฤษ (1806-1873) ผู้เรียกร้องสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองอังกฤษสมัยนั้นให้เป็นประชาธิปไตยแบบแทนตน (representative democracy) กว้างขวาง ทั่วถึงขึ้น

การรณรงค์หาเสียงและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นโอกาสทองในการติวเข้มประชาชนทางการเมือง ให้สามารถเชื่อมโยงประเด็นปากท้องทำมาหากินใกล้ตัวเข้ากับปัญหาเชิงระบบโครงสร้างของชาติบ้านเมืองไกลออกไป และผูกสัมพันธ์กับเพื่อนพลเมืองวงกว้างกว่าที่พบปะคุ้นเคยอยู่ในชีวิตประจำวัน

ผลลัพธ์คือมันช่วยเปิดโอกาสให้มวลชนตื่นรู้ขึ้นมาเป็นสมาชิกผู้มีจิตสำนึกของสังคมการเมือง (นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, 2558, บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบแทนตน)

หากประยุกต์เข้ากับประสบการณ์การเมืองไทยสมัยใหม่ ก็อาจตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ว่าในช่วงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจสะสมจนนำไปสู่การท้าทายความชอบธรรมและสั่นคลอนความภักดีต่อระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมืองเดิมนั้น มักเกิดปรากฏการณ์อ้างอิงใช้ “ความเป็นไทย” ในทางการเมืองและการท้าทายวิพากษ์วิจารณ์ “ความเป็นไทย” ดังกล่าวแพร่หลายกว้างขวางเข้มข้นเป็นพิเศษ

ซึ่งอาจนำไปสู่การผลักดันปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจมากบ้างน้อยบ้าง ตื้นบ้างลึกบ้างแล้วแต่กรณี

มีตัวอย่างเช่นนี้ตั้งแต่สมัยปฏิรูปการปกครองแผ่นดินรัชกาลที่ 5, การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, การลุกฮือของนักศึกษาประชาชนขึ้นต้านเผด็จการทหาร 14 ตุลาคม 2516 ฯลฯ มาจนถึงเกือบสองทศวรรษของความขัดแย้งทางการเมืองรอบปัจจุบัน

ดังตัวอย่างวิวาทะ “ความเป็นไทย” ของอดีต ผบ.ทบ. กับสุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งเครือมติชนเมื่อ 12 ปีก่อน (ดูล้อมกรอบ)

https://www.matichon.co.th/politics/news_3917200

ที่เราได้ยินได้ฟังได้อ่านในการเลือกตั้งรอบนี้จึงเป็นการฉายซ้ำหนังเก่าด้วยเสียงพากย์ใหม่ การเมืองไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ

พองวดตัวเข้มข้นแหลมคมเข้า ก็ต้องล้วง “ความเป็นไทย” ออกมาฟาดเปรี้ยงๆ ดังเสียงฟ้าฟาดใส่กัน เรียกเสียงเชียร์บ้างตามธรรมเนียม ชั่วแต่ว่ามันจะลงเอยเป็นโศกนาฏกรรมหรือจำอวดสลับฉาก ก็ขึ้นอยู่กับสติสัมปชัญญะและพุทธิปัญญาของสังคม

กระนั้นแล้ว อะไรคือสาระสำคัญหรือไวยากรณ์ที่กำกับการเลือกตั้งที่ทักถาม “ความเป็นไทย” กันทำนองนี้เล่า?

ผมได้คำตอบกระชับกระจะกระจ่างจากบทสรุปโครงการวิจัยใหญ่เกี่ยวกับปัญญาชนอนุรักษนิยมสยาม 10 คนของศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง “การสร้างความเป็นไทยกระแสหลักและความจริงที่ความเป็นไทยสร้าง” (ฟ้าเดียวกัน, 3 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548) ที่ท่านนำเสนอในที่สัมมนาเมื่อ 17 ปีก่อนว่า :

แก่นแกนของ “ความเป็นไทย” กระแสหลัก = [รัฐรวมศูนย์ + สังคมเหลื่อมล้ำกัน] (mainstream Thainess = a centralized state + a hierarchical society)

โดยผมสรุปหลักการที่กำกับรองรับ “ความเป็นไทย” กระแสหลักไว้ตามความเข้าใจแบบตาสว่างของผม ที่ได้จากการนำเสนอของอาจารย์สายชลครั้งนั้นว่า :

“คนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากกว่าคนไทยคนอื่น เพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่าและเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่าคนไทยคนอื่น และเมืองไทยนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้!”

(เกษียร เตชะพีระ, จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2559 : วิกฤตประชาธิปไตยไทย, ปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2550, น.122)

เจ็ดปีให้หลัง พฤติกรรมการเมืองของทั้ง กปปส. และ คสช. ก็หนีไม่พ้นและอธิบายได้ด้วยกรอบแห่งแก่นแกนและหลักการของ “ความเป็นไทย” ข้างต้นนี้และทำท่ารวมเลยมาถึงพรรคเฉพาะกิจของลุงๆ ปัจจุบันด้วย

พร้อมกับแก่นแกนและหลักการดังกล่าว ก็มีการกำหนดปักป้าย “ความไม่เป็นไทย” (un-Thainess) ขึ้นด้วย ในฐานะเขตห้ามเข้าทางความคิดและนโยบายในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ใครหน้าไหนพรรคใด ขืนฝ่าฝืนล่วงล้ำเข้าไปคิดหรือนำเสนอนโยบายต้องห้ามดังกล่าว ก็จะถูกตราหน้าว่า “ไม่ไทย” หรือ “ชังชาติ” โดยอัตโนมัติ (ดู ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, 2556, บทนำ หัวข้อ “การนิยามความเป็นไทยทางตรงและทางกลับ”) อาทิ :

– เสนอให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

– เสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

– เสนอให้ทบทวนกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ขีดเส้นแบ่งเขตอำนาจกันใหม่ในบรรดาสถาบันหลักของชาติซึ่งประกาศใช้ออกมาภายใต้ คสช. เป็นต้น

 

สําหรับผู้อนุรักษ์หวงแหน “ความเป็นไทย” แต่เดิม ประสบการณ์ที่คาดหมายคุ้นชินคือสังคมซึ่งปิด และหยุดนิ่ง (Gemeinschaft หรือชุมชนหมู่บ้าน ดังเคยมีข้อเสนอให้ “แช่แข็ง” และ “ปิดประเทศ” สักหลายปี เป็นต้น) ภายใต้การกำกับปกครองของธรรมเนียมประเพณีอันแน่นอนตายตัวที่สมาชิกสังคมทั้งปวงยอมรับ

ผู้คนต่างพึงพอใจกับทางเลือกชีวิตเท่าที่ระบบสังคมมีเสนอให้ พวกเขามองว่าชีวิตที่ดีเลิศคือการบรรลุหน้าที่ทางสังคมที่กำหนดแน่ไว้เรียบร้อยก่อนแล้ว (สังคมอินทรียภาพที่แต่ละบุคคลเหมือนองคาพยพ อวัยวะของร่างกาย ต่างก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ไป) พวกเขาประสบรู้สึกตัวเองเสมือนหนึ่งหมุดที่มุ่งหมายเพียงจะเข้าไปเสียบรูที่เหมาะกับตนเท่านั้น

สังคมไทยในฝันแบบอนุรักษนิยมเป็นดุลยภาพที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่ขยับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายไปไหน เป็นแบบนี้ตลอดไป เป็นไทยได้อย่างเดียว (ดังคำแปล uniqueness ของราชบัณฑิตยสถานว่า “เอกลักษณ์” หรือ “เป็นได้อย่างเดียว” https://coined-word.orst.go.th/) เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นอย่างอื่นไม่เป็น

ความขัดแย้ง แก่งแย่งถ้ามีก็เป็นเรื่องแค่จะให้หมุดอันไหนไปเสียบลงรูไหนดีเท่านั้น ทว่า กระดานทั้งแผ่นยังคงสภาพเหมือนเดิม ห้ามท้าห้ามถามห้ามเปลี่ยน

 

ปัญหาอยู่ตรงสังคมเป็นไทยได้อย่างเดียวดังกล่าวไม่ตอบคำถามโหยหวนในใจของคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ซึ่งมีบุคลิกลักษณะปัจเจกนิยมมากขึ้น (individualism) และโน้มเอียงจะปฏิเสธสถานภาพเดิม พวกเขารู้สึกว่า โครงสร้างสังคมและการเมืองดังที่เป็นอยู่กดทับล่ามขังบีบคั้นอัตตาตัวตนของพวกเขา (ในหลายกรณีไม่เพียงแค่รู้สึก แต่เป็นจริงทางกายภาพด้วย)

ทำให้เห็นว่ามีแต่ต้องรื้อปรับโครงสร้างเก่าเสียใหม่ หรือสร้างโครงสร้างอันใหม่ขึ้นมาแทนที่ทั้งหมด หรือหากโครงสร้างเก่ามันเสื่อมทรุดล่มสลายไปเองและไม่มีอันใหม่มาแทนที่ ก็อาจอยู่โดยไม่มีโครงสร้างไปเลย…มีแต่เช่นนี้เท่านั้นพวกเขาจึงจะเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงได้

 

การผงาดขึ้นของปัจเจกภาพ/อัตตาตัวตนที่เฝ้าแสวงหาตัวเองที่แท้จริงของเยาวรุ่น vs. โครงสร้างสังคม-การเมืองไทยดังที่เป็นอยู่ (อันเป็นที่มาของเพลง “ประเทศกูมี” 108 ล้านวิว ซึ่งสะท้อนการเผชิญหน้าของ “Thailand” vs. “individuals” https://www.youtube.com/watch?v=VZvzvLiGUtw)

นี้แหละคือรากฐานทางการเมืองวัฒนธรรมของกระแสการเมืองเชี่ยวกรากรุนแรงในหลายปีหลัง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และน่าจะยังคงอยู่ล่วงเลยการเลือกตั้งนี้ต่อไปด้วย