ชื่อกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มาจาก “พระแก้วมรกต”?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ชื่อยาวๆ จำยากๆ ของกรุงเทพมหานครนั้น ที่จริงแล้ว บ่งบอกถึงความสำคัญของ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือที่เรียกกันง่ายๆ จนเคยปากมากกว่าว่า “พระแก้วมรกต”

หลักฐานมีอยู่ที่บางประโยค ในชื่อเต็มของกรุงเทพฯ เอง คือท่อนว่า “อมรรัตนโกสินทร์” ซึ่งหมายความว่า “ที่เก็บรักษาแก้วอันยั่งยืน” (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปล)

แน่นอนว่า “แก้ว” ในที่นี้หมายถึง “พระแก้วมรกต” เพราะในยุคที่สร้างกรุงเทพฯ จะมีแก้วอะไรสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ไปกว่าพระแก้วมรกตได้อีกเล่าครับ?

แต่หลักฐานยืนยันที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะกล่าวย้ำถึงประวัติการตั้งชื่อเมืองกรุงเทพฯ เอาไว้อย่างทนโท่ อยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ตำนานพระแก้วมรกต สำหรับอาลักษณ์อ่าน ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใจความตอนหนึ่งทรงอ้างถึงพระราชพิธีตอนสถาปนานามพระนคร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดังข้อความที่ว่า

“…จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาบรมราชธานี เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้เป็นเครื่องสิริสำหรับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้…”

ความตอนนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของพระแก้วมรกต ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพระนครแห่งใหม่ ในราชวงศ์จักรี

ถึงแม้ว่า ชื่อเมืองในพระราชนิพนธ์ข้างต้นของรัชกาลที่ 4 จะเป็นชื่อที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว คือเปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์” ตามชื่อในรัชกาลก่อนหน้า (คือสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระราชทานนามไว้ มาเป็น “อมรรัตนโกสินทร์” ในรัชสมัยของพระองค์

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว อันที่จริงชื่อดั้งเดิมที่รัชกาลที่ 1 พระราชทานเอาไว้ให้เมืองแห่งนี้คือ “กรุงรัตนโกสินทร์ อินท์อโยธยา” ไม่มีคำว่า กรุงเทพฯ เสียด้วยซ้ำ

“รัตนโกสินทร์” ต่างหากที่เป็นชื่อหลักมาแต่เดิม เพราะที่มีอยู่ทุกยุค ทุกสมัย และเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันอย่างดีถึงความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” ที่มีต่อเมืองแห่งนี้ ที่ปัจจุบันเรียกกันจนเคยปากว่า กรุงเทพฯ

น่าสนใจนะครับ ว่าทำไมพระแก้วมรกต จึงกลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญของกรุงเทพฯ ถึงขนาดต้องตั้งชื่อเมืองว่าเป็นที่สถิตของพระพุทธรูปองค์นี้?

เรื่องนี้อาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติที่มาของพระแก้วมรกตกันมากขึ้นอีกนิด

แน่นอนว่า พระแก้วมรกต ไม่ได้สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ แต่เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ที่มีประวัติเก่าแก่ และสืบเนื่องยาวนาน

มีเอกสาร และตำนานหลายฉบับที่เล่าถึงประวัติของพระแก้วมรกต ทั้งที่แต่งด้วยภาษาบาลี ภาษาไทย ภาษาเขมร และภาษาลาว

แต่ละฉบับมีเรื่องเล่าที่ต้องตรงกันว่า พระนาคเสน (พระภิกษุองค์เดียวกับที่ “ถก” พระธรรมกันอย่างออกรสกับพระยามิลินท์ ในมิลินทปัญหา ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งในพระพุทธศาสนา) เป็นผู้สร้างขึ้นในอินเดียเมื่อราว พ.ศ.500

จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตรมาอีก 300 ปี ก่อนจะมีผู้อัญเชิญไปประดิษฐานที่เกาะลังกา

ต่อมาพระเจ้าอนุรุทธ กษัตริย์แห่งเมืองพุกาม ได้มาอัญเชิญไปไว้ยังบ้านเมืองของตน

แต่ระหว่างทางนั้นได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ นานา จนทำให้พระแก้วมรกตได้เคยประดิษฐานตามเมืองสำคัญต่างๆ ในอุษาคเนย์อยู่หลายเมืองเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็น นครธม ที่กัมพูชา (คือเมืองเสียมเรียบ) นครอโยธยา เมืองกำแพงเพชร จนท้ายสุดค่อยไปจบลงที่เมืองเชียงราย

ซึ่งมีความระบุว่า เจ้าเมืองเชียงรายในขณะนั้นได้หุ้มองค์พระแก้วมรกตด้วยปูน แล้วค่อยลงรักปิดทอง จากนั้นจึงค่อยสร้างเจดีย์ครอบเอาไว้ที่วัดป่าเยียะ

ความต่อจากนั้นก็คือ กาลเวลาล่วงเลยมาช้านาน จนวันหนึ่งในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน (ครองราชย์ที่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1945-1985) เจดีย์แห่งนั้นหักพังลง จึงมีการนำพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดิษฐานอยู่ภายในออกมาเป็นประธานที่วัดแห่งนั้น (ปัจจุบันวัดป่าเยียะ จึงได้ชื่อว่า วัดพระแก้ว)

แต่ปูนบางส่วนที่พอกทับพระพุทธรูปกะเทาะออกเล็กน้อย ใครต่อใครจึงได้รู้กันทั่วว่าภายในปูนเป็นพระแก้วมรกต ความทราบถึงพระเจ้าสามฝั่งแกน จึงโปรดอัญเชิญมายังเมืองเชียงใหม่

แต่เรื่องไม่ได้จบกันง่ายๆ แค่นั้น เพราะปรากฏว่าระหว่างทาง ช้างที่ใช้อัญเชิญองค์พระแก้วมรกตเกิดไม่ยอมเดินไปเมืองเชียงใหม่มันเสียดื้อๆ ตามธรรมเนียมโบราณจึงต้องจัดให้มีการเสี่ยงทายว่าช้างจะเดินไปที่ไหน ปรากฏว่าช้างเดินไปที่เมืองลำปาง

พระแก้วมรกตจึงได้ไปประดิษฐานอยู่ที่ลำปางเสียพักใหญ่

ตํานานเรื่องพระแก้วมรกตฉบับที่เก่าที่สุด ที่แต่งด้วยภาษาบาลี คือ “รัตนพิมพวงศ์” จบความลงแค่ตรงนี้ เพราะหนังสือเก่าเล่มนี้ เขียนขึ้นเมื่อสมัยที่พระแก้วมรกตยังประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง

ส่วนตำนานฉบับที่แต่งทีหลัง ตอนที่เขียนพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่ไหน ก็เขียนจนจบลงที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ

ดังนั้น ตำนานจึงยังคงเป็นได้เพียงแค่ตำนาน ยิ่งเมื่อพิจารณาด้วยองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะกระแสหลักของไทยในปัจจุบันแล้ว พระแก้วมรกต ควรจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในล้านนา สกุลช่างพะเยา เมื่อราวหลัง พ.ศ.1900 ลงมาแล้ว ไม่เก่าไปกว่านั้น

แปลง่ายๆ ว่า พระแก้วมรกต ถูกสร้างขึ้นในก่อนหรือใกล้เคียงกับช่วงที่ฟ้าผ่าเจดีย์วัดป่าเยียะ จนมีคนไปพบพระพุทธรูปองค์นี้ ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเท่านั้นแหละ ประวัติที่มีมาก่อนหน้านั้นป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น

อันที่จริงแล้ว แม้กระทั่งรัชกาลที่ 4 เอง ก็ทรงเคยมีพระราชวินิจฉัยในทำนองคล้ายๆ กันนี้นะครับ ดังความในพระราชพิพนธ์ของพระองค์ที่ว่า

“…เมื่อเปรียบเทียบไปโดยละเอียด ดูเหมือนว่า (พระแก้วมรกต) จะเป็นฝีมือช่างลาวเหนือโบราณ ข้างเมืองเชียงแสน เห็นคล้ายคลึงมากกว่าฝีมือช่างเมืองอื่น แลถึงจะเป็นช่างที่เมืองลาวก็เป็นช่างดีช่างเอกทีเดียวมิใช่เลวทรามด้วยเป็นของดีงามเกลี้ยงเกลามากอยู่ไม่หยาบคาย…”

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เดียวกันกับที่ผมยกมาไว้ข้างต้น สิ่งที่ควรสังเกตเพิ่มเติมก็คือ รัชกาลที่ 4 ทรงระบุด้วยว่า “เชียงแสน” ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย เป็นพวก “ลาวเหนือ” ไม่ได้ทรงอ้างว่าเป็นไทย?

ความตรงนี้อาจจะขัดใจความรู้สึกของคนไทยในปัจจุบัน แต่คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรเลยในสมัยที่พระองค์มีพระราชวินิจฉัย

เห็นตัวอย่างได้จาก หนังสือเก่าฉบับหนึ่ง ซึ่งเขียนขึ้นใน พ.ศ.2350 ช่วงปลายรัชกาลที่ 1 คือ “พงศาวดารเหนือ” ที่นักเรียนประวัติศาสตร์ชั้นฝึกหัด มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับดินแดนล้านนา

แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร และดินแดนละแวกใกล้เคียง เพราะตอนเหนือของขอบข่ายอำนาจยุคต้นกรุงเทพฯ สุดอยู่แค่นั้น ถัดขึ้นไปคือล้านนา ซึ่งไม่นับตนเองว่าเป็นไทยแล้ว

ลักษณะอย่างนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็นเอาสมัยต้นกรุงเทพฯ ตอนที่อยุธยาโดนตีแตกเมื่อ พ.ศ.2310 บ้านเมืองแตกออกเป็นหลายก๊ก ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้คือ ก๊กพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตาก(สิน) ซึ่งในปี พ.ศ.2313 พระองค์ได้โปรดให้พระยายมราช (บุญมา) ผู้ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 จะได้ครองวังหน้า ดำรงตำแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท ยกทัพขึ้นไปตีก๊กเจ้าเมืองฝาง (ซึ่งก็เป็นอีกก๊กที่เกิดขึ้นเมื่ออยุธยาแตก) ที่เพิ่งยกทัพไปยึดพิษณุโลก

เมืองฝางที่ว่า คือเมืองสวางคบุรี ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ชื่อจังหวัดก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าเป็นเมืองตอนเหนือสุดของอยุธยา และกรุงเทพฯ ในยุคนั้น เพราะคำว่า “อุตรดิตถ์” แปลว่า “ท่าเรือทางเหนือ”

ดังนั้น เวลาที่ใครบอกว่า พระแก้วมรกต เคยเป็นของไทยมาก่อนที่ลาวจะเอาไปนั้น ถ้านับกันด้วยอาณาเขตในปัจจุบันแล้วผมก็คงไม่มีอะไรจะเถียง แต่ถ้านับจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าผู้สร้างพระแก้วมรกต เขาจะนับตนเองว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า?

“พระแก้วมรกต” จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง “ล้านนา-ล้านช้าง” ที่ถือตนเองว่าเป็น “ลาว” มาแต่แรก

เมื่อพระไชยเชษฐา ซึ่งขึ้นครองราชย์ที่เชียงใหม่ ได้ย้ายไปสถาปนา และปกครองอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต หรือล้านช้าง ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อเรือน พ.ศ.2091 จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ที่ในขณะนั้นประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ไปไว้ที่นั่นด้วย

แถมยังได้อัญเชิญไปไว้ที่เวียงจันทน์อีกครั้งใน 12 ปีต่อมา เมื่อพระองค์ย้ายไปปกครองที่นั่น

พระเจ้ากรุงธนบุรีย่อมทรงทราบถึงความศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญของพระแก้วมรกต การมีพระคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรบ้านใกล้เรือนเคียงไว้เป็นเครื่องประดับพระยศ จึงยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นพระจักรพรรดิราช (คือราชาเหนือราชาทั้งหลายตามอุดมคติในพระศาสนา) ของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2321 จึงโปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา) ไปตีเมืองเวียงจันทน์ และอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาด้วย

เมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ.2325 จึงทรงให้ความสำคัญกับพระแก้วมรกตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อทรงเป็นผู้ไปอัญเชิญจากเมืองเวียงจันทน์ลงมาเอง

ยิ่งเมื่อตำนานพระแก้วมรกตฉบับเก่าที่สุดอย่าง รัตนพิมพวงศ์ อ้างว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นจาก “แก้วมณีโชติ” ซึ่งปรัมปราคติแบบไทยๆ ถือว่าเป็น หนึ่งในแก้วเจ็ดชิ้น ที่เป็นสมบัติของพระจักรพรรดิราช ผู้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งปวงแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้ก็ยิ่งทั้งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสำคัญยิ่งขึ้น

พ.ศ.2327 รัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ฝั่งพระนคร และประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ขึ้นในเมืองที่มีพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากแก้วมณีโชติ ของพระจักรพรรดิราช ผู้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งปวงนั่นเอง

จากนั้นจึงทรงพระราชทานนามพระนครแห่งนี้ให้สอดคล้องกับพระนามของ “พระแก้วมรกต” ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” หรือเมืองที่เก็บรักษา “แก้ว” อันยั่งยืน