จรัญ มะลูลีม : อาระเบียก่อนการมาถึงของอิสลาม (จบ)

จรัญ มะลูลีม

สังคม-วัฒนธรรม
สมัยแห่งอวิชชา

โดยทั่วไปในประวัติศาสตร์อาระเบีย สมัยก่อนอิสลามมาถึงนั้นเรียกว่าสมัยญาฮิลียะฮ์ (Jahiliyah) หรือสมัยแห่งอวิชชา

สังคมมีลักษณะโบราณดึกดำบรรพ์ ประชาชนไม่มีความสำนึกในชะตากรรมที่สูงส่งของมนุษย์

ถึงแม้ว่าจะมีรัฐบางรัฐถูกตั้งขึ้นในระหว่างนี้ในอาระเบียใต้และตามขอบๆ ของคาบสมุทรก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีรัฐใดอยู่ด้านในเลย

ผู้คนยังไม่มีรัฐบาลที่เป็นปึกแผ่น ในประเทศมีนครอยู่ไม่กี่นคร ผู้คนใช้ชีวิตร่อนเร่ไปเรื่อยๆ แบบชาวเบดุอิน มิได้ตั้งหลักแหล่ง

กระโจมที่อาศัยแต่ละกระโจมคือครอบครัว ครอบครัวกลุ่มหนึ่งกลายเป็นตระกูลหนึ่ง และหลายๆ ตระกูลรวมกันเป็นเผ่า แต่ละเผ่าเป็นโลกของตัวเอง มีกฎเกณฑ์ในเรื่องเกียรติภูมิ มีแนวความคิดในเรื่องระเบียบและกฎหมายของตัวเอง

คุณธรรมที่สำคัญคือความจงรักภักดีต่อเผ่า

ความกล้าหาญในอันที่จะต่อสู้กับผู้อื่นเพื่อรักษาเกียรติของเผ่าไว้

การยกย่องสรรเสริญเผ่าของตน

ความเสมอภาคกันอย่างแท้จริงของสมาชิกในเผ่า และการปกป้องผู้มาหาที่ลี้ภัยในเผ่า

ความจงรักภักดีต่อเผ่าของตนนำไปสู่ความเป็นปรปักษ์และแข่งขันกันระหว่างเผ่าต่างๆ การวิวาทกันระหว่างเผ่านั้นเกิดขึ้นจากเรื่องปศุสัตว์ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ แม่น้ำลำธาร การแข่งม้าและเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่นๆ

เมื่อเริ่มมีการพิพาทกันสมาชิกทุกคนในเผ่าทั้งสองฝ่ายก็จะต้องเป็นเหยื่อของการพิพาทนั้น

ความอาฆาตพยาบาทและแก้แค้นกันถือว่าเป็นกฎข้อบังคับทางด้านสังคมศาสนาที่แข็งแกร่งที่สุด

ผู้คนมีความสำนึกทางสังคมอยู่น้อย ไม่ใคร่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรม ในสมัยนั้นอำนาจคือความถูกต้อง ผู้คนใช้อารมณ์กันมากกว่าใช้เหตุผล จมอยู่ในความชั่วร้าย ป่าเถื่อนและไสยศาสตร์

การดื่มเหล้าเมายาและการพนัน การกินดอกเบี้ยและการค้าขายโดยวิธีที่ไม่ยุติธรรมต่างๆ คือลักษณะของชีวิตด้านเศรษฐกิจ

ผู้หญิงถูกถือว่าเป็นวัตถุไม่มีสถานภาพทางสังคม ผู้ชายอาจแต่งงานกับผู้หญิงได้หลายๆ คนและสามารถหย่ากับพวกนางได้ตามใจชอบของเขา ไม่มีข้อห้ามการล่วงประเวณี

สังคมเต็มไปด้วยความทุจริตผิดศีลธรรม

หากลูกผู้หญิงเกิดมาก็คือว่าเป็นโชคร้าย ดังนั้น ทารกเพศหญิงจึงถูกฝังเสียทั้งเป็น การถือเอาผู้อื่นเป็นทาสมีอยู่มากมาย ผู้เป็นนายมีอำนาจเหนือความเป็นความตายของทาสของตน ทาสหญิงต้องตกเป็นนางบำเรอของเจ้านาย

 

ภูมิหลังด้านวัฒนธรรม

วัฒนธรรมของผู้คนแสดงออกในความคล่องแคล่วของการใช้ภาษาและความไพเราะงดงามของบทกวี ชาวอาหรับมีความภาคภูมิใจในความคล่องแคล่วในการพูดของตนจนถือว่าชนชาติอื่นๆ เป็นเบื้อเป็นใบ้กันไปหมด

พวกเขามีความสามารถยกบทกวีมาประกอบการพูดจาได้อย่างคล่องแคล่ว นักกวีทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความคิดเห็นของประชาชน พวกเขาร้องเพลงสรรเสริฐเผ่าของเขาเองเสียดสีเยาะเย้ยเผ่าที่เป็นศัตรูอย่างเจ็บแสบ

พวกเขาเขียนบทกวีเพื่อกระตุ้นใจผู้คน ในบทกวีเหล่านั้นมีเนื้อหาทางประวัติศาสตร์อยู่มาก พวกเขาเขียนบทกวีบรรยายถึงสงครามระหว่างเผ่า เขียนถึงวีรกรรมของคนในเผ่าตน ร้องเพลงบรรยายความรักที่หยาบโลนเพราะถือว่าการกระทำที่ผิดศีลธรรมก็คือคุณธรรมความดี

มีงานชุมนุมเพื่อท่องบทกวีเป็นประจำปีที่ตำบลอุกาช (Ukaz) ซึ่งอยู่ระหว่างอัลนัคละฮ์ (al-Nakhlah) กับอัฏฏออีฟ (al-Taif) ซึ่งปัจจุบันคือประเทศซาอุดีอาระเบีย

 

ภูมิหลังด้านศาสนา

ชาวอาหรับเป็นพวกไม่มีศาสนาที่แท้จริง ป่าเถื่อน นับถือพระเจ้าหลายองค์ บูชาเทพเจ้าจำนวนมาก แต่ละเผ่าต่างก็มีเทพเจ้าของตนเอง

สถานที่ซึ่งเรียกว่ากะอ์บะฮ์ (Kaaba) นั้นเป็นที่รวมแห่งรูปเจว็ด มีรูปเคารพอยู่ถึง 360 ชิ้น อัลฮูบัล (Al Hubal) เป็นหัวหน้าของเทพเจ้าเหล่านี้ อัลลาต (Al lat) อัลอุซซา (Al Uzza) และอัลมะนาด (Al Manat) เป็นเทพเจ้าหญิงซึ่งถือกันว่าเป็นบุตรีของพระเจ้า

เทพเจ้ามีรูปร่างต่างๆ กัน เช่น เทพวัดด์ (Wadd) มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ผู้ชายเทพ ไนลา (Naila) และเทพสุวา (Suwa) มีรูปร่างเหมือนผู้หญิง ยากุษ (Yaguth) มีรูปเป็นสิงโต ยาอุก (Yaug) มีรูปร่างเป็นม้า นัสร์ (Nasr) มีรูปร่างเป็นเหยี่ยว

ชาวนครส่วนใหญ่ทำอาชีพพ่อค้าวาณิชย์ พวกเขาส่งกองคาราวานบรรทุกสินค้าไปยังเยเมน ซีเรียและอื่นๆ ในฤดูร้อนครั้งหนึ่งและในฤดูหนาวครั้งหนึ่ง

การบริหารนครเป็นแบบคณาธิปไตย กิจการของนครดำเนินการโดยสภาผู้อาวุโส นักธุรกิจชอบสะสมเงินทอง มีการกินดอกเบี้ยกันเป็นของธรรมดา คนรวยเอาเปรียบคนจน นายทุนได้รับผลกำไรอย่างมาก

พวกเขาให้หัวหน้าคาราวานและพ่อค้าขอยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยแพงๆ จนถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

สังคมแห่งนครมักกะฮ์จมอยู่ในวัตถุดิบนิยมอย่างแรง ประชาชนแข่งขันหาเงินจนไม่มีความสำนึกถึงศีลธรรมและคุณค่าทางสังคมกันเลย