E-DUANG : ท่าที ประยุทธ์ ท่าที ประวิตร ณ เบื้องหน้า พื้นที่ วิสัยทัศน์

แต่ละการตัดสินใจของแต่ละพรรคการเมืองใน”จังหวะ”อันเป็นหัว เลี้ยวหัวต่อในทางการเมืองมีผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ตัวอย่างที่เห็นๆกัน คือ การตัดสินใจต่อเวทีดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างคึกคัก หรือแม้กระทั่งการลงนามร่วม”จรรยาบรรณเลือกตั้ง”

การที่มี 31 พรรคเห็นชอบในการลงนามอันเท่ากับเป็นการทำ”สัตยาบรรณ”ต่อ”จรรยาบรรณ” แล้วมีอย่างน้อย 2 พรรคปัดปฏิเสธอย่างเย็นชา

นั่นก็คือ การปฏิเสธของพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือ การปฏิเสธของพรรครวมไทยสร้างชาติ

นี่จึงมิได้เป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น นี่จึงมิได้เป็นเรื่องของพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เนื่องจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เนื่องจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การลงนาม”จรรยาบรรณ”เป็นเช่นนี้ การร่วม”ดีเบต”ก็เช่นนี้

 

ยอมรับเถิดว่าเมื่อย่างเข้าเดือนเมษายน เวทีดีเบตจะปรากฏขึ้นอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นจากแต่ละองค์กรภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นจากแต่ละสถาบันการศึกษา

ยิ่งเป็นการจัดโดยสถาบัน”สื่อ” ยิ่งเป็นจุดเร้าเย้ายวนอย่างเป็นพิเศษในทางการเมืองเหมือนที่”มติชน” จัด เหมือนที่”ไทยรัฐ”จัด

รายชื่อคนที่เข้าร่วม รายชื่อพรรคการเมืองที่เข้าร่วมจึงอยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์ คำถามก็คือทำไมไม่มีคนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำไมไม่มีคนของพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งกว่านั้นยังเป็นคำถามว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมขึ้นเวที ทำไม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ยอมขึ้นเวที กลายเป็นคำถามกลายเป็นความสงสัย

ในเมื่อการแสดง”วิสัยทัศน์”ต้องเกิดขึ้นในสังคม”ประชาธิปไตย”

 

ทำไมพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ยอมลงนาม”จรรยาบรรณ”การเลือกตั้ง ทำไมพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่เวทีดีเบตทางการเมือง

นี่คือโจทย์แหลมคมเป็นลำดับสำหรับทุกพรรคการเมือง ต่อพรรคพลังประชารัฐ ต่อพรรค รวมไทยสร้างชาติ ต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็น”เป้านิ่ง” กลายเป็น”จำเลย”ในทางสังคมโดยอัตโนมัติ