มท. น้อมนำพระราชดำริ มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กอย่างครอบคลุมทุกมิติ ปลัด มท. นำประชุมคณะกรรมการอำนวยการทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์ฯ

มท. น้อมนำพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กอย่างครอบคลุมทุกมิติ ปลัด มท. นำประชุมคณะกรรมการอำนวยการทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์ฯ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เด็กในชนบทมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วันนี้ (23 มี.ค. 2566) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2566 ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสมชาย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนกรม ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของกระทรวงมหาดไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระมหากรุณาให้พวกเราชาวมหาดไทยได้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างต่อเนื่องและมากยิ่งขึ้น ดังพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พวกเราชาวมหาดไทยได้น้อมนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการในพระราชดำริ และพระดำริต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น โครงการ”บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” หรือ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหาร โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่พระองค์ทรงเห็นว่าในฤดูร้อนของประเทศไทยมีอากาศร้อนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และมีความปลอดภัยจากโรค โดยให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เป็นต้น

“นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริขยายพระกรุณาธิคุณไปยังประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเด็กในชนบท รวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย ที่ได้รับการสืบสานต่อยอดมาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยพระองค์ส่งเสริมการพัฒนาศิลปาชีพ การพัฒนาผ้าไทย ผลักดันจนเกิดเป็นแฟชั่นที่ยั่งยืน (Fashion Sustainable) คือมีรายได้ มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้น้อมนำพระราชดำริ”หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) มาขยายผลและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรม ในฐานะข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเรามีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขอยู่แล้ว และมีพระองค์ท่านเป็นผู้ผลักดันจึงทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นโครงการ เกิดเป็นกระแสต่าง ๆ มากมาย สะท้อนทำให้เห็นว่าสามารถทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลได้ดีมากยิ่งขึ้น

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงรับกองทุนพัฒนาเด็กชนบทไว้ในพระราชูปถัมป์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536 และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “กองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นปีเด็กสากล กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสในชนบท ตั้งแต่วัยแรกเกิดถึง 6 ปี ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา และได้มีการจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์ฯ เป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ส่วนกลางมีกำหนดจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าฯ ดังกล่าว วันที่ 1 เมษายน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการทอดผ้าป่าฯ ของกระทรวงมหาดไทยในวันนี้ จะเป็นการย้ำเตือนให้ส่วนราชการระดับกรม รัฐวิสาหกิจ และจังหวัด ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมควบคู่กันไปพร้อมกับส่วนกลางด้วย เป็นการช่วยกันผลักดันทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามพระราชปณิธานและวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยต้องมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณ กองทุน ที่ต้องประมวลรวบรวมข้อมูลจากทุกจังหวัดให้ได้ข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อสามารถนำไปวิเคราะห์ประมวลผลว่ากองทุนที่มอบนั้นเพียงพอต่อเด็กในถิ่นทุรกันดารตามวัตถุประสงค์ฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราชาวมหาดไทยที่จะต้องทำให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกัน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย มาร่วมด้วยช่วยกันขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้เกิดความยั่งยืน

“พวกเราชาวมหาดไทยต้องช่วยกันระดมทีม ระดมความคิด ในเรื่องการมอบทุนให้แก่เด็กชนบทในพระราชูปถัมป์ฯ ให้เกิดความยั่งยืน ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ ประการแรก ทำอย่างไรให้กองทุนฯ สามารถช่วยเด็กในชนบทได้อย่างครอบคลุม และต้องไม่เป็นแบบอนาล็อก คือ ต้องไม่เป็นแบบ “มอบแล้วจบกัน” ต้องหาแนวทางในการพัฒนาต่อยอดให้แก่เด็กและครอบครัว ประการที่ 2 กองทุนที่มอบต้องไม่เป็น “ฝนตกในทะเลทราย” คือ การให้ทุนจะช่วยเหลือพ่อแม่ของเด็กและครอบครัวในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ และประการที่ 3 คือ หลังจากที่เด็กมีอายุครบ 6 ขวบ ซึ่งพ้นจากเกณฑ์การรับทุนแล้ว ต้องกำหนดให้มีหน่วยงานในการรับดูแล และมีการติดตามการดำเนินชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจึงต้องมาช่วยกันวางแผนให้มีระบบการติดตามว่าเด็กที่ได้รับทุนเหล่านั้น หลังจากที่พ้นเกณฑ์การสมทบทุนแล้ว จะได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและครอบคลุม และเราได้ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวดีอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้คณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงาน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ต้องมีกำหนดการประชุมอย่างต่อเนื่องและชัดเจน เพื่อที่จะได้พูดคุยหารือ รวบรวมข้อขัดข้อง รวบรวมทุกปัญหา เพื่อพัฒนาการขับเคลื่อนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้ายว่า ขอให้กรมการพัฒนาชุมชนไปจัดทำแผนการดูแลเด็กชนบท ด้วยการถอดแผนที่ชีวิตของครอบครัวเด็กที่ได้รับทุน โดยนำข้อมูลจากแพลตฟอร์ม ThaiQM ซึ่งจากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่ามีข้อมูลเด็กยากไร้มากกว่าฐานข้อมูลใน จปฐ. โดยร่วมกับกรมการปกครองและท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนำทีมนายอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เป็น “แม่ทัพ” ตั้งทีมพี่เลี้ยงดูแลเด็กและครอบครัว โดยมีทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวงมหาดไทยไปเชิญชวนภาคีเครือข่าย นำข้อมูลฯ ดังกล่าวเป็นเป้าหมายเดียวกัน เพื่อพุ่งเป้าช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กยากไร้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ครอบครัวและเด็กมีอาหารการกินที่ดี ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้เกิดมรรคผลเชิงคุณภาพ และทำให้ไม่เป็นครอบครัวตกเกณฑ์ จปฐ. สามารถนำเงินทุนไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการมีทีมลงพื้นที่ไปพัฒนาชุมชนและที่พักอาศัย ตลอดจนการฝึกฝนพัฒนาอาชีพ จากนั้นให้ทุกกรมและทุกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจลงไปช่วยกันต่อยอด ทำให้เด็กเรียนรู้ในการช่วยเหลือตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า” ดังนั้น พวกเราต้องไม่หยุดคิดที่จะเดินหน้าทำหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่ต้องไม่ทำงานแค่เพียงภารกิจหลักของตน แต่ต้องทำงานตามอำนาจหน้าที่ (Function) แบบบูรณาการทุกภาคีเครือข่าย ช่วยกันทำให้สิ่งที่ดี “Change for Good” ให้เกิดขึ้น รวมพลังกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยให้มีความสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน