Countdown to 2024 ร่วมกันกำจัด ‘ไขมันทรานส์’ ให้สิ้นซากในสิ้นปีนี้

“ไขมันทรานส์” หรือ Trans Fat คือการนำไขมันจากพืช หรือไขมันไม่อิ่มตัว มาเติมฟองอากาศจากไฮโดรเจนลงไปบางส่วน หรือ Partially Hydrogenated Oil

เพื่อแปลงสภาพให้กลายเป็นของแข็ง หรือกึ่งเหลว กลายเป็นไขมันอิ่มตัว ไม่ว่าจะเป็นเนยเทียม เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม

โดยเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า Hydrogenation

นอกจาก “ไขมันทรานส์” ที่มนุษย์ผลิตขึ้นได้แล้ว ยังสามารถพบ “ไขมันทรานส์” จากธรรมชาติในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ และนม ซึ่งมีปริมาณอยู่จำนวนหนึ่ง

“ไขมันทรานส์” เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหาร รสชาติใกล้เคียงไขมันจากสัตว์ ทนความร้อนได้สูง ทำให้เนื้อสัมผัสของอาหารไม่แห้ง

สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น โดยไม่เหม็นหืน หรือเป็นไข

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไขมันทรานส์” มีราคาย่อมเยากว่าไขมันประเภทอื่น ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม “ไขมันทรานส์” มีอันตรายมากนะครับ

เพราะโดยทั่วไป ไขมันอิ่มตัวในอาหารที่เรากิน จะเข้าไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ LDL (Low Density Lipoprotein) อยู่แล้ว

ทว่า “ไขมันทรานส์” ร้ายกาจกว่าไขมันอิ่มตัวหลายเท่า เพราะนอกจากจะเพิ่ม LDL แล้ว ยังไปลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL (High Density Lipoprotein) อีกต่างหาก

การรับประทาน “ไขมันทรานส์” เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด และอีกสารพัดโรคที่จะตามมา

ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันสูง ตับทำงานผิดปกติ นิ่วในถุงน้ำดี จอประสาทตาเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

“องค์การอนามัยโลก” หรือ WHO (World Health Organization) เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ “ไขมันทรานส์” หรือ Trans Fat ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก ภายในปี ค.ศ.2023

WHO ระบุว่า “ไขมันทรานส์” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 500,000 คน โดยผลิตภัณฑ์ที่มี “ไขมันทรานส์” นั้น มักพบได้ในขนมอบ และน้ำมันปรุงอาหาร

WHO เผยว่า ในปี ค.ศ.2020 เกือบ 60 ประเทศทั่วโลก ได้ออกกฎหมายเพื่อปกป้องผู้คนจาก “ไขมันทรานส์”

WHO ชี้ว่า ยังเหลือชาติอื่นๆ อีกกว่า 100 ประเทศ ที่ควรกำจัด ในปี 2020 “ไขมันทรานส์” ออกจากผลิตภัณฑ์อาหารในชาติของตน

WHO บอกว่า จากการสำรวจใน 15 ประเทศ เช่น แคนาดา ลัตเวีย สโลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และชาติอื่นๆ แม้ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ ได้กำหนดข้อจำกัด หรือห้ามใช้ “ไขมันทรานส์”

แต่อัตราเสียชีวิตยังสูงถึง 2 ใน 3 จากการบริโภค “ไขมันทรานส์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ อาทิ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล ปากีสถาน อินเดีย อิหร่าน และเกาหลีใต้ รวมทั้งเอกวาดอร์ เม็กซิโก และอียิปต์

 

Tom Frieden หัวหน้าองค์กรด้านสาธารณสุข Resolve to Save Lives ซึ่งทำงานร่วมกับ WHO ด้วยเป้าหมายกำจัด “ไขมันทรานส์” ออกจากอาหารให้ได้ภายในปีนี้ กล่าวว่า การกำจัด “ไขมันทรานส์” ออกจากอาหารให้สิ้นซาก จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้มากถึง 17 ล้านคนภายในปี ค.ศ.2040

ทั้งนี้ “สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้การสนับสนุนในเรื่องสุขภาพของหัวใจ กล่าวว่า “ไขมันทรานส์” มีอยู่ 2 ประเภทที่แตกต่างกัน

ชนิดแรกคือ “ไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ” ก่อตัวขึ้นในลำไส้ของสัตว์บางชนิด และมีอาหารมากมายที่แปรรูปจากสัตว์เหล่านี้ เช่น นม และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ต่างๆ

ประเภทที่สองคือ “ไขมันทรานส์เทียม” หรือที่เรียกว่า “กรดไขมันทรานส์” ซึ่งถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม ด้วยการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืช

โดยบริษัทผู้ผลิตอาหารจำนวนมาก จะใช้น้ำมันที่มีต้นทุนต่ำชนิดนี้ เพื่อให้อาหารคงความสดได้นานขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบัน “ไขมันทรานส์” สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น โดนัท เค้ก คุกกี้ และอาหารทอดกรอบ

สังเกตได้จากขนมอบที่สามารถวางอยู่บนชั้นได้นานหลายเดือน แต่ยังคงความนุ่มชุ่มชื้นได้นั้น มักจะมี “ไขมันทรานส์” อยู่ เนื่องจากไขยังคงแข็งตัวที่อุณหภูมิห้อง

Tom Frieden ชี้ว่า สิ่งสำคัญก็คือ ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “ไขมันทรานส์เทียม” กับ “ไขมันอิ่มตัว” ให้ดี

“ไขมันทรานส์ คือยาพิษ ที่ต้องช่วยกันกำจัดให้สิ้นซากไป” Tom Frieden กระชุ่น

แตกต่างจาก “ไขมันอิ่มตัว” ที่พบได้ทั่วไปในอาหารหลายประเภท และไม่มีใครเสนอข้อห้ามใดๆ ในไขมันชนิดนี้

Tom Frieden ระบุว่า ให้คิดว่า “กรดไขมันทรานส์” ก็เป็นเสมือนยาสูบ ซึ่งไม่มีคุณค่าใดๆ

 

ในปี ค.ศ.2018 WHO ได้ให้คำแนะนำอย่างละเอียด และเป็นขั้นเป็นตอน ในการเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกกำจัด “ไขมันทรานส์” ออกจากอาหาร

คู่มือดังกล่าวแนะนำให้ประเทศต่างๆ แทนที่ “ไขมันทรานส์” ด้วยน้ำมัน เช่น น้ำมันมะกอก

มาตรการดังกล่าวสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนถึงอันตรายของ “ไขมันทรานส์” และการบังคับใช้นโยบาย รวมถึงกฎหมายในการต่อต้านการใช้ “ไขมันทรานส์”

WHO กล่าวว่า กฎหมายใหม่จะปกป้องชีวิตผู้คนมากกว่า 3,200 ล้านคนจาก “ไขมันทรานส์”

ที่ผ่านมา ประเทศที่ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับไขมันทรานส์ส่วนใหญ่เป็นชาติร่ำรวย

โดยประเทศที่มีรายได้น้อย และรายได้ต่ำจนถึงปานกลางหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และยูเครน ก็ได้พยายามปฏิบัติตามแนวนโยบายภาคปฏิบัติที่ดีที่สุด หรือ Best-practice Policies เกี่ยวกับ “ไขมันทรานส์” ของ WHO

อย่างไรก็ดี Tom Frieden ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประชากร 5 พันล้านคนยังคงเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ ที่เกิดจากการใช้ “ไขมันทรานส์”

“ผมคิดว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถยับยั้งการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้นี้ โดยการบังคับใช้ Best-practice Policies ของ WHO”

 

สําหรับสถานการณ์ “ไขมันทรานส์” ในบ้านเรา กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่าย “ไขมันทรานส์” ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ.2562

ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรก และเป็นชาติเดียวใน ASEAN ที่มีนโยบายกำจัด “ไขมันทรานส์” ดีที่สุด

โดยไทยเป็น 1 ใน 40 ประเทศ ที่มี Best-practice Policies ในการกำจัด “ไขมันทรานส์”

ตามรายงานของ WHO เกี่ยวกับประเทศที่มี Best-practice Policies ในการกำจัด “ไขมันทรานส์” ทั้งหมด 40 ประเทศจากทั่วโลก

โดยเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากปี ค.ศ.2022 ซึ่งการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพนี้ จะสามารถช่วยปกป้องประชาชนจากการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อได้มากถึง 1.4 พันล้านคน

ตามรายงานประจำปี ค.ศ.2022 ฉบับที่ 3 หัวข้อ Countdown to 2023 : WHO report on global Trans Fat elimination

หรือการดำเนินงานเพื่อกำจัด “ไขมันทรานส์” หรือ “กรดไขมันทรานส์” (Trans-Fatty Acids : TFA) ในอุตสาหกรรมอาหารให้ได้ภายในปี ค.ศ.2023

โดยในปัจจุบัน มีการกำหนดใช้นโยบายกำจัด “ไขมันทรานส์” ภาคบังคับ หรือ Mandatory ใน 57 ประเทศที่มีประชากรรวมกัน 3.2 ล้านคน

ในจำนวนนี้มีทั้งหมด 40 ประเทศ ที่ได้รับการประเมินว่ามี Best-practice Policies ที่ครอบคลุมประชากร 1.4 พันล้านคน หรือเท่ากับ 18% ของประชากรโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี ค.ศ.2022 ที่ผ่านมา Best-practice Policies ได้มีผลบังคับใช้ในบราซิล เปรู สิงคโปร์ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 3 เท่าจากปี ค.ศ.2020 เลยทีเดียว

สำหรับ Best-practice Policies มี 2 แนวทางคือ

1. จำกัด “ไขมันทรานส์” ให้ไม่เกิน 2 กรัม ต่อไขมันรวม 100 กรัมในอาหารทุกชนิด

2. ออกมาตรการบังคับเพื่อห้ามผลิต และห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน หรือ Partially Hydrogenated Oils (PHO) เป็นส่วนประกอบในอาหารทุกชนิด

ดังนั้น Countdown to 2024 ร่วมกันกำจัด “ไขมันทรานส์” ให้สิ้นซากในสิ้นปีนี้