หมอดูวิชาการส่องอนาคต 2033 (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

หมอดูวิชาการส่องอนาคต 2033 (จบ)

 

คณะกรรมการแอตแลนติก (The Atlantic Council) อันเป็นสถาบันคลังสมองอเมริกันชั้นนำด้านการระหว่างประเทศและความมั่นคง ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และเล็งการณ์ล่วงหน้า 167 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลกออกมาว่าพวกเขาเล็งเห็นแนวโน้มการเมืองโลกอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ.2033 รวม 10 ประการ (https://www.atlanticcouncil.org/content-series/atlantic-council-strategy-paper-series/2023-global-foresight-survey/)

ต่อจากแนวโน้มข้อ 8) ประชาธิปไตย vs. อัตตาธิปไตย คือ…

 

9) ทศวรรษอันตรายของประชาธิปไตย

ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายในโลกกำลังย่างเข้าสู่ทศวรรษอันตรายที่ต้องประชันขันแข่งกับพลังชาตินิยม-ประชานิยม รวมทั้งการท้าทายประดามีที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่วิวัฒน์ไปอย่างรวดเร็ว

ดังที่ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดว่าการเคลื่อนไหวชาตินิยมหรือไม่ก็ประชานิยมจะเป็นขบวนการทางสังคมที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงสุดทั่วโลกในรอบทศวรรษหน้า

ขณะที่ผู้ตอบเพียง 5% คาดว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตย ส่วนผู้ตอบหนึ่งในสามเลือกการเคลื่อนไหวเรื่องอื่นที่มักเกี่ยวพันกับสังคมประชาธิปไตยได้แก่การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นเกี่ยวกับเยาวชน และสิทธิสตรี

งานวิชาการสะท้อนมุมมองแนวโน้มบวก vs. ลบของโซเชียลมีเดียต่อประชาธิปไตย

แม้ว่าพวกนักชาตินิยม-ประชานิยมจะไม่สนับสนุนระบบการเมืองอัตตาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตยเสมอไป แต่คำตอบที่ได้จากผู้ตอบแบบสอบถามบ่งชี้ความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างความเข้มแข็งที่พอกพูนขึ้นของพลังชาตินิยม-ประชานิยมกับแรงกดดันของมวลชนที่ใหญ่หลวงขึ้นไปสู่ระบอบอัตตาธิปไตย

บรรดาประเทศประชาธิปไตยยังต้องเผชิญกับแนวโน้มด้านสื่อสารมวลชนกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจกลายเป็นภยันตรายได้ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในภาคธุรกิจเทคโนโลยี

ตั้งแต่ความพยายามของภาครัฐที่จะออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ มากำกับควบคุมมัน (เช่น รัฐบาลอเมริกันสั่งแบนแอพพ์ TikTok ในโทรศัพท์มือถือของทางราชการ) ความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับบริษัทโซเชียลมีเดียบางแห่ง (เช่น Twitter@Elon Musk)

ไปจนถึงการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เข้าไปข้องเกี่ยวอีนุงตุงนังกับการแยกขั้วทางการเมืองที่กว้างออกไป (เช่น Facebook & อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์)

ปรากฏว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (53%) ทำนายว่าโซเชียลมีเดียจะส่งผลลัพธ์เบ็ดเสร็จเชิงลบต่อประชาธิปไตยเมื่อถึงปี 2033 ส่วนผู้ตอบที่เห็นว่ามันจะส่งผลเบ็ดเสร็จเชิงบวกมีแค่ 15% ซึ่งนับว่าเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญจากยุคการเคลื่อนไหวอาหรับสปริงที่มติมหาชนมองโซเชียลมีเดียเป็นพลังเสริมสร้างประชาธิปไตย

งานวิชาการที่สะท้อนการเปลี่ยนมุมมองนี้มีอาทิ Zeynep Tufekci แห่ง University of North Carolina เรื่อง Twitter and Tear Gas : The Power and Fragility of Networked Protest, 2017. จากประสบการณ์อาหรับสปริงและตุรกี เทียบกับ Aim Sinpeng แห่ง University of Sydney เรื่อง Opposing Democracy in the Digital Age : The Yellow Shirts in Thailand, 2021. จากประสบการณ์ พันธมิตรฯ เสื้อเหลืองในไทย

 

ข้อค้นพบน่าสนใจอีกอย่างได้แก่ระดับความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีปรับป่วนกระบวน (disruptive technologies) บางอย่าง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ควอนตัมเชิงพาณิชย์, รถยนต์ขับเคลื่อนเอง ระดับ 5 และ AI แสนรู้เสมือนมนุษย์ ในทั้งสามกรณี ผู้ตอบส่วนใหญ่ (ระหว่าง 57-68%) เห็นพ้องต้องกัน ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือมีวางจำหน่ายในตลาดได้ในปี 2033

ทว่า แม้เทคโนโลยีเหล่านี้น่าจะนำประโยชน์สุขมหาศาลมาให้มนุษยชาติ แต่มันก็ท้าทายต่ออนาคตของการงาน รายได้ สาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงแห่งชาติ การบริหารปกครองประชาธิปไตย ฯลฯ ด้วย ประเทศประชาธิปไตยจะต้องหาทางจัดวางและหยั่งยึดการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ว่าไปใช้ให้อยู่ในกรอบบรรทัดฐานและคุณค่าประชาธิปไตย โดยผ่านการออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานกำกับควบคุมอันเหมาะสมซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างประเทศด้วย

สรุปได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามเสนอภาพรวมของประชาธิปไตยทั่วโลกในทศวรรษหน้าไว้สองแบบ กล่าวคือ :

1. ประชาธิปไตยเสื่อมถอยลงทั่วโลก โดยถูกบ่อนเบียนด้วยลัทธิชาตินิยม ประชานิยมและโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหรัฐอเมริกากลายเป็นอัตตาธิปไตยมากขึ้นยิ่งทำให้แนวโน้มนี้หยั่งลึกลงไป

2. ประชาธิปไตยกระเตื้องเฟื่องฟูขึ้นทั่วโลก โดยได้แรงผลักดันหนุนส่งจากสหรัฐอเมริกาที่ชูธงประชาธิปไตย รวมทั้งขบวนการทางสังคมและแพลตฟอร์มสื่อสารมวลชนทั้งหลายซึ่งยึดคุณค่าประชาธิปไตย

 

10) แบบแผนโครงสร้างความมั่นคงระดับโลก

สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนได้เผยให้เห็นสมรรถภาพและข้อจำกัดของเหล่าสถาบันที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศ

แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่าโลกจะเผชิญกับการท้าทายความมั่นคงของมนุษย์สำคัญๆ หลายประการในช่วงทศวรรษหน้า ตั้งแต่ความขัดแย้งเรื่องไต้หวัน ความเปราะบางของรัฐรัสเซีย ไปจนถึงโรคระบาดทั่วและวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำเติม

แต่กระนั้น พวกเขาก็คาดหมายว่าสถาปัตยกรรมความมั่นคงระดับโลกดังที่เป็นอยู่น่าจะยังคงเดิมเป็นส่วนใหญ่

อาทิ ผู้ตอบ 82% เชื่อว่าสิบปีข้างหน้าองค์การนาโตก็จะยังคงเป็นพันธมิตรในบรรดาประเทศของทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรปบนพื้นฐานหลักประกันความมั่นคงแก่กันและกันเหมือนเดิม

ในทำนองเดียวกัน ผู้ตอบ 64% คาดว่าจนถึงปี 2033 ก็จะยังไม่มีการเพิ่มเติมประเทศใดให้เข้าเป็นสมาชิกถาวรใหม่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ทั้งนี้เพราะแรงเฉื่อยของสถาบันดังที่เป็นอยู่ ความหวงอำนาจของประเทศสมาชิกถาวรแต่เดิม รวมทั้งความสลับซับซ้อนของกระบวนการเพิ่มที่มีหลายประเทศจากนานาภูมิภาคแย่งคิวกันด้วย ไม่ว่าอินเดีย (เอเชียใต้) ญี่ปุ่น (เอเชียตะวันออก) บราซิล (ละตินอเมริกา) ไนจีเรียหรือแอฟริกาใต้ (แอฟริกา) เยอรมนี (ยุโรป)

ผู้ตอบส่วนหนึ่งมองว่าการคงเดิมขององค์การความมั่นคงระดับโลกเหล่านี้สะท้อนความอ่อนแอของมัน

ขณะที่ผู้ตอบบางรายมองว่าสภาพจริงของปัญหาความมั่นคงระดับโลกในอนาคตจะเรียกร้องให้องค์การเหล่านี้เปลี่ยนขยายบทบาทหน้าที่ไปครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น เช่น นาโตอาจขยายไปรวมการประกันความมั่นคงในเอเชียด้วย