สงครามยูเครนปีที่ 2 : สงครามและระเบียบใหม่

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามยูเครนปีที่ 2

: สงครามและระเบียบใหม่

 

“ถ้ารัสเซียยุติการรบ ก็จะไม่มีสงคราม แต่ถ้ายูเครนยุติการรบ ก็จะไม่มียูเครนเหลือ”

โปสเตอร์ของฝ่ายสนับสนุนยูเครน (2022)

 

สงครามดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและรุนแรงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และเห็นได้ชัดว่าสงครามยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ และไม่อาจชี้ชัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ

ภาวะสงครามเช่นนี้ส่งผลให้การสร้างสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงของยุโรปในยุคหลังสงครามยูเครน มีความท้าทายอย่างมาก

ดังนั้น บทความนี้จะสำรวจสงครามในปี 2022 อย่างสังเขป พร้อมมองไปในปี 2023 ทั้งในมิติการเมืองและการทหาร

 

ปีแรกของสงคราม

การเปิด “สงครามสายฟ้าแลบ” (blitzkrieg war) ของประธานาธิบดีปูตินในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ดังจะเห็นได้ว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการบุกเกิดขึ้น ผู้นำทางทหารรัสเซียพอที่จะตอบได้ว่า รัสเซียล้มเหลวตั้งแต่การรุกครั้งแรก และเริ่มมีการปรับทิศทางทางยุทธศาสตร์ ด้วยการเปลี่ยนจาก “สงครามเคลื่อนที่” (mobile warfare) ที่อาศัยการรุกอย่างรวดเร็วของหน่วยยานเกราะ และทหารราบยานยนต์ เพื่อเจาะแนวตั้งรับของข้าศึก มาสู่การทำ “สงครามประจำที่” (positional warfare) ที่เป็นการเตรียมทำสงครามระยะยาว และใช้การโจมตีทางอากาศ และด้วยอาวุธยิงเป็นเครื่องมือในการโจมตีแบบไม่จำแนกต่อเป้าหมายพลเรือน

การเปิดการรุกใหญ่ทำให้กองทัพรัสเซียสามารถยึดพื้นที่บางส่วนของยูเครนได้ ทั้งทางภาคใต้และทางภาคตะวันออก และการรบดำเนินไปอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ แนวรับของกองทัพยูเครนบางส่วนอาจไม่สามารถต้านทานการปิดล้อมและการโจมตีอย่างหนักของกองทัพรัสเซียได้

ต้องยอมรับว่าในบางจุดเช่นโรงงานเหล็กอาซอฟสตอล ยูเครนตกเป็นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ในบางจุด ยูเครนก็สำเร็จอย่างคาดไม่ถึง เช่นการจมเรือลาดตระเวน Moskva ซึ่งเป็นเรือธงของกองเรือทะเลดำ เป็นต้น

 

แล้วในที่สุด ปรากฏการณ์ที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นที่เคอร์ซอนในต้นเดือนกันยายน เมื่อกองทัพยูเครนสามารถเปิดการรุกกลับ (counteroffensive) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นแนวรบ และกองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายร่นถอยอกจากพื้นที่ยึดครองด้านใต้ ทำให้การรบในเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เป็นดังช่วงใหม่ของสงคราม

ผลของความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซียทางใต้ ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนักต่อเป้าหมายพลเรือนอย่างหนัก ไม่ว่าจะโจมตีด้วยจรวดหรือโดรน แม้ทางการรัสเซียพยายามจะโฆษณาชวนเชื่อว่า การโจมตีดังกล่าวกระทำต่อเป้าหมายทางทหาร แต่ภาพที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตประชาชนยูเครน ที่อยู่อาศัย และโรงพยาบาล ไม่ใช่ที่ตั้งหน่วยทหาร

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือทางทหารจากฝ่ายตะวันตก เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การรุกกลับทางทหารของยูเครนประสบความสำเร็จมากขึ้น และสามารถยันการรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างมาก โดยเฉพาะอาวุธยิงระยะไกลเช่นระบบอาวุธยิงจรวดระยะไกลหลายลำกล้อง (หรือ HIMARS) ปืนใหญ่ รถถัง รถรบทหารราบ และโดยเฉพาะโดรน อาวุธจากตะวันตกเหล่านี้ทำให้กองทัพรัสเซียต้องประสบความเสียหายอย่างมาก เช่น ตัวเลขกำลังพลน่าจะบาดเจ็บและเสียชีวิตราว 2 แสนนาย (ตัวเลขมาจากคำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ในเวที Munich Security Conference, 18 กุมภาพันธ์ 2023)

และประมาณว่ารัสเซียอาจจะสูญเสียรถถังในสงครามนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 หรือบางแหล่งประเมินถึงร้อยละ 40

 

การปรับยุทธศาสตร์ทางทหารของรัสเซียที่ใช้การโจมตีเป้าหมายประชาชนอย่างรุนแรง ทำให้ชาวยูเครนบาดเจ็บและเสียชีวิต 18,000 คน ที่อยู่อาศัยร้อยละ 40 ถูกทำลาย โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานร้อยละ 50 ถูกทำลายหรือประสบความเสียหาย

ชาวยูเครน 16 ล้านคนประสบภัยสงครามและไม่มีที่อยู่อาศัย และอีกประมาณ 18 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 40 ต้องการความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากภายนอก (ตัวเลขของสหประชาชาติจนถึงสิ้นปี 2022)

ผลจากสงครามทำให้ชาวยูเครนมากถึงร้อยละ 60 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นฐานความยากจน และเศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงกว่าร้อยละ 35 ในปี 2022 (การประมาณการของธนาคารโลก) ความเสียหายทางสังคมของยูเครนจากสงครามในช่วงปี 2022 เกิดขึ้นในขอบเขตอย่างกว้างขวางและรุนแรง ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูประเทศในยุคหลังสงครามเป็นปัญหาสำคัญทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงคราม

ซึ่งหากรัสเซียแพ้สงคราม เรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต และจะเดินย้อนรอยสนธิสัญญาแวร์ซายส์กับปัญหาค่าปฏิกรรมสงครามเยอรมนีหรือไม่

 

ปีที่สองของสงคราม

ในความสำเร็จของการยันทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายยูเครน และการเปิดการรุกกลับได้ในพื้นที่ทางภาคใต้ อันทำให้สงครามในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการรบหนักที่เมืองบัคมุต ที่อยู่ในพื้นที่ทางภาคตะวันออก

การสู้รบอย่างหนักที่บัคมุต ที่แม้จะเป็นเมืองที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจสูญเสียเมืองนี้ได้ การรบที่บัคมุตเป็นสัญญาณอย่างดีว่า การรบในฤดูใบไม้ผลิของสงครามยูเครนจะหนักหน่วงมากขึ้น และคาดได้ว่ารัสเซียคงใช้การโจมตีเมืองเช่นที่เห็นมาแล้ว อันทำให้ “สงครามทำลายเมือง” ของกองทัพรัสเซียในอนาคตจะมีความรุนแรงมากขึ้น

ในขณะเดียวกันรัฐบาลยูเครนเองก็เตรียมรับมือกับ “การรุกในฤดูใบไม้ผลิ” ของกองทัพรัสเซียอย่างเต็มที่ ด้วยการขอความสนับสนุนทางทหารจากตะวันตก โดยเฉพาะหลังจากการตัดสินใจของรัฐบาลตะวันตกหลายประเทศที่ร่วม “ลงขันรถถัง” ด้วยการส่งรถถังที่มีความทันสมัยให้กับกองทัพยูเครนในการรับศึก

แม้ว่าข้อเรียกร้องในการขอให้รัฐบาลตะวันตกส่งเครื่องบินรบให้ ยังเป็นประเด็นข้อถกเถียงอย่างมากก็ตาม ซึ่งในส่วนของรถถังนั้น เห็นได้ชัดว่ารถถังตะวันตกมีความเหนือกว่ารถถังรัสเซีย เพราะเป็นรถถังในยุคปลายสงครามเย็น

ส่วนรถถังรัสเซียในสงครามยูเครนเป็นรถถังในยุคกลางสงครามเย็น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ผู้นำยูเครนพยายามร้องขอการสนับสนุนรถถังจากตะวันตกมาตลอด จนกลายเป็นแรงกดดันใหญ่กับรัฐบาลเยอรมนี เพราะวันนี้เยอรมนีเป็นคลังแสงใหญ่ที่ทันสมัยของยุโรป

ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลเยอรมนียังตัดสินใจแบบที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดมาก่อน ด้วยการส่งรถถังแบบ Leopard 2 จำนวน 14 คันให้กับกองทัพยูเครน ซึ่งเป็นรถถังของยุคหลังสงครามเย็น ที่มีขีดความสามารถเหนือกว่ารถถังรัสเซียมาก

ดังนั้น ยุทธการ “สงครามรถถัง” ของสงครามฤดูใบไม้ผลิตจึงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างมาก และอาจถือว่าเป็นการ “ประลองยุทธ” ครั้งใหญ่ระหว่างรถถังของสองค่ายในการเมืองโลก

 

ในอีกด้านของการรบ เห็นได้ชัดว่าเป็น “สงครามปืนใหญ่” ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หลังจากยูเครนได้รับความสนับสนุนด้วยระบบอาวุธยิงระยะไกลที่เป็นจรวดหลายลำกล้องแบบ HIMARS ซึ่งมีระยะยิงไกลเป็น 2 เท่าของปืนใหญ่รัสเซีย และมีอัตราความแม่นยำสูง อันส่งผลให้แนวรบของรัสเซียต้องถอยร่นในหลายพื้นที่

การรบในแบบการ “ดวลปืนใหญ่” จะเห็นได้ในพื้นที่การรบ ซึ่งไม่ต่างกับปรากฏการณ์ของสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ปืนใหญ่นอกจากใช้ในการทำลายแนวตั้งรับของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังทำหน้าที่เหนี่ยวรั้งการเคลื่อนที่ของกองทัพข้าศึกในแนวหน้าอีกด้วย

นอกจากนี้ การรบในยูเครนเห็นถึง “สงครามโดรน” อย่างชัดเจน โดรนราคาถูกจากอิหร่าน แต่สามารถติดระเบิดได้ ถูกใช้ในภารกิจเป็น “โดรนโจมตี” จึงกลายเป็นเครื่องมืออย่างดีของกองทัพรัสเซียที่ใช้ในการโจมตีเป้าหมายพลเรือน หรือใช้ในการทำลายสังคมยูเครน

กองทัพรัสเซียใช้โดรนจำนวนมากทำการบินโจมตี แม้โดรนเหล่านี้ถูกยิงตกเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนหนึ่งรอดเข้าโจมตีเป้าหมายที่ต้องการได้ การใช้โดรนอิหร่านช่วยทดแทนต่อความขาดแคลนอาวุธปล่อยจากอากาศยาน (จรวด) ที่ใช้ไปมากในปี 2022 และโดรนราคาถูกจากอิหร่านคือคำตอบในกรณีนี้

 

สงครามและระเบียบใหม่ของยุโรป

ในบริบททางการเมือง สงครามยูเครนกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ นาโตซึ่งเป็นองค์กรทางทหารของยุคสงครามเย็นสามารถดำรงชีพอยู่ต่อเนื่องได้อย่างดี เพราะหลายประเทศในยุโรปกลัวภัยคุกคามทางทหารจากรัสเซีย อีกทั้งเป็นความกังวลอย่างมากถึงการขยายสงครามของรัสเซียออกนอกพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ของยูเครน เช่น สงครามขยายไปสู่ประเทศชายฝั่งบอลติก หรือไปสู่โปแลนด์ ฟินแลนด์ มอลโดวา

สภาวะดังกล่าวส่งผลให้ประเทศแถบนี้มีทิศทางเข้าหาตะวันตกมากขึ้น และต้องการการค้ำประกันจากนาโต เพราะประเทศเหล่านี้ตระหนักดีว่า พวกเขาไม่สามารถรับมือกับการโจมตีของรัสเซียในตัวแบบของสงครามยูเครนได้โดยลำพัง

ความต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนและฟินแลนด์ โดยประเทศทั้งสองยอมสละสถานะความเป็นกลางนั้น ถือเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการจัดระเบียบใหม่ของยุโรป และส่งผลให้ปัญหา “ภัยคุกคามจากรัสเซีย” กลับมาเป็นประเด็นความมั่นคงใหญ่ของยุโรปอีกครั้งนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น

ทั้งยังทำให้ความหวาดระแวงต่อรัสเซียขยายเป็นวงกว้างในยุโรป อันจะส่งผลอย่างมากกับการจัดระเบียบโลก โดยเฉพาะกับคำถามว่า อะไรคือ “เสาค้ำความมั่นคง” ของยุโรปในระยะยาว

 

แน่นอนว่าการออกแบบเพื่อที่สร้าง “สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคง” ทั้งของยุโรปและของโลกในยุคหลังสงครามยูเครนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความซับซ้อนอย่างมาก โดยมีปัญหาพื้นฐานมาจากความหวาดระแวงรัสเซีย ทั้งจะโยงถึงปัญหาจีน (ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรัสเซีย) กับบทบาทในเอเชีย

อีกทั้งพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นแนวกั้นของ “รัฐกันชน” เช่นที่ยุโรปตะวันออกเคยมีสถานะในยุคสงครามเย็นนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว เนื่องจากรัฐยุโรปตะวันออกมีทิศทางเข้าหาตะวันตก และไม่ต้องการที่จะอยู่กับรัสเซีย โลกหลังสงครามเย็นและการสิ้นสุดของระบอบโซเวียต 1991 ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์แบบในอดีตไปหมด

สงครามยูเครนจึงเป็นดังภาพสะท้อนของสภาวะที่ผู้นำรัสเซียไม่ยอมรับภูมิทัศน์ใหม่หลัง 1991 แต่การก่อสงครามก็ไม่ใช่ความสำเร็จของการจัด “ระเบียบแบบรัสเซีย” ทั้งโอกาสที่กองทัพรัสเซียจะชนะยึดยูเครนได้ทั้งหมด และนำยูเครนกลับสู่ “มาตุภูมิรัสเซีย” ตามคำโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียนั้น เห็นชัดว่าไม่เป็นจริง

ซึ่งเป็นคำตอบว่าสงครามจะยังรบต่อไป และคู่สงครามยังมีอำนาจทางทหารที่จะรบต่อด้วย

การเดินทางสู่ปีที่ 2 ของสงคราม จึงมีนัยถึงการที่กองทัพรัสเซียกำลังติดกับดักในยูเครน เช่นที่เคยเกิดมาแล้วในอัฟกานิสถาน และสงครามในปีที่ 2 เริ่มด้วยสัญลักษณ์สำคัญคือ

การเดินทางเยือนเคียฟของประธานาธิบดีไบเดนเพื่อยืนยันถึงการสนับสนุนของตะวันตก อีกทั้งยืนยันว่าตะวันตกจะไม่ทิ้งยูเครนในสงครามกับรัสเซีย!