ต่างประเทศอินโดจีน : หนี้สินของลาว

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีคำสั่งชวนสนเท่ห์ประการหนึ่งไปยังกระทรวงการคลัง (ลาวใช้ชื่อว่ากระทรวงการเงิน มีรองนายกรัฐมนตรี สมดี ดวงดี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอีกตำแหน่ง)

สาระสำคัญของคำสั่งคือ ขอให้ “ตรวจสอบรายได้และแหล่งที่มาของรายได้ของรัฐซ้ำอีกครั้ง”

นักวิเคราะห์ที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจลาวชี้ว่า คำสั่งดังกล่าวสะท้อนถึงความกังวลต่อภาวะหนี้สินของประเทศในยามนี้

ก่อนหน้านั้นไม่นาน รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุเอาไว้ว่า ภาวะหนี้ต่างประเทศของลาวเพิ่มจากระดับ “ปานกลาง” สู่ระดับ “สูง” แล้ว อันสืบเนื่องจากโครงการสาธารณูปการขนาดใหญ่ทั้งหลาย รวมถึง “เงินกู้” เพื่อการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆ

หนี้ภาครัฐและหนี้อันเกิดจากการค้ำประกันของรัฐ เพิ่มจาก 5,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2014 เพิ่มเป็น 6,500 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2015

คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงถึง 52 เปอร์เซ็นต์ และน่าจะสูงกว่านั้นเมื่อเวลาทอดยาวมาถึงปีนี้

ในทางตรงกันข้าม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาว ซึ่งเคยอยู่ในระดับเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2011-2014 กลับปรับลดลง ข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) บอกว่าในปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจลาวน่าจะขยายตัวอยู่ที่เพียง 6.9 เปอร์เซ็นต์ ไอเอ็มเอฟ คาดว่าโดยเฉลี่ยแล้วลาวจะเติบโตเพียงแค่ 6.3 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2016-2036

ยิ่งไปกว่านั้น การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ที่เคยคิดเป็นสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2013 ลดลงเหลือเพียง 14.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว

อนาคตเศรษฐกิจของลาว ดูไม่ใสกระจ่างนักแล้ว

 

ผู้รู้ทางเศรษฐศาสตร์บอกว่ามีหลายวิธีที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้เพื่อดิ้นรนออกจากบ่วงหนี้สิน ที่น่าสนใจก็คือ ทางการลาวกำลังดำเนินการตามหลายวิธีเหล่านั้นอยู่ในยามนี้

ทางหนึ่งคือจำกัดงบประมาณรายจ่ายของตนเอง ควบคู่ไปกับความพยายามหารายได้เพิ่มเติม โดยหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีให้มากที่สุดและให้นานที่สุด

รัฐบาลท่านทองลุน เริ่มจากมาตรการรัดเข็มขัด พยายามจัดการคอร์รัปชั่นเพื่อลดการสูญเปล่าของงบประมาณ ในเวลาเดียวกันก็เริ่ม “แสวงหาตลาดและลู่ทางลงทุนใหม่ๆ” ให้กับลาว

เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีลาวเดินทางไปเยือนสิงคโปร์และได้รับคำมั่นจาก ลี เซียน หลุง ในการช่วยพัฒนาการของลาว ถัดมาก็ประสบความสำเร็จในการดึงกลุ่มธุรกิจจากมาเลเซียมาจัดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนทางธุรกิจขึ้นในกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทั้งหมดของลาวผูกพันอยู่กับเพียงแค่ 3 ชาติ คือ จีน ไทย และเวียดนาม อย่างที่เคยเป็นมา

อีกทางหนึ่งในการแก้หนี้ ก็คือการก่อหนี้ต่อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในตลาดตราสารหนี้ของไทย และประสบความสำเร็จ

เป็นการออกตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลาวมูลค่า 419 ล้านดอลลาร์

ครึ่งหนึ่งคาดกันว่าจะถูกนำไปใช้หนี้ อีกครึ่งหนึ่งสำหรับจัดทำเป็นงบฯ สนับสนุนโครงการสาธารณูปโภค

 

ความพยายามของลาวเป็นไปในทิศทางที่ดี คำถามสำคัญก็คือ ในทางปฏิบัติแล้วการดำเนินการเหล่านี้จะให้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า

ลาวจะรัดเข็มขัดได้มากแค่ไหน จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนเดินถนนเมื่อใดและมากแค่ไหน คอร์รัปชั่นที่หยั่งรากลึกและแผ่กว้างมาตลอดหลายทศวรรษ จะขุดรากถอนโคนกันอย่างไร

วิธีแก้หนี้สินที่ผ่านมาของลาว อย่างเช่น หนี้ที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อก่อสร้างสนามซีเกมส์ 2009 มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์ ด้วยการยกสัมปทานที่ดินให้บริษัทจากจีนทดแทน กำลังกลายเป็นชนวนให้เกิดการต่อต้านจากชาวบ้านที่เคยใช้เป็นที่ทำกินมากขึ้นเรื่อยๆ

สะท้อนให้เห็นว่าจะแก้หนี้ของชาติโดยไม่มีประชาชนอยู่ในใจ ในความคิด ไม่ได้เด็ดขาด

หนี้สินของลาวจึงเป็นทั้งความท้าทายใหญ่หลวงอย่างหนึ่งและเป็นเครื่องผูกพันอนาคตของประเทศชาติอีกด้วย