เรื่อง ‘เพศ’ ที่ยังไม่เสมอภาค

นักฟุตบอลหญิงแคนาดาสวมเสื้อ "เราจะไม่ทน"

เรื่อง ‘เพศ’ ที่ยังไม่เสมอภาค

 

ประเด็นเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของวงการกีฬาโลกที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่อง “ค่าตอบแทน” หรือ “เงินรางวัล” ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน

ข้อถกเถียงสำคัญที่มักถูกหยิบยกมากล่าวอ้างคือประเด็นความนิยมของกีฬาชายกับกับหญิงที่แตกต่างกัน กีฬาชายคนดูเยอะกว่า สปอนเซอร์มากกว่า ค่าตอบแทนจึงย่อมสูงกว่า

เป็นข้อเท็จจริงที่เจ็บปวดแม้ว่านักกีฬาทั้ง 2 เพศต่างก็ต้องทุ่มเทฝึกซ้อมและแข่งขันไม่ต่างกัน

 

ในบรรดากีฬาอาชีพระดับนานาชาติ เทนนิส เป็นกีฬาที่พยายามสร้างความเสมอภาคเรื่องเงินรางวัลระหว่างนักกีฬาชายหญิงมากที่สุด โดยเฉพาะในรายการใหญ่ๆ ที่มีนักกีฬาทั้ง 2 ฝั่งเข้าร่วม เช่น รายการระดับแกรนด์สแลมทยอยปรับเงินรางวัลชาย-หญิงให้เท่ากันทีละรายการ จนมาครบทั้งหมดในปี 2007

ในส่วนของกีฬายอดฮิตอย่าง ฟุตบอล นั้น เปรียบเทียบตัวอย่างระหว่างการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว เงินรางวัลรวมของการแข่งขันอยู่ที่ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (15,400 ล้านบาท) โดยทีมแชมป์ อาร์เจนตินา รับเงินรางวัลไป 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,470 ล้านบาท)

ขณะที่ศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกนั้น ย้อนไปเมื่อปี 2018 เงินรางวัลรวมอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,050 ล้านบาท) โดยสหรัฐอเมริกา ทีมแชมป์ รับเงินรางวัลไป 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (140 ล้านบาท) หรือน้อยกว่าทัวร์นาเมนต์ของผู้ชายราว 10 เท่า

สำหรับการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกในปีนี้ที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม-20 สิงหาคมนั้น ยังไม่เคาะตัวเลขเงินรางวัลเน็ตๆ ออกมา ตามข่าวบอกว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จะเพิ่มเงินรางวัลขึ้นในระดับหนึ่ง

แต่ก็น่าจะยังห่างไกลจากเงินรางวัลของฟุตบอลชายอยู่ดี

 

ไม่เพียงแค่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเงินรางวัลอย่างเดียว ทั้งการบริหารจัดการ และงบประมาณการเตรียมทีมเข้าแข่งขันแต่ละทัวร์นาเมนต์ก็แตกต่างกัน

ตัวอย่างชัดเจนจากกรณีนี้เกิดขึ้นกับสมาคมฟุตบอลแคนาดา ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยทีมฟุตบอลทั้งชายและหญิงของแคนาดาเรียกร้องให้ตรวจสอบการทำงานของสมาคม เนื่องจากมีปัญหาเรื่องงบฯ สนับสนุนและเงินโบนัสจากการเข้าร่วม

กลางปีที่แล้ว ทีมฟุตบอลชายสไตรก์เพราะไม่พอใจเรื่องส่วนแบ่งเงินอัดฉีดหลังจากทีมตีตั๋วเข้าร่วมศึกฟุตบอลโลก 2002 ที่กาตาร์ ซึ่งเป็นการคว้าโควต้าครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ทีม

ขณะที่ทีมฟุตบอลหญิงนั้นหนักกว่า เป็นปัญหาคาราคาซังกว่า 1 ปี โดยสมาชิกทีมฟุตบอลหญิงแคนาดาออกมาประณามว่าสหพันธ์ปฏิบัติกับทีมบอลหญิงอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับทีมชาย ทั้งปรับลดงบฯ สนับสนุน ลดระยะเวลาและจำนวนครั้งในการเข้าแคมป์เก็บตัวก่อนสู้ศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกกลางปีนี้

โดยมีข้อมูลว่า สมาคมใช้งบฯ สนับสนุนทีมชายในปี 2021 รวม 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (385 ล้านบาท) และใช้งบฯ สำหรับทีมหญิง 5.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (178.5 ล้านบาท) และยิ่งใกล้ศึกฟุตบอลโลก 2022 ยิ่งรู้สึกรับไม่ได้กับการเลือกปฏิบัติ เพราะช่างแตกต่างกับการเตรียมทีมฟุตบอลหญิงในเวิลด์คัพปีนี้

แข้งสาวแคนาเดียนเลือกประท้วงด้วยการสไตรก์เช่นกัน แต่โดนสมาคมขู่ว่าจะใช้กฎหมายลงโทษ จึงต้องล้มแผนเพื่อลงแข่งรายการพิเศษเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์

ล่าสุด นิก บอนทิส นายกสมาคมฟุตบอลแคนาดา ทนกระแสกดดันไม่ไหว จึงยอมลาออกจากตำแหน่ง แต่ยืนยันว่าสนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศมาโดยตลอด

 

กรณีของทีมชาติแคนาดานั้นค่อนข้างจะเป็นประเด็นวิจารณ์วงกว้าง เนื่องจากเทียบกันแล้ว ทีมชายอาจจะได้รับความสนใจมากกว่า แต่ทีมหญิงนั้นชื่อชั้นและผลงานถือว่าเหนือกว่ามาก โดยปัจจุบันทีมบอลหญิงแคนาดารั้งอันดับ 6 ของโลก และเมื่อปี 2021 ก็เพิ่งคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตกียว ประเทศญี่ปุ่น ไปครอง

ข้อแตกต่างลักษณะนี้เกิดกับทีมชาติสหรัฐเช่นกัน เมื่อแข้งสาวมะกันมีดีกรีเป็นถึงแชมป์โลก 4 สมัย ขณะที่ทีมชาติผลงานช่วง 30 กว่าปีหลัง ไปได้ไกลสุดแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย

ทีมฟุตบอลสหรัฐแก้ปัญหาด้วยการทำข้อตกลงกันระหว่างทีมหญิงและทีมชาย โดยเอาเงินรางวัลที่ทั้ง 2 ทีมทำได้ในฟุตบอลโลก 2022 และฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 มารวมกันแล้วหารเฉลี่ยเท่าๆ กัน ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และบาลานซ์เรื่องผลงานกับเงินรางวัลของ 2 ฝั่งได้เป็นอย่างดี

วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกทีม โดยเฉพาะชาติที่ทีมฟุตบอลชายผลงานเด่นกว่าฟุตบอลหญิงมาก แต่ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับหลายๆ ชาติที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันในขณะนี้ •

 

Technical Time-Out | SearchSri