เที่ยวญี่ปุ่น ย้อนมองประเทศไทย

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

เที่ยวญี่ปุ่น ย้อนมองประเทศไทย

 

ช่วงนี้เป็นช่วงผ่อนคลายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง ทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทย และนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ

ผู้เขียนได้มีโอกาสลางานหยุดพักผ่อนไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงวันที่ 8-15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงขอถือโอกาสพักปากกาจากเรื่องร้อนแรงต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ พักการมองโลกในแง่ร้าย เปลี่ยนบรรยากาศเป็นเรื่องต่างประเทศบ้างครับ

ประเทศญี่ปุ่น มีฉายาว่า “แดนอาทิตย์อุทัย” เนื่องจากชื่อประเทศที่เขียนด้วยตัวอักษรคันจิมีความหมายว่า “ถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์” เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม G 7 มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน

เรียกได้ว่าในทวีปเอเชียญี่ปุ่นเป็นพี่ใหญ่รองจากจีน มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่อประเทศไทยและอาเซียน

ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 125 ล้านคน มากกว่าไทยเกือบเท่าตัว แต่ขนาดเศรษฐกิจ (GDP) มากกว่าไทยประมาณ 10 เท่า

เมื่อกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น หลายท่านมักนึกถึงดินแดนเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของเอเชีย

บางท่านอาจนึกถึงอาหารญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะและแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก

รวมถึงวัฒนธรรมที่เป็นประเทศต้นแบบซอฟต์เพาเวอร์ประเทศหนึ่งของโลก

 

ทันทีที่เครื่องบินจอดที่สนามบินฮาเนดะ นักท่องเที่ยวที่จะเข้าประเทศทุกคนต้องยืนยันตนเองในเว็บ เพื่อยืนยันว่าได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มตามที่กำหนด หรือมีใบรับรองแพทย์ยืนยันผลการตรวจร่างกายภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเข้าประเทศว่าไม่มีเชื้อโควิด กระบวนการคัดกรองและพิธีการตรวจคนเข้าเมืองรวดเร็วมาก มีการออกแบบจำนวนเคาน์เตอร์และจำนวนเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยว และแต่ละขั้นตอนใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกแทนแรงงานข้าราชการ

แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี แต่ละขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำสูงมาก

โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจลงตราหนังสือเดินทางและการปั๊มลายนิ้วมือ แม้จะเป็นเทคโนโลยีธรรมดาทั่วไปในปัจจุบัน แต่สามารถทำให้ระบบรวดเร็วกว่าสนามบินประเทศอื่นๆ ได้

พอผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและพิธีการศุลกากรแล้ว บางท่านอาจเลือกเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถแท็กซี่

แต่เนื่องจากผู้เขียนมีงบประมาณจำกัดและอยากลอง จึงเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า

 

ตู้จำหน่ายบัตรโดยสารตั้งอยู่ในสนามบินไม่ไกลจากด่านศุลกากรนัก ตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นตู้อัตโนมัติมีจำหน่ายบัตรทั้งแบบเที่ยวเดียว แบบรายวัน แบบหลายวัน และแบบบัตรเติมเงิน ซึ่งรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการหลายรายเหมือนประเทศไทย

บัตรเติมเงินมี 2 ค่ายใหญ่ คือ บัตร Suica และบัตร Pasmo ซึ่งทั้งสองบัตรสามารถใช้โดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย รถประจำทาง รวมถึงใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อได้

ไม่มีปัญหาผู้ให้บริการปฏิเสธการรับบัตรเติมเงินของผู้ให้บริการรายอื่น แย่งกันขอเป็นเจ้าของบัตรเติมเงินแบบบ้านเรา

โครงข่ายรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นครอบคลุมทั่วเมืองโตเกียว เราสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในโตเกียวด้วยรถไฟฟ้าได้มากกว่า 1 เส้นทาง

หากศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าไม่ดีมีโอกาสหลงทางได้ ด้วยขนาดสถานีที่มีขนาดใหญ่ และทางออกมีมากมายหลายทาง จึงทำให้แต่ละจุดในเมืองอยู่ในระยะที่สามารถเดินเท้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้

แม้นักท่องเที่ยวเดินทางพร้อมกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวเมืองโตเกียวเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหลัก

ตามแผนการเที่ยวของผู้เขียน ผู้เขียนวางแผนเช่ารถตู้เพื่อเดินทางไปยังเมืองคาวาคุจิโกะและเมืองฮาโกเน่

ปรากฏว่าหิมะตกหนักที่โตเกียว รวมถึงคาวากุจิโกะและฮาโกเน่ รถยนต์ที่เช่าไม่มียางสำหรับขับขี่ในสภาพอากาศหิมะตก บริษัทเช่ารถยนต์จึงไม่อนุญาตให้นำรถออกจากศูนย์เช่าเพราะเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุจากสภาพอากาศ

วินาทีนั้นทำอะไรไม่ถูกเลย

หลังจากตั้งสติอยู่ครู่หนึ่ง จึงกลับโรงแรมปรับแผนการเดินทางใหม่หมด แต่เนื่องจากจองที่พักไว้หมดแล้ว หากไม่ไปก็เสียดายเงินที่ชำระไว้ล่วงหน้า จึงตัดสินใจฝ่าหิมะพร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ โดยสารรถไฟฟ้า ต่อรถประจำทาง เดินทางไปยังโรงแรมที่พัก

ซึ่งโครงข่ายรถไฟฟ้าและรถประจำทางของบ้านเขา ไปถึงเกือบทุกที่ในประเทศได้ และมีตารางการเดินรถที่แน่นอน มาตรงต่อเวลา

ยิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยิ่งมีรถประจำทางหลายสาย

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว

 

ที่เมืองคาวากุจิโกะ เป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้เห็นหิมะตกต่อหน้า ตกแบบไม่บันยะบันยัง จนท่วมข้อเท้า ตลอดเวลาที่นั่งรถไฟฟ้า หิมะโปรยปรายตลอดทาง

เมื่อขบวนรถไฟหยุดที่สถานีต้องขอกระโดดออกมาสัมผัสหิมะก่อนกลับขึ้นขบวนรถไฟ แม้การเดินทางจะลำบากขึ้นบ้าง แต่เป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนประทับใจมาก แน่นอนว่าต้องเล่นปาหิมะใส่เพื่อนๆ ร่วมคณะเดินทางตลอดทางจนถึงโรงแรม

เมื่อถึงโรงแรม แช่บ่อน้ำร้อนออนเซน ชมวิวภูเขาไฟฟูจิที่รอบข้างทะเลสาบปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

หลังจากกลับจากคาวากุจิโกะและฮาโกเน่ ผู้เขียนได้เจอเพื่อนคนไทยท่านหนึ่ง เป็นเพื่อนสมัยเรียนที่จุฬาฯ ด้วยกัน พอเรียนจบเพื่อนท่านนี้ได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโตเกียว พอจบด๊อกเตอร์เลยอยู่ทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์

นานวันเข้าได้เป็นเรสซิเดนซ์ที่นี่เลยยังไม่ได้กลับไทย เพื่อนได้พาไปที่ร้านคราฟต์เบียร์ ได้พูดคุยกันออกรสชาติอย่างมาก

 

พูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมเบียร์ของญี่ปุ่น การผลิตเบียร์ในญี่ปุ่นมีมานานกว่า 400 ปี ซึ่งด้วยกฎหมายที่เข้มงวดจึงมีแต่ผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่มีผู้ผลิตรายย่อย เนื่องจากมีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ต้องผลิตอย่างน้อย 2 ล้านลิตรต่อปี (ในประเทศไทยมีการกำหนดปริมาณที่ต้องผลิตขั้นต่ำเช่นกัน) จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผูกขาดจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีจำนวนน้อยราย

แต่ในปี ค.ศ.1994 กระแสคราฟต์เบียร์ในญี่ปุ่นมาแรง รัฐบาลจึงยอมผ่อนปรนหลักเกณฑ์ กำหนดการผลิตขั้นต่ำเหลือ 6 หมื่นลิตรต่อปี

ทำให้เกิดผู้ผลิตรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาด สร้างความคึกคักให้อุตสาหกรรมเบียร์เป็นอย่างมาก

ด้วยความที่เบียร์มีภาษีแพงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นบางประเภท จึงมีการหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) ด้วยการปรับปรุงสูตรไม่ให้ถึงเกณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ เรียกว่า “ฮัปโปชุ” มีรสชาติเหมือนเบียร์ แต่ส่วนผสมแตกต่างออกไปตามนิยามของกฎหมายจึงไม่จัดเป็นเบียร์ และไม่สามารถใช้ค่าว่าเบียร์ในการโฆษณาได้

ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนปรับนิยามของเบียร์ให้ครอบคลุมมากกว่าเดิมเพื่อจัดเก็บภาษีฮัปโปชุ เพื่อเพิ่มภาษีที่จัดเก็บเข้ารัฐ เนื่องจากภาษีจากเบียร์มีสัดส่วนต่อรายได้รัฐบาลลดลง

 

พอเริ่มกรึ่มจากฤทธิ์ของคราฟต์เบียร์ เราได้สนทนากันต่อถึงเรื่องโครงสร้างสังคมและระบบชนชั้นของญี่ปุ่น

ระบบการปกครองของไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก คือ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นเดียวกัน

โครงสร้างสังคมจึงสืบทอดมาจากอดีตสมัยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จุดเปลี่ยนของประเทศญี่ปุ่น คือภายหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มีความจำเป็นต้องเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ระบบชนชั้นยังคงอยู่ การจะก้าวข้ามจากชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลาง สู่ชนชั้นปกครองเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้จะร่ำรวยจากการประกอบธุรกิจก็ไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ชนชั้นปกครองได้

แต่ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองมีหน้าที่บริหารเศรษฐกิจให้ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางสามารถดำรงชีพได้อย่างมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งญี่ปุ่นมีอัตราค่าแรงที่สูง สวัสดิการรัฐที่ดี เราจึงไม่เห็นการประท้วงเรียกร้องบ่อยนัก

ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น ภายหลังฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในปี ค.ศ.1991 ญี่ปุ่นมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เพียงประมาณ 1% ต่อปี เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ทศวรรษที่หายไป (Lost Decade)”

จนกระทั่งปี ค.ศ.2008 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่สหรัฐอเมริกา ประกอบกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิดที่ฟูคุชิมา ในปี ค.ศ.2011 เศรษฐกิจยังคงซบเซา

 

เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ เข้ารับตำแหน่ง มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอาเบะโนมิกซ์ (Abenomics) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากเผชิญภาวะเงินฝืดกว่า 20 ปี ด้วยนโยบาย “ลูกศร 3 ดอก”

ลูกศรดอกแรก คือ นโยบายการเงินที่ดุดัน

ดอกที่สอง คือ นโยบายการคลังขาดดุล

และลูกศรดอกสุดท้าย คือ ยุทธศาสตร์กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวด้วย

ซึ่งนโยบายลูกศร 3 ดอก นี้ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกฟื้นจากอัตราการเติบโตติดลบ กลายเป็นบวกในระดับ 2% กว่าต่อปี ต่อเนื่องกัน

ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลง ค่าแรงสูงขึ้น รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น ธุรกิจเอกชนมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น

ข่าวการจากไปของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งสำหรับชาวญี่ปุ่น ที่ต้องสูญเสียผู้นำเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่มีวันกลับมา แม้พรรคประกาศว่าจะสานต่อนโยบายอาเบะโนมิกซ์ก็ตาม

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าผู้นำท่านใหญ่จะนำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้งได้หรือไม่

 

ล่าสุดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นดูจะปั่นป่วนไปบ้าง

ดังเห็นได้จากการที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมายอมรับว่าทุ่มเงินกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.84 ล้านล้านเยน เพื่อแทรกแซงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 30 เมื่อเตือนตุลาคม 2565

ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถฝืนอานุภาพของมือที่มองไม่เห็น (The Invisible Hand) ตามทฤษฎีของอดัม สมิธ ได้

ทำให้ธนาคารกลางสูญเสียเงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ชั่วข้ามคืน

น่าเสียดายที่ใกล้เที่ยงคืน รถไฟฟ้ากำลังจะหยุดวิ่ง จึงต้องแยกย้ายกัน มีเรื่องยังไม่ได้แลกเปลี่ยนกันหลายเรื่อง

คงต้องนัดดื่มเบียร์กันใหม่หลังประเทศไทยเลือกตั้งเสร็จ