วิทยาศาสตร์ในยุโรป ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
หอดูดาวปารีส

ในสมัยอยุธยา ช่วงเวลาที่มีการติดต่อกับโลกตะวันตกอย่างเข้มข้นและรับเอาวิทยาการของฝรั่งเข้ามามากที่สุดช่วงหนึ่งคือ รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงครองราชย์ในช่วง พ.ศ.2199-2231 หรือ ค.ศ.1656-1688 นาน 32 ปี

ช่วงเวลานี้น่าสนใจอย่างยิ่งในมุมมองของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ระดับโลก เนื่องจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) เกิดขึ้นในยุโรปช่วง ค.ศ.1543-1687 ลองดูตัวเลขปี ค.ศ.ให้ชัดๆ จะเห็นว่ารัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทับซ้อนกับเวลาในช่วงปลายของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์แทบจะพอดิบพอดี

ดังนั้น หากใช้รัชสมัย 32 ปีนี้เป็นตัวตั้ง แล้วมองย้อนกลับไปดูว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรขึ้นบ้างในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในปีเดียวกัน ย่อมน่าจะให้มุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย และเนื่องจากผมพูดถึงยุโรป จึงขอใช้ตัวเลขปี ค.ศ. ในการอ้างอิงครับ

ปี 1656 : สมเด็จพระนารายณ์มหาราชครองราชย์วันที่ 26 ตุลาคม และประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันเดียวกันนี้

ในปีนี้ คริสตียาน ไฮเกนส์ (Christiaan Huygens) ชาวดัตช์ ได้ประดิษฐ์นาฬิกาลูกตุ้ม (pendulum clock) ขึ้นเป็นครั้งแรก นาฬิกานี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการประดิษฐ์อุปกรณ์ระบุเวลา และใช้กันมานานกว่า 300 ปี จนกระทั่งถึงราวทศวรรษที่ 1930 จึงถูกแทนที่ด้วยนาฬิกาซึ่งใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ไฮเกนส์ยังค้นพบดวงจันทร์ไททันซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์อีกด้วย

ปี 1660 : อังกฤษก่อตั้งสมาคมนักปราชญ์ (learned society) ในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ต่อมาในปี 1663 จึงได้ชื่อว่า The Royal Society of London for Improving Natural Knowledge เรียกย่อๆ ว่า Royal Society (ราชสมาคม) นับเป็นสถาบันทางด้านวิทยาศาสตร์แห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดในโลก

คติพจน์ของราชสมาคมคือ Nullius in Verba เป็นภาษาละติน แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า take nobody’s word for it เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกทุกคนที่จะไม่สยบยอมต่อคำกล่าวใดๆ ของผู้เชี่ยวชาญ แต่จะพิสูจน์ทุกคำกล่าวโดยใช้ข้อเท็จจริงที่มาจากการทดลอง

กล้องจุลทรรศน์ของเลเวนฮุก (ชิ้นงานจำลอง)

ปี 1665 : โรเบิร์ต ฮุก (Robert Hooke) ชาวอังกฤษ ค้นพบเซลล์ และตั้งชื่อคำว่า cell; โจวันนี โดเมนีโก กัสซีนี (Giovanni Domenico Cassini) ชาวอิตาเลียน สังเกตเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี; ในปีนี้ยังเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน เรียกว่า The Great Plague หรือ The Great Plague of London ทำให้ประชากรลอนดอนราว 1 ใน 5 เสียชีวิต วิทยาลัยต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ปิดทำการ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) ซึ่งเรียนที่เคมบริดจ์จึงเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดคือวูลส์ทอร์ป และอยู่ที่บ้านราวปีครึ่ง

นี่คือช่วงเวลาที่นิวตันในวัยเพียง 23 ปี ได้เริ่มปฏิรูปวิทยาศาสตร์โดยสร้างผลงานชิ้นเยี่ยมไว้หลายชิ้น เช่น สร้างคณิตศาสตร์ที่เขาเรียกว่า method of fluxion ซึ่งปัจจุบันคือ แคลคูลัส สร้างทฤษฎีบททวินาม คิดทฤษฎีสีของแสงอาทิตย์ และพบว่าแรงโน้มถ่วงสามารถอธิบายการที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกได้

ถือกันว่าช่วงเวลานี้คือ ช่วงปีมหัศจรรย์ (Anni Mirabiles) ของนิวตัน

ปี 1666 : ฝรั่งเศสจัดตั้ง Academie des Sciences เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม โดยพระราชประสงค์ในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สมาคมแห่งนี้เป็นสถาบันวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์แห่งแรกๆ ของโลก (ชื่อภาษาอังกฤษของสถาบันแห่งนี้ในปัจจุบันคือ The French Academy of Sciences)

ปี 1667 : ฝรั่งเศสเริ่มสร้างหอดูดาวปารีส (สร้างเสร็จในปี 1671)

ปี 1668 : นิวตันประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง (ขณะนั้นเขายังไม่ได้รับการอวยยศเป็น “เซอร์”)

Principia ผลงานชิ้นเอกของไอแซก นิวตัน

ปี 1671 : กัสซีนีค้นพบดวงจันทร์ไอยาพิตัส (Iapitus) ของดาวเสาร์ (เขายังได้ค้นพบเรื่องสำคัญทางดาราศาสตร์อีกหลายอย่างในอีกหลายปีต่อมา); นิวตันปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ต่อมาไอแซก แบร์โรว์ (Isaac Barrow) ได้นำกล้องนี้ไปแสดงที่ราชสมาคม ส่งผลให้นิวตันได้รับเลือกให้เป็นภาคีสมาชิกราชสมาคมในวันที่ 11 มกราคม ปีถัดมา

ปี 1672 : นิวตันเขียนบทความเกี่ยวกับแสงและทัศนศาสตร์หลายบทความ โดยตีพิมพ์ในวารสาร Philosophical Transactions บางคนถือว่าบทความที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นบทความทางวิทยาศาสตร์บทความแรกของโลก

ปี 1674 : อันโตนี วาน เลเวนฮุก (Antonie van Leeuwenhoek) ชาวดัชต์ เป็นคนแรกที่ได้เห็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้น (ต่อมาถือกันว่าเขาเป็น ‘บิดาแห่งจุลชีววิทยา’)

ปี 1675 : อังกฤษเริ่มสร้างหอดูดาวกรีนิช (อาคารสร้างเสร็จในปี 1676)

ปี 1676 : โอเลอ โรเมอร์ (Ole Romer) ชาวเดนมาร์กแสดงให้เห็นว่าแสงเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วจำกัดค่าหนึ่ง (คือไม่ได้เร็วเป็นอนันต์) และวัดอัตราเร็วแสงได้เป็นคนแรก ค่าที่คำนวณได้ต่ำกว่าค่าที่ยอมรับกันในปัจจุบันราว 26%

ปี 1684 : กอตต์ฟรีด วิลเฮล์ม ฟอน ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm von Leibniz) ชาวเยอรมัน ตีพิมพ์ Novus methodus ซึ่งเป็นวิชาคณิตศาสตร์ “แคลคูลัส” ที่เขาคิดค้นขึ้น ผลก็คือเกิดการโต้เถียงกันว่าใครคือผู้คิดค้นแคลคูลัสกันแน่ระหว่างไลบ์นิซกับนิวตัน

ในปีเดียวกันนี้เอง เอ็ดมันด์ ฮัลลีย์ ได้เดินทางไปยังเคมบริดจ์เพื่อขอให้นิวตันอธิบายเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ปรากฏว่านิวตันตอบคำถามนี้ออกมาเป็นผลงานหนังสือ Principia จำนวน 3 เล่ม

ปี 1687 : ผลงานชิ้นสำคัญของไอแซก นิวตัน คือ Principia ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม

ปี 1688 : สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม

จะเห็นว่าในช่วงเวลาที่ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น วิทยาศาสตร์ในยุโรปได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ จุลชีววิทยา ฯลฯ เกิดสิ่งประดิษฐ์และผลงานทางภูมิปัญญาสำคัญมากมายหลายอย่าง อีกทั้งยังเกิดองค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันครับ