วิกฤติศตวรรษที่21 : ว่าด้วยการเตรียมพร้อมของพลเมือง

ในปัจจุบันเกิดกระแสที่พลเมืองเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูง

บางคนเรียกว่า “ขบวนการเตรียมพร้อม”

กระแสนี้เกิดขึ้นในสหรัฐ อังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป ที่ถือกันว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทางเศรษฐกิจ-การเมือง มีความมั่นคงไพบูลย์กว่าชาติอื่น

ถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดได้อย่างหนึ่ง

ปรากฏการณ์นี้คงเกิดจากว่า ความมั่นคงและความไพบูลย์นั้นเป็นการแข่งขันกันในเกม “ผลรวมเป็นศูนย์”

นั่นคือฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายที่ชนะแล้วจำต้องรักษาชัยชนะไว้ และขยายชนะออกไปอีก เพื่อให้เกิดความมั่นคงไพบูลย์ที่สัมบูรณ์

ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายที่แพ้ได้แก่ประเทศกำลังพัฒนาก็จะไม่เหลืออะไรเลย จำต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างไม่คิดถึงชีวิต

มีส่วนให้ความยิ่งใหญ่มั่นคงและความไพบูลย์ของประเทศตะวันตกเสื่อมถอยลง

ประชาชนที่รู้สึกถึงบรรยากาศนี้ จึงได้ก่อกระแสการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาถึงในปัจจุบัน

ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาที่เกือบทั้งหมดตกเป็นเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ได้ค่อยพลิกฟื้นฐานะเป็นอิสระขึ้นได้บ้าง ดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมืองจนในปัจจุบันส่วนใหญ่กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เรียกกันว่า “ตลาดเกิดใหม่”

ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมีความหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น และมุ่งจะก้าวเดินไปข้างหน้า มากกว่าที่จะคิดเตรียมพร้อม

แต่ทว่าหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 อัตราการค้าโลกลดลง ประชากรก็แก่ชรา สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมหนัก ผู้คนเห็นแก่ได้มากขึ้น

เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ทำให้กระแสการเตรียมพร้อมของพลเมือง ค่อยๆ ลามมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา

ขบวนการเตรียมพร้อมของพลเมืองในตะวันตกเกิดในบริบทของยุคทองและความเสื่อมของตะวันตก จนมีปัญหาการนำและความมั่นคงทางการเมือง

เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหลายระลอก และความเสื่อมถอยทางอุดมการณ์ความเชื่อ ไปจนถึงประชากรสิ่งแวดล้อม จะได้กล่าวถึงต่อไป

ยุคทองและความเสื่อมของตะวันตก

ในช่วงราว 150 ปีมานี้ โลกตะวันตกได้ผ่านยุคทองใหญ่สองครั้ง

ครั้งแรก ถือเป็นยุคทองของอารยธรรมตะวันตก (1875-1914) ในช่วงเวลานี้ ดินแดนที่ตะวันตกยึดเป็นอาณานิคมมากเป็นสามเท่าของที่ยึดมาในช่วงสามในสี่แรกของศตวรรษที่ 19 เมื่อถึงปี 1914 ประเทศมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมกับอาณานิคมของพวกเขาและที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อนมีดินแดนกว่าร้อยละ 85 ของแผ่นดินโลก (ดูบทความของ Harry Magdoff ชื่อ The Clock Slows Down ใน monthlyreview ตุลาคม 2017)

กล่าวคือ สามารถทำให้ทั้งโลกเป็นแบบตะวันตก

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ทำลายยุคทองนั้น เกิดความเห็นด้านลบอย่างต่อเนื่องต่ออารยธรรมตะวันตก

เริ่มตั้งแต่งานของ ออสวาลด์ สเปงเลอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน (เผยแพร่หนังสือ “ความเสื่อมถอยของตะวันตก” ครั้งแรกปี 1918)

อาร์โนลด์ เจ.ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ (งานชิ้นเอกชื่อ “ความเข้าใจประวัติศาสตร์” เผยแพร่ระหว่าง 1934-1961) ที่เห็นว่า อารยธรรมตะวันตกก็มีวงจรแห่งความรุ่งเรืองและเสื่อมถอยเหมือนอารยธรรมอื่นที่ผ่านมา และทำนายว่าในศตวรรษที่ 21 จะมีอารยธรรมอื่นขึ้นมาแข่งขันกับอารยธรรมตะวันตก ได้แก่ อารยธรรมอิสลาม อารยธรรมฮินดู และอารยธรรมตะวันออก ซึ่งในปัจจุบันได้แก่จีน

ครั้งที่สอง เป็นยุคทองทางเศรษฐกิจ (1948-1973) มีพลังขับเคลื่อนหลักได้แก่สหรัฐจนมีฐานะเป็นผู้นำโลกเสรีจนถึงปัจจุบัน ในช่วงนี้ประชาชนในประเทศอุตสาหกรรม ได้แก่ ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น พบว่ามาตรฐานการครองชีพของตนสูงขึ้นโดยตลอด และคาดหวังถึงความไพบูลย์ยิ่งขึ้นสำหรับลูกหลานของตน

ยุคทองทางเศรษฐกิจมีลักษณะเฉพาะ จากการอั้นมานานในช่วงสงคราม มีที่เด่นได้แก่

1) การขยายตัวของรัฐสวัสดิการ การฟื้นฟูประเทศจากสงคราม สหภาพแรงงานมีบทบาทเด่นในการเป็นตัวแทนเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์จาก “เงินปันผลจากสันติภาพ” ให้แก่คนงานจนมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น

2) การขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิต เช่นในสหรัฐช่วงปี 1945 มีการใช้ล่อในการไถนาถึง 3 ล้านตัว ในเพียงไม่กี่ปีถูกแปรเป็นการใช้เครื่องจักรกลอย่างรวดเร็ว ประชาชนนับล้านออกจากไร่นามาทำงานในการก่อสร้าง และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด

ในปี 1940 คนงานในยุโรปตะวันตกได้รับการศึกษาเฉลี่ยต่ำกว่า 5 ปี การลงทุนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้สร้างคนงานที่รู้หนังสือและมีการศึกษา การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ทางหลวง เป็นต้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นอันมาก

มีการเจรจาด้านการค้าและภาษีศุลกากรหกครั้งช่วงปี 1947-1967 มี 50 ประเทศเข้าร่วม ระหว่างปี 1951-1973 การค้าโลกเติบโตเฉลี่ยปีละเกือบร้อยละ 5

คนงานมีงานทำเต็มที่ ในเยอรมนีปี 1966 มีคนว่างงานเพียงร้อยละ 0.5

บ้านเรือนมีสิ่งของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกสบายและความบันเทิงมากมาย เช่น โทรทัศน์ เตาผิง การเกษียณอายุอยู่ที่ 65 ปี อายุคาดหมายกระโดดสูง

ระหว่างปี 1948-1973 ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สวีเดน ไม่ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเลย เยอรมนีและแคนาดาก็เกือบคล้ายกัน

นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐบางคนมองในแง่ดีว่า นี่คือ “เศรษฐกิจใหม่” ที่จะไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยอีก

ในเยอรมนีมีนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญได้แก่ คาร์ล ชิลเลอร์ สร้างทฤษฎีทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ “สังเคราะห์การวางแผนกับการแข่งขันเข้าด้วยกัน” คือ “มีการแข่งขันเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีการวางแผนเท่าที่จำเป็น”

เขามีส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีรุ่งโรจน์ แต่ก็พังครืนลงในปี 1973

เหตุการณ์ใหญ่ในปี 1973 คือ วิกฤติน้ำมัน ที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ทำลายประสิทธิภาพการผลิต

ดังจะเห็นว่า ตลอดทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 ในประเทศพัฒนาแล้วประสิทธิภาพการผลิตขยายตัวปีละร้อยละ 5

แต่หลังปี 1973 จนถึงสิ้นศตวรรษที่ 20 ก็เติบโตในอัตราที่ลดลงมา คือโตเฉลี่ยน้อยกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ลดลงด้วย

ทั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ค่าจ้างแรงงานเพิ่มน้อย สวัสดิการมีปัญหา กระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของประชาชนชนชั้นกลางอย่างรุนแรง

การเมืองโลกตะวันตกเอียงไปทางขวา เกิดเศรษฐกิจแบบแธตเชอร์ในอังกฤษ และเศรษฐกิจแบบเรแกนในสหรัฐ

ยุคทองทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจหวนเกิดขึ้นอีก เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 มีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดหมายสูงมาก ไม่ควรคิดว่านโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม (ของทรัมป์) จะทำได้ดีกว่านโยบาย ตลาดเสรีของแธตเชอร์และเรแกน

(ดูบทความของ Marc Levinson ชื่อ End of a golden age ใน aeon.co 22.02.2017)

รัฐที่ต้องการความมั่นคงและกระหายสงคราม

ในบริบทของยุคทองและความเสื่อม อำนาจรัฐในตะวันตกโดยเฉพาะในสหรัฐ ต้องการความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น และสงครามที่ไม่สิ้นสุด เพื่อเสริมความมั่นคงไว้

เมื่ออารยธรรมตะวันตกได้เสื่อมลงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้จะรักษาความเป็นศูนย์กลางโลกไว้ได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะต้านทานได้หลายประการ เกิดแนวโน้มสำคัญ ได้แก่

1) การสูญเสียอำนาจการปกครองโลกโดยลำดับ ประเทศอาณานิคมขึ้นมาเป็นอิสระจากการต่อสู้ใหญ่สองด้าน

ด้านหนึ่ง เป็นการต่อสู้อย่างทรหดของประชาชนในโลกที่สามจำต้องมอบอำนาจอธิปไตยให้

อีกด้านหนึ่ง เกิดจากการต่อสู้แย่งชิงดินแดนอาณานิคม ในหมู่ประเทศมหาอำนาจด้วยกันเองจนเกิดสงครามโลกถึงสองครั้ง

จำต้องมีระเบียบโลกใหม่ที่เปิดให้ประเทศทั้งหลายมีอำนาจอธิปไตย ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยมหาอำนาจประเทศหนึ่งใด เป็นชนวนสงครามขึ้นมาอีก

Visitors pay their respects to the soldiers killed during the war at the Vietnam Veterans Memorial Wall on November 11, 2016 in Washington, DC. / AFP PHOTO / Olivier Douliery

2) การเกิดขั้วอำนาจใหม่ขึ้นมาท้าทาย ได้แก่ สหภาพโซเวียต ซึ่งเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองได้ขยายตัวครอบงำยุโรปตะวันออก เป็นโลกสังคมนิยมเผชิญหน้ากับโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐ

ที่เอเชีย จีนก็ได้รับการปลดปล่อยขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย เกิดภาพลักษณ์ว่าสหรัฐเป็นขั้วอำนาจเดียว

แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว ประเทศอย่างเช่นจีนและอินเดียก็ไม่ได้ยอมลงให้แก่สหรัฐ เมื่อรัสเซียฟื้นตัว สถานการณ์ไม่เพียงกลับไปเหมือนช่วงสงครามเย็นเท่านั้น หากยังเพิ่มความซับซ้อน นั่นคือมีอารยธรรมมุสลิมที่ไม่อาจมองข้ามได้ขึ้นสู่เวทีโลก

3) ในขณะที่อำนาจปกครองโลกคลอนแคลน อำนาจรัฐตะวันตกยิ่งเร่งเสริมสร้างความมั่นคงทางทหาร ก่อการจลาจลและสงครามในต่างแดนมากขึ้น

เห็นได้ชัดในกรณีสหรัฐที่เข้ามารับเป็นผู้นำโลกตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีปฏิบัติการใหญ่ทางทหารอย่างต่อเนื่อง เช่น

1) สงครามเกาหลี (1950-1953)

2) การบุกอ่าวสุกรที่คิวบา (1961)

3) สงครามเวียดนาม (1961-1975)

4) ปฏิบัติการที่เลบานอน (1982)

5) ปฏิบัติการที่เกรนาดา (1985)

6) ปฏิบัติการที่ปานามา (1989)

7) สงครามอ่าวครั้งที่หนึ่ง (1991)

8) ปฏิบัติการที่โซมาเลีย (1993)

9) ปฏิบัติการที่เฮติ 1994)

10) สงครามโคโซโว (1999)

11) สงครามอัฟกานิสถาน (2001 ถึงปัจจุบัน)

12) สงครามอิรัก (2003 ถึงปัจจุบัน)

13) ที่อื่นๆ อีกมาก

การสร้างความมั่นคงแก่รัฐมากขึ้น เป็นการลิดรอนสิทธิพลเมืองลงในตัว

หลังเหตุการณ์วินาศกรรมใหญ่ปี 2001 มีการออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ทำให้สหรัฐเหมือนตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินจนถึงปัจจุบัน

ทั้งยังมีการประกาศภาวะฉุกเฉินซ้ำต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ เช่น พายุเฮอริเคนหรือไฟป่าใหญ่

นอกจากนี้ การมีสงครามไม่หยุดหย่อน เกิดการ “ปลุกผี” ให้เกิดการหวาดกลัว เช่น ผีคอมมิวนิสต์ และผีการก่อการร้าย เป็นต้น

A military helicopter in December 1974 on the southeastern warfront near Phnom Penh, as fighting rage around Cambodian capital, where red khmer have launched a new offensivese / AFP PHOTO / Marc Charuel

เกิดมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสงครามนิวเคลียร์ การก่อการร้าย การใช้อาวุธเคมี-ชีวะ เป็นต้น

แต่ละคนก็ไปกันไปต่างๆ ทั้งยังพบว่าอำนาจที่เชี่ยวชาญในการสร้างข้ออ้างเพื่อความมั่นคงและสงคราม กลับไม่ค่อยสันทัดในการแก้ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่มีแนวสังคมนิยมอย่างคิวบา เป็นต้น

สาธารณชนจึงต้องเตรียมพร้อมกันเอาเองเป็นพื้นฐาน

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐเอง ได้เปิดเว็บไซต์ชื่อ ready.gov ในปี 2003 เพื่อให้การศึกษาและส่งเสริมให้ชาวอเมริกันได้รู้จักเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติ และภัยมนุษย์

เช่น ให้ครอบครัวต่างๆ รู้จักวางแผนฉุกเฉินของตนขึ้น ตระเตรียมชุดอุปกรณ์ของกินของใช้ยามฉุกเฉิน

และเข้าร่วมชุมชนในการเตรียมรับมือกับภาวะฉุกเฉิน

4) อำนาจรัฐของตะวันตกมีแนวโน้มเอียงขวาขึ้น ในสหรัฐ เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของ แบร์รี โกลด์วอเตอร์ จนถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้รับเลือกตั้งท่ามกลางการโจมตีของสื่อกระแสหลัก

โกลด์วอเตอร์ (1909-1998) เป็นนักการเมืองแห่งพรรครีพับลิกัน นักธุรกิจ และนักเขียนที่ทรงอิทธิพลความคิดของฝ่ายขวาในสหรัฐ

เขาคัดค้านความคิดเสรีนิยม ปฏิเสธแผนงานนิวดีลของประธานาธิบดีโรสเวลต์ คัดค้านกฎหมายสิทธิพลเมือง (1964) ที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสรีนิยมฝ่ายซ้าย มี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นต้น ขับเคี่ยวกับปีกซ้ายในพรรครีพับลิกันที่นำโดย เดวิด ร็อกกีเฟลเลอร์ (ผู้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการไตรภาคี) คัดค้านความคิดการปกครองโลก ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์สุดตัว สนับสนุนลัทธิทหาร การทุ่มกำลังรบในสงครามเวียดนาม เปิดกว้างสำหรับสงครามนิวเคลียร์กับจีน

โกลด์วอเตอร์เข้าสู่การเมืองเต็มตัวตั้งแต่ปี 1949 เป็นวุฒิสมาชิกปี 1952 เป็นตัวแทนพรรคในการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี (1964) แพ้การเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 38

เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น “จิตสำนึกของอนุรักษนิยมคนหนึ่ง” (1960) เป็นการวางรากฐานทางความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม แม้เขาจะแสดงออกอย่างก้าวร้าวรุนแรง แต่ก็เห็นว่าการเมืองเป็นเกมของการต่อรอง จำต้องรู้จักประนีประนอม

กลุ่มนักเตรียมพร้อมในสหรัฐเกิดขึ้นในแนวคิดของฝ่ายขวาเป็นสำคัญ สำหรับฝ่ายซ้ายในช่วงนั้น เน้นการต่อต้านสงคราม การต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของพลเมือง

รวมทั้งสิทธิสตรีและผู้ด้อยโอกาสอื่น