โอกาสในชีวิต ของคน ‘รุ่นใหม่’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

โอกาสในชีวิต

ของคน ‘รุ่นใหม่’

 

ผมนั่งเขียนบทความคราวนี้อยู่ที่สนามบินนานาชาติของประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ไกลออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์มาประมาณหนึ่งชั่วโมง กำลังนั่งรอขึ้นเครื่องบินจะกลับบ้านครับ ช่วงเวลาสามวันที่ผ่านมาคือวันศุกร์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ ผมจัดตารางชีวิตของตัวเองให้มานั่งๆ นอนๆ อยู่ที่นี่ โดยไม่มีนัดหมายกิจกรรมใดเป็นพิเศษ

ตื่นมาแต่เช้าก็หาอะไรกิน กินเสร็จก็งีบเสียหน่อย ตื่นมาก็ได้เวลามื้อกลางวันแล้ว กินข้าวกลางวันเสร็จถ้ายังมีแรงก็ไปเดินห้างสรรพสินค้าสักชั่วโมงหนึ่ง แล้วรีบกลับมานอนเอาแรงอีกรอบหนึ่งเพื่อเตรียมตัวกินข้าวเย็น กินข้าวเย็นเสร็จก็กระวีกระวาดกลับมานอนจะได้ฟื้นตื่นมาตอนเช้าเพื่อกินข้าวเช้าต่อไป

ใช้ชีวิตเป็นคนบ้าอย่างนี้ 72 ชั่วโมง สบายดีเป็นบ้า

 

ระหว่างที่อยู่ที่นี่ไม่มีอะไรทำก็เฝ้าสังเกตสังกาชีวิตรอบตัวไปเรื่อยๆ นอกจากต้นไม้ขนาดใหญ่และความชุ่มชื่นของสีเขียวขจีที่พบเห็นได้ทั่วไปแล้ว อีกอย่างหนึ่งพี่พอสังเกตเห็นได้ คือ ความแตกต่างระหว่างประชากรของประเทศมาเลเซีย ซึ่งอาจจำแนกได้เป็นสองหรือสามกลุ่ม

กลุ่มแรก คือประชากรที่เป็นชาวมาเลเซียและเป็นมุสลิม ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด มีคำเรียกเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ภูมิบุตร” ในความหมายประมาณว่าเป็นเชื้อสายลูกหลานของเจ้าของแผ่นดินมาแต่เดิม ประชากรที่เป็นกลุ่มนี้น่าจะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณสองในสามของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 33 ล้าน

กลุ่มที่สอง คือประชากรที่เป็นคนเชื้อสายจีน เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าคนจีนนั้นอพยพออกไปเป็นคนอื่นโพ้นทะเลอยู่ในประเทศต่างๆ มาช้านานแล้ว ในบ้านเราก็เป็นปกติธรรมดาที่จะมีประชากรคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยเป็นพลเมืองของประเทศ รวมทั้งคนที่เขียนบทความเรื่องนี้ด้วย จำนวนคนมาเลเซียที่มีเชื้อสายจีนคิดเป็นตัวเลขประมาณเกือบหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด

ส่วนกลุ่มที่สาม คือประชากรที่มีเชื้อสายอินเดีย ส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงาน อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มีฐานะอยู่ล่างสุดของสังคมมาเลเซีย

นอกจากนั้น ก็มีคนต่างชาติต่างภาษาอื่นๆ เข้ามาทำงานชั่วคราว เป็นระยะเวลายาวบ้างสั้นบ้าง โดยเฉพาะยิ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในย่านที่ผมอาศัยพักแรมอยู่สองสามคืนนั้น มีคนหลากหลายมาก ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งชาติต่างๆ รวมทั้งคนไทยอย่างผมไปแอบแฝงอยู่ เป็นย่านที่หรูหราหมาเห่าพอสมควร

เหมาะกับผมยิ่งนัก อิอิ

 

เรื่องที่น่าสนใจและจะนำมาพูดคุยกันวันนี้ไม่ใช่เรื่องย่านที่ผมไปอยู่ค้างแรมหรอกครับ แต่ผมอยากจะเล่าถึงประสบการณ์และความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ได้พบเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างคนที่เป็นภูมิบุตรและผู้ที่ไม่ใช่ภูมิบุตร

ภูมิบุตรนั้น ได้รับการส่งเสริมให้มีโอกาสเหนือกว่าคนที่มิใช่ภูมิบุตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมาเลย์เชื้อสายจีนในหลายเรื่องอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะสอบแข่งขันเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ เด็กนักเรียนที่เป็นภูมิบุตรจะมีคะแนนแถมพิเศษเป็นทุนตั้งต้นไว้ก่อนเท่านั้นเท่านี้คะแนน เมื่อบวกกับคะแนนที่ตัวเองทำได้ด้วยฝีมือ คะแนนรวมย่อมสูงกว่าคนที่ไม่มีคะแนนทุนตุนไว้เป็นธรรมดา

ถ้าคนมาเลย์เชื้อสายจีนเกิดอยากรับราชการขึ้นมา ก็ต้องทำใจไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ชีวิตราชการจะก้าวหน้าไปได้ไม่ไกลนัก เพราะถ้าเป็นตำแหน่งระดับสูง ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะสนับสนุนแต่คนที่เป็นภูมิบุตรเท่านั้น เราจึงจะไม่เห็นคนมาเลย์เชื้อสายจีนเป็นอธิบดีหรือปลัดกระทรวงขึ้นมาได้

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล แต่สิ่งที่เป็นจริงคือคนมาเลย์เชื้อสายจีนเมื่อไม่อยู่ในราชการแล้วก็ต้องไปเอาดีในทางธุรกิจ กิจการค้าที่เจริญรุ่งเรืองจึงอยู่ในมือของคนเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก

พ่อแม่ที่มีกิจการค้ารุ่งเรืองอย่างที่ว่า ย่อมนิยมสนับสนุนให้ลูกหลานของตัวเองเรียนต่อในระดับสูง โดยส่งไปเรียนต่างประเทศ เช่น ไปอังกฤษหรือออสเตรเลีย

ไม่ต้องรอกินน้ำใต้ศอกใคร

เด็กรุ่นใหม่บางคนเมื่อไปเรียนหนังสือต่างประเทศอย่างที่ว่า ได้เห็นช่องทางทำมาหากินและได้เห็นโอกาสที่จะมีวิถีชีวิตที่ดีกว่าการอยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง เป็นชีวิตที่มีเสรีภาพมีความเสมอภาค เขาก็เลือกที่จะอยู่ต่างประเทศโดยไม่กลับบ้าน

เรียกว่าเป็นปัญหา “สมองไหล” ที่น่าเสียดายเป็นที่สุด

อ่านบทความเรื่องนี้มาถึงตรงนี้แล้ว ลองย้อนกลับขึ้นไปอ่านสองย่อหน้าก่อนบรรทัดนี้หน่อยไหมครับ

ข้อความสองย่อหน้าดังกล่าวมีความเป็นสากลพอสมควร ไม่เฉพาะเจาะจงแต่ประเทศมาเลเซียหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง พูดกันอย่างไม่เกรงใจ ผมก็อยากจะบอกว่าข้อเท็จจริงอย่างนี้เกิดขึ้นได้ในทุกที่ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

สำนวนโบราณที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” ก็ได้ยินกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

 

เมื่อผมเป็นเด็กนักเรียนมัธยม ผมได้ไปดูละครเรื่อง สมเด็จพระนเรศวร ของอาจารย์สมภพ จันทรประภา อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้แต่งที่โรงละครแห่งชาติ เนื้อเรื่องตอนหนึ่งพูดถึงคนไทใหญ่มีความเดือดร้อนจากการอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจึงหนีเข้ามาพึ่งพระบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า

อาจารย์สมภพท่านเขียนกลอนไว้ว่า “น้ำไหนยังฝั่งไหนเย็นเป็นที่พึ่ง ย่อมดูดดึงมัจฉามาอาศัย วิหคพึ่งร่มโพธิ์ร่มไทร เมื่อรำไพส่องแสงแรงร้อน…”

เวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว กลอนบทดังกล่าวก็ยังไม่ล้าสมัยเลย

ยิ่งในสมัยที่โลกยุคปัจจุบัน การอพยพถิ่นฐานจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศสำหรับบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และสำหรับประชากรในระดับปานกลาง ความคิดจะย้ายถิ่นฐานที่อยู่จากประเทศของตนไปยังอีกประเทศหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด

ถึงแม้จะมีความยากเย็นเพียงใดก็ตาม ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ คนเราก็ยังมีความฝันมิใช่หรือ

การให้คุณค่ากับโอกาสที่ดีกว่าชีวิต การให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค เป็นเรื่องที่คนที่ไม่ขาดแคลนในเรื่องเหล่านั้นไม่อาจเข้าใจได้โดยง่าย

และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าผู้ที่ให้ความคุณค่ากับเรื่องดังกล่าวเขาไม่คิดจะย้ายประเทศ แต่เขาตั้งใจที่จะอยู่ที่ตรงนี้ แล้วมุ่งมั่นทำให้ประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาสามารถให้โอกาสที่ดีกว่ากับทุกชีวิตอย่างเสมอหน้ากัน เป็นแผ่นดินที่ทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมายอย่างแท้จริง ผมก็เห็นว่าเป็นของปกติธรรมดาและควรชื่นชมด้วยซ้ำ

อย่าได้เป็นคิดเสือกไสไล่ส่งเขาไปอยู่ที่อื่นเลย

 

ผมหวังว่าในสนามเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ประเด็นเรื่องของโอกาสในชีวิตของคนรุ่นใหม่ ความเท่าเทียมเสมอภาคกัน สิทธิเสรีภาพที่ได้รับการประกันโดยกฎหมาย จะเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองต่างๆ จะหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติเมื่อมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นแล้ว

อย่าให้การเลือกตั้งเป็นแต่เพียงละครการเมืองอีกฉากหนึ่งที่คนไทยไม่อาจฝากความหวังไว้ได้ (เหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา) เลย

ไปต่างประเทศมาเพียงแค่สองสามวันแล้วคิดเลยเถิดไปถึงเพียงนี้

สงสัยว่าผมต้องเก็บหอมรอมริบไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ เสียละกระมัง