เทศมองไทย : จาก “คอคอดกระ” ถึง “อีอีซี” กับโอกาสปรับนโยบายของไทย

“ฉีหลิน” นักวิเคราะห์อิสระชาวอเมริกันเชื้อสายจีนในวอชิงตัน ดี.ซี. ตั้งคำถามเอาไว้ในบทวิเคราะห์ซึ่งเผยแพร่ผ่านทาง “โกลบอล ริสก์ อินไซต์ส” หรือ “จีอาร์ไอ” เมื่อ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ชนิดจำเพาะเจาะจงมากว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกัน จะสามารถพลิกผันแนวทางการเคลื่อนเข้าหาจีนของพันธมิตรสำคัญอย่างไทยได้หรือไม่?

ทรัมป์ไม่ได้เดินทางมาเยือนไทยก็จริง แต่ผู้นำสหรัฐอเมริกากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำไทย เพิ่งพบกันเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และกำลังจะพบกันอีกครั้งในระหว่างการประชุมกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ที่ดานัง ประเทศเวียดนามในอีกไม่ช้าไม่นาน

คำถามซ้ำๆ นี้จึงมีนัยสำคัญชวนจับตามองมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ข้อสังเกตของนักวิเคราะห์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้าน “ความมั่นคง” ในเอเชียตะวันออกและกิจการจีนรายนี้ก็คือ นับตั้งแต่ทรัมป์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐเรื่อยมา สัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายก็เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความเป็นพันธมิตรขยับขยายเพิ่มเติมมากขึ้นจากเดิม ซึ่งทรุดลงอย่างหนักหลังรัฐประหารเมื่อปี 2014

และเป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันไทยให้ไหลเลื่อนเข้าหารัฐบาลจีนมากขึ้นทุกทีในห้วงเวลานั้นมาจนถึงขณะนี้

ความเห็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในสายตาของ ฉี หลิน ไทยใกล้ชิดกับจีนมากแล้ว มากถึงขนาดไทยกลายเป็นประเทศที่มี “บทบาทสำคัญ” ในความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (วัน เบลต์ วัน โรด อินนิเชียทีฟ-บีอาร์ไอ) ของจีน มีความสำคัญไม่เพียงเพราะ “เส้นทางรถไฟความเร็วสูง” ที่ผ่านจากลาวเข้ามาสู่ไทยเท่านั้น ยังมีความหมายสูงยิ่งเพราะ “คอคอดกระ” อีกด้วย

ฉี หลิน บอกว่า คอคอดกระสำคัญสำหรับจีนมาก เพราะสามารถเชื่อมต่อทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดียเข้ากับทะเลจีนใต้ในฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

หาก “คลอง” คอคอดกระเป็นความจริงขึ้นมาได้ ก็จะกลายเป็น “ทางเลือก” เพิ่มเติมสำหรับใช้ทดแทน “ช่องแคบมะละกา” ซึ่งในยามนี้เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญเส้นทางเดียวที่เชื่อมมหาสมุทรทั้งสองเข้าด้วยกัน สินค้าที่ซื้อขายกันทั่วโลกราว 1 ใน 3 ต้องผ่านช่องแคบแห่งนั้น เช่นเดียวกับโภคภัณฑ์ที่เป็น “หัวใจ” ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ 1 ใน 3 ของปริมาณการซื้อขายทั่วโลกต้องผ่านช่องแคบมะละกาเช่นเดียวกัน

จีนถือว่าการที่สินค้าและเชื้อเพลิงเหล่านั้นต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในการกำกับดูแลของสิงคโปร์เท่านั้น เป็นจุดเปราะบาง เป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของตน

สำหรับไทย ทั้งเส้นทางรถไฟ ทั้งคลอง ถือเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนา เป็นโครงการใหญ่ที่ทำให้สถานะ “ทรานสปอร์ต ฮับ” ของไทยประจำภูมิภาคแข็งแกร่งยิ่งขึ้น หนุนเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัว และเพิ่มเสน่ห์ให้กับ “ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก” หรือ “อีอีซี” ขึ้นมาอีกอักโข

 

ในเวลาเดียวกัน ฉี หลิน เห็นว่า “อเมริกาเฟิร์สต์” นโยบายที่ถูกค่อนแคะไปทั่วโลกของ โดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนเอื้อต่อการฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาไม่น้อย

นโยบายที่เน้นให้ความสำคัญกับตัวเองก่อนอื่นดังกล่าว ช่วยให้สหรัฐสามารถจัดเรียงลำดับความสำคัญในนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ หันมาให้น้ำหนักกับการค้าของตัวเองกับผลประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้นและมากกว่าประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชน ที่เคยเป็นตัวกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ผ่านมา

ผลก็คือ สัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาอบอุ่นขึ้น เริ่มมีการหารือเชิงยุทธศาสตร์กันอีกครั้งและเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ทางด้านการทหารระหว่างกันมากขึ้นกว่าเดิม

การซ้อมรบร่วมสำคัญอย่างคอบร้าโกลด์ ที่เคยถูกลดจำนวนผู้เข้าร่วมจากกองทัพอเมริกันเหลือเพียง 3,600 นายจาก 9,500 นาย ก็เริ่มกลับคืนสู่รูปแบบและความสำคัญใหม่อีกครั้ง ถึงขนาดที่ พลเรือเอกแฮร์รี แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐอเมริกาภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เดินทางมาเข้าร่วมด้วยตัวเอง และเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ดีเฟนซ์ ซีเคียวริตี้ คอร์ป เอเยนซี่ ก็เพิ่งอนุมัติการขายจรวดฮาร์พูน บล็อก 2 ให้กับไทย

ฉี หลิน บอกว่า เมื่อทรัมป์กับนายกฯ ประยุทธ์พบหน้ากันในตอนต้นตุลาคม ถ้อยแถลงร่วมของทั้งสองเน้นถึงการทำให้พันธะทางการทหารแน่นแฟ้นมากขึ้น และการ “คาดหวัง” ของทางการวอชิงตันต่อไทยในอันที่จะมีบทบาท “เพิ่มขึ้นจากเดิม” ในความพยายามแก้ไขปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือและปัญหาในทะเลจีนใต้ พร้อมกับย้ำอีกครั้งถึงพันธะของสหรัฐในอันที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย

โอกาสพบกันอีกครั้งที่ดานัง จึงเป็นโอกาสสำคัญของทรัมป์สำหรับการโน้มน้าวให้พันธมิตรสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไทยเปลี่ยนทิศทางหันกลับมาพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกครั้ง

และก็ถือเป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นกันที่จะปรับทิศทาง จูนนโยบายต่างประเทศของไทยเสียใหม่ให้กลับคืนสู่สมดุล และระแวดระวังอีกครั้ง

ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการ “เสนอ” และ “สนอง” เกิดขึ้นหรือไม่นั่นเอง