‘คลื่นความร้อน’ ในฤดูหนาวที่ยุโรป | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
แผนภาพแสดงอุณหภูมิของพื้นที่ต่างๆ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2023 ที่มา : https://twitter.com/scottduncanwx/status/1609643109100445701

ช่วงรอยต่อปีเก่ากับปีใหม่ที่ผ่านมานี้ คือ 30 ธันวาคม ค.ศ.2022 ถึง 2 มกราคม ค.ศ.2023 มีเหตุการณ์ฝนฟ้าอากาศครั้งสำคัญระดับโลกเกิดขึ้น นั่นคือ เกิดคลื่นความร้อนในฤดูหนาว (winter heat wave) ขึ้นในทวีปยุโรป

เหตุการณ์ไม่ธรรมดาครั้งนี้สมควรบันทึกเอาไว้ครับ เพราะแม้ว่ายุโรปเกิดคลื่นความร้อนได้เป็นระยะก็จริง แต่ช่วงเวลามักจะเป็นฤดูร้อนหรืออาจลามไปถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง (ของทางแถบซีกโลกเหนือ) เช่น คลื่นความร้อนที่ยุโรปในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2019 และช่วงวันที่ 12 มิถุนายน ถึง 12 กันยายน ค.ศ.2022 เป็นต้น

คลื่นความร้อนครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก ส่งผลให้เกิดการทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดในเดือนมกราคมกว่า 5,000 รายการ ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ลีชเทินชไตน์ สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลารุส ลิทัวเนีย เดนมาร์ก และลัตเวีย

ยิ่งไปกว่านั้น คลื่นความร้อนครั้งนี้ยังทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในช่วง 10 ถึง 20 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ คอร์เบียลูฟ (Korbielów) ในโปแลนด์ ซึ่งปกติแล้วช่วงเปลี่ยนปีมีอุณหภูมิราว 1 องศาเซลเซียส แต่ครั้งนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิระดับนี้เป็นค่าสำหรับเดือนพฤษภาคม (ซึ่งโปแลนด์อยู่ในฤดูใบไม้ผลิ)

บางพื้นที่ของเบลารุส ซึ่งปกติแล้ววันขึ้นปีใหม่มีอุณหภูมิราว 0 องศาเซลเซียส แต่ครั้งนี้กลับมีอุณหภูมิสูงถึง 16.4 องศาเซลเซียส ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2023

อุณหภูมิระดับ 19 หรือ 16.4 องศาเซลเซียสนี่มองเผินๆ ดูเหมือนจะเย็นสบายก็จริง แต่อย่าลืมว่ามันเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของยุโรปซึ่งตามปกติควรจะมีอุณหภูมิราวๆ 0 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่งครับ!

ลองคิดดูว่า…บ้านเราปกติมีอุณหภูมิเฉลี่ยราว 25 องศาเซลเซียส แต่สมมุติว่าจู่ๆ ก็เกิดร้อนขึ้นอีก 15 องศา กลายเป็น 40 องศาเซลเซียส นานราว 2-3 วัน จากนั้นก็กลับมาเป็นปกติ เราก็คงรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

ฝรั่งบางคนบอกว่า (อุณหภูมิ 10 กว่าองศา) “ถือเป็นอากาศที่ดีสำหรับปั่นจักรยาน แต่เรารู้ว่ามันเหมือนกับว่าโลกกำลังถูกแผดเผา” และ “เราเพลิดเพลินกับอากาศแบบนี้ก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกหวาดหวั่น”

ทางด้านมักซิมิเลียโน เอร์เรรา (Maximiliano Herrera) นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์ด้านลมฟ้าอากาศ ซึ่งเก็บสถิติเกี่ยวกับภูมิอากาศและสภาพฝนฟ้าอากาศแบบสุดขีดกล่าวว่า หากใช้เกณฑ์ที่ว่าอุณหภูมิได้สูงขึ้นกว่าค่าปกติมากแค่ไหน ย่อมถือได้ว่าเหตุการณ์นี้ “เป็นคลื่นความร้อนที่เกิดแบบสุดขีดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของยุโรป” เลยทีเดียว

น่ารู้ด้วยว่าเขาได้ก่อตั้งเว็บ Extreme Temperatures Around the World ซึ่งเก็บข้อมูลอุณหภูมิสุดขีดทั่วโลกไว้ด้วยที่ https://www.mherrera.org/temp.htm (ลองเข้าไปดูมีสถิติอุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุดของประเทศไทยด้วย)

ผลกระทบของคลื่นความร้อนในฤดูหนาวครั้งนี้มีอะไรบ้าง?

 

ถึงแม้คลื่นความร้อนในฤดูหนาวจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตเท่ากับคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในฤดูร้อนก็ตาม

อย่างครั้งรุนแรงที่สุดคือ คลื่นความร้อนในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2003 ซึ่งคร่าชีวิตคนยุโรปไปถึง 71,000 คน และทำให้เกิดไฟป่าในโปรตุเกสกินพื้นที่ถึง 740,000 เอเคอร์ (หรือราว 1.9 ล้านไร่) แต่คลื่นความร้อนในฤดูหนาวยังสามารถส่งผลกระทบด้านต่างๆ ได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียวครับ

ตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ในสาธารณรัฐเช็กรายงานว่าต้นไม้บางชนิดเริ่มผลิดอก ส่วนในสวิตเซอร์แลนด์ องค์กรด้านอุตุนิยมวิทยาและภูมิอากาศวิทยาได้ออกประกาศเตือนผู้แพ้ละอองเรณูจากต้นฮาเซลซึ่งผลิดอกเร็วกว่าปกติ

นอกจากนี้ การที่ไม่ค่อยมีหิมะปกคลุมภูเขายังอาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมาอีกด้วย

ทั้งนี้เพราะหิมะที่ปกคลุมพืชทำตัวเป็นฉนวนความร้อนช่วยป้องกันไม่ให้พืชเจออากาศที่หนาวเย็นจัดจนเกินไป ส่วนหิมะที่ปกคลุมผิวดินอยู่เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิซึ่งอากาศอุ่นขึ้น ก็จะละลายกลายเป็นน้ำซึมลงสู่ดิน ทำให้ดินชุ่มชื้น ดังนั้น การขาดหิมะในช่วงเวลาหนึ่งย่อมอาจส่งผลต่อพืชได้

อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นมากอาจทำให้สัตว์บางชนิดที่กำลังจำศีลในช่วงฤดูหนาว “ถูกหลอก” ให้ตื่นขึ้นมา เพราะคิดว่าถึงฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่เมื่อความหนาวเย็นกลับมาอีกครั้ง สัตว์เหล่านี้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้

นอกจากนี้ สัตว์บางชนิดที่เปลี่ยนขนเป็นสีขาวในช่วงฤดูหนาวเพื่อพรางตัว เช่น กระต่ายภูเขาและนกทาร์มิแกนก็อาจประสบปัญหา เพราะสัตว์พวกนี้เปลี่ยนสีขนตามความยาวของช่วงกลางวัน (ไม่ได้เปลี่ยนตามอุณหภูมิหรือปริมาณหิมะ) ผลก็คือ เมื่อไม่มีหิมะสีขาว แต่ตัวมันเองกลายเป็นสีขาว มันจึงกลายเป็นเป้าที่อาจถูกผู้ล่าโจมตีได้โดยง่าย

ตามปกติสถานที่ให้บริการเล่นสกีหิมะช่วงนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นความร้อน ผลก็คือหลายแห่งต้องปิดทำการเนื่องจากไร้หิมะ ตัวอย่างเช่น ที่ภูเขายาโฮรินาที่อยู่เหนือเมืองซาราเยโวซึ่งเป็นเมืองหลวงของบอสเนีย สถานที่แห่งนี้เคยจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 1984

ส่วนรีสอร์ตบางแห่งก็ปรับตัวโดยเปิดเส้นทางขี่จักรยานบนภูเขาแทนการเล่นสกีซะเลย

แม้แต่วิกฤตการณ์พลังงานที่เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ยังได้รับผลกระทบในเชิงบวกด้วยนะครับ

เพราะในสงครามครั้งนี้ รัสเซียเล่นงานประเทศในยุโรปที่สนับสนุนยูเครนโดยจำกัดการส่งแก๊สธรรมชาติให้ อีกทั้งหลายประเทศก็ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ผลก็คือก๊าซซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตความร้อนมีราคาสูงขึ้นตามกฎอุปสงค์-อุปทาน

แต่คลื่นความร้อนได้ส่งผลให้ความต้องการก๊าซเพื่อผลิตความร้อนลดลง จึงส่งผลดีในระยะสั้นต่อหลายประเทศ ในกรณีของยูเครน นายอันโตน เกราชเชงโก ที่ปรึกษาของรัฐบาลยูเครนได้ทวีตข้อความในวันขึ้นปีใหม่ว่า “ปูตินต้องการแช่แข็งพันธมิตรของยูเครนและเอาชนะยูเครน แต่กลับกันแม้แต่สภาพลมฟ้าอากาศก็ยังเข้าข้างพวกเรา”

พูดแบบเล่นๆ ได้ว่า ‘นายพลฤดูหนาว’ หรือ ‘General Winter’ อันเลื่องชื่อของรัสเซียหยุดพักงานชั่วคราวในช่วงเกิดคลื่นความร้อน

ทว่า หน่วยข่าวกรองพลเรือนชื่อ ยูโรอินเทลลิเจนซ์ (Eurointelligence) ได้เตือนว่าเรื่องนี้ไม่ควรทำให้รัฐบาล (ของประเทศต่างๆ) เกิดความรู้สึกชะล่าใจต่อประเด็นวิกฤติการณ์พลังงาน (เพราะคลื่นความร้อนมาแล้วก็ไป ส่วนฤดูหนาวยังอยู่ตามธรรมชาติ)

คลื่นความร้อนในฤดูหนาวที่ยุโรปครั้งนี้เกิดจากอะไร?

 

ในช่วงที่ส่งต้นฉบับบทความนี้ (ปลายเดือนมกราคม ค.ศ.2023) มีคำอธิบาย 2 แนวทาง อย่างนี้ครับ

แนวทางแรก – นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสของ UK Met Office ชื่อ อเล็กซ์ เบอร์คิลล์ (Alex Burkill) ระบุว่า มวลอากาศอุ่นเคลื่อนจากบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกาเข้าสู่ทวีปยุโรป เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “มันเป็นความร้อนจัดที่เคลื่อนผ่านพื้นที่กว้างใหญ่มาก ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว ไม่เคยพบเจอมาก่อน”

แนวทางที่สอง – สื่อต่างประเทศจำนวนหนึ่งอธิบายว่า คลื่นความร้อนครั้งนี้เกิดจากปรากฏการณ์โดมความร้อน (heat dome) ซึ่งเป็นบริเวณที่อากาศถูกความกดอากาศสูงที่อยู่เหนือขึ้นไปบีบอัดลงมาโดยอากาศในบริเวณนี้หนีไปไหนไม่ได้ ในทางอุตุนิยมวิทยา เรียกปรากฏการณ์ที่ว่านี้ บล็อก (block)

สาเหตุการเกิดที่แท้จริง รวมทั้งคำตอบของคำถามที่ว่า คลื่นความร้อนในฤดูหนาวครั้งนี้เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือไม่? คงต้องรอผลสรุปจากงานวิจัยที่เชื่อถือได้ต่อไปครับ

 

เพื่อให้ข้อมูลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขอบันทึกเหตุการณ์คล้ายกันที่ญี่ปุ่นเอาไว้สักหน่อยครับ คือหลังจากเหตุการณ์คลื่นความร้อนที่ยุโรปราว 10 วัน เพจ Meteorologist Sayaka Mori รายงานว่าวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม ค.ศ.2023 หลายพื้นที่ในญี่ปุ่นมีสภาพลมฟ้าอากาศเหมือนฤดูใบไม้ร่วงทั้งๆ ที่เป็นฤดูหนาว อุณหภูมิสูงสุดในเดือนมกราคมทุบสถิติอย่างน้อย 10 แห่ง โดยเมืองฮะงิ (Hagi) มีอุณหภูมิสูงถึง 19.2 องศาเซลเซียสซึ่งสูงกว่าค่าปกติถึง 9.7 องศาเซลเซียส และในวันรุ่งขึ้นอากาศอุ่นนี้จะแผ่ขึ้นไปทางตอนเหนือของญี่ปุ่นซึ่งปกคลุมไปด้วยหิมะ

พอถึงวันรุ่งขึ้นคือวันศุกร์ที่ 13 มกราคม เพจดังกล่าวรายงานว่า อุณหภูมิสูงสุดในเดือนมกราคมทุบสถิติอย่างน้อย 71 แห่งในญี่ปุ่น โดยอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าปกติราว 10 องศาเซลเซียสได้ทำให้หิมะละลายเพิ่มขึ้น

อันที่จริง คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะใน ค.ศ.2019 เคยเกิดที่สหราชอาณาจักรมาแล้วในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ และใน ค.ศ.2021 เคยเกิดขึ้นในบางส่วนของทวีปยุโรปและบางส่วนของทวีปเอเชียมาแล้วในช่วงวันที่ 20-28 กุมภาพันธ์

เนื่องจากคลื่นความร้อนในฤดูหนาวได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง จึงเป็นไปได้ที่ว่าเหตุการณ์ฝนฟ้าอากาศสุดขีดเช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นอีกในอนาคต ต้องจับตาดูกันต่อไป