ประธานศาลฎีกา ลุคสปอร์ตแมน ชู ‘รักศาล ร่วมใจ รับใช้ปชช.’ ขอเป็นที่พึ่งสุดท้ายแท้จริง

เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ที่โชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 48

หลังดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ได้มอบนโยบาย “รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน” (Solidarity, Unity, and Public Service) แก่ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ

“ผมกำหนดนโยบายนี้ขึ้นในการบริหารราชการศาลยุติธรรม มีเป้าหมายสูงสุด คือการ “รับใช้ประชาชน” หรือการให้บริการประชาชน ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม” ประธานศาลฎีกาเกริ่นนำเข้าสู่นโยบาย

พร้อมกล่าวต่อว่า การพัฒนาไปสู่เป้าหมาย ต้องเริ่มจากภายในองค์กรศาลเอง คือ การเสริมสร้างความรักความผูกพันในองค์กร มุ่งเน้นความสามัคคีและการทำงานเป็นทีม ตรงนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “รักศาล”

ส่วน “ร่วมใจ” คือ การร่วมมือร่วมใจรวมพลังทุกฝ่าย เพราะศาลยุติธรรมทั่วประเทศมีอยู่เกือบ 300 ศาล ถ้าหากทุกศาลร่วมมือกัน เห็นความสำคัญในการทำงานเพื่อประโยชน์ประชาชนจะมีพลังที่ยิ่งใหญ่และมีผลงานปรากฏเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนรับรู้ได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการให้บริการประชาชน

นโยบาย “รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน” โชติวัฒน์บอกว่า ไม่ได้ทำขึ้นมาให้สวยหรูแล้วจบไป แต่ต้องการความสำเร็จ ต้องการผลงานที่เป็นรูปธรรม ให้เกิดแก่ระบบงานศาลยุติธรรม สุดท้ายแล้วประโยชน์ตกแก่ประชาชน เป็นการวางหลักวางรากฐานเอาไว้ให้ประธานศาลฎีกาที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อไป สานต่อให้ดียิ่งๆ ขึ้น

 

ลําพังการอธิบายให้ผู้บริหารศาลรับรู้ อาจจะยังไม่เพียงพอ ประธานศาลฎีกาจึงได้วางแผนตรวจเยี่ยมศาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะทราบว่า ผู้ปฏิบัติเข้าใจ รับรู้ถึงที่มาที่ไปของนโยบาย และยังสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรด้วย เพราะจังหวัดไกลๆ ไม่มีผู้บริหารไปเยี่ยมบ่อยนัก

“การที่ผมเดินทางไป ย่อมเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่บุคลากรว่า ผู้บริหารสูงสุดได้มาเยี่ยม ให้ความสำคัญแก่บุคลากรทุกภาคส่วน แม้อยู่ไกลแค่ไหนก็ยังไป” ประมุขตุลาการบอก

เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม คณะประธานศาลฎีกาไปตรวจเยี่ยมศาลยุติธรรมในภาค 9 เป็นที่แรก ใช้เวลา 4 วัน ประเดิมศาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

วันถัดไป ไปสงขลา พัทลุง และตรัง แต่ด้วยระยะเวลาอันจำกัด มีบางศาลที่ไม่สามารถไปได้ เพราะอยู่ไกล เช่น ศาลจังหวัดเบตง ได้เชิญให้บุคลากรมาสมทบที่ศาลจังหวัดยะลา เช่นเดียวกับศาลจังหวัดนาทวี ได้เชิญมาพบปะพูดคุยที่ศาลจังหวัดสงขลา

และวันสุดท้าย ตรวจเยี่ยมศาลในจังหวัดตรังและสตูล

ถามว่าทำไมเลือกพื้นที่ภาค 9 เป็นแห่งแรก ได้รับคำตอบว่า “เป็นจังหวัดอยู่ไกลที่สุด ที่สำคัญเป็นที่ตั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง การที่ผมไปเยี่ยมบุคลากรในพื้นที่ เพราะตั้งใจอยากจะไปให้กำลังใจทุกๆ คน ทำให้เขาอุ่นใจว่าผู้นำองค์กรพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างและดูแลเขา จากการตรวจเยี่ยมพบว่าทุกคนมีกำลังใจในการปฏิบัติงานที่ดี”

ถัดมา เดือนพฤศจิกายน 2565 ได้ไปตรวจเยี่ยมศาลยุติธรรมในภาค 4 คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย แล้วปิดท้ายที่จังหวัดเลย ทริปนี้ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน

ล่าสุดตรวจเยี่ยมศาลภาคเหนือ แต่ยังไปไม่หมดทั้งภาค ปลายเดือนมกราคมจะไปอีกครั้ง ทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจะไปถึงศาลจังหวัดแม่สะเรียง ที่ไม่มีผู้ใหญ่ไปเยี่ยมมาแล้วหลายปีแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้แบ่งเวลาไปตรวจเยี่ยมศาลในกรุงเทพฯ เช่นกัน

 

ประธานศาลฎีกากล่าวว่า การตรวจเยี่ยมศาล สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะเข้าไปดูแล คือ เรื่องของการบริหารจัดการคดี ซึ่งปกติจะให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศรายงานสถิติคดีค้างมา คดีรับใหม่ และคดีแล้วเสร็จ เข้ามาที่ส่วนกลางทางระบบออนไลน์ตลอดทุกเดือน โดยจะมีคณะทำงานที่คอยติดตามวิเคราะห์ประเมินผลข้อมูลดังกล่าว จึงทราบว่าศาลที่จะไปตรวจเยี่ยมมีผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการคดีเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคการทำงานอย่างไร

“การไปตรวจเยี่ยมของผม จะไม่ใช่แค่ไปพบปะพูดคุยทั่วๆ ไป แต่ได้พูดถึงนโยบาย เหตุผลและความจำเป็น ที่ศาลต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงการทำงานที่เน้นการให้บริการประชาชน โดยถือประชาชนเป็นศูนย์กลางให้มากที่สุด ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาในองค์กรศาลยุติธรรม ให้ประชาชนยังคงรู้สึกว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง”

“ผมเน้นย้ำคือ การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา การใช้ดุลพินิจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม เพราะการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เท่ากับว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องถูกคุมขังไว้ จึงพึงต้องใช้ดุลพินิจส่วนนี้ด้วยความระวัง การดำเนินคดีต้องเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม จะอุทธรณ์ฎีกาก็ว่ากันต่อไป ในคดีแพ่งก็สำคัญเช่นกัน เพราะประชาชนที่มาศาลต่างเป็นผู้ที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย ถือว่าทุกคนมีความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีแพ่งก็ต้องช่วยเร่งรัดการพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว การสั่งคำร้อง คำแถลง หรือการมีคำพิพากษา ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน” โชติวัฒน์บอก

 

ประธานศาลฎีกาเป็นคนลพบุรี ชีวิตที่ผ่านมาช่วงที่รับราชการเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นอยู่ต่างจังหวัดมาตลอด โดยอยู่ที่ภาคอีสานนานที่สุด ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เข้าใจถึงการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ และปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรศาลยุติธรรมในต่างจังหวัด จึงสามารถวางแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงระบบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

เมื่อถามว่าการที่ต้องเดินทางไกล เปลี่ยนสถานที่พัก และจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด มีอุปสรรคข้อขัดข้องหรือไม่

“ผมปรับตัวไม่ยาก ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผมพักได้หมด ต้องอยู่ง่ายกินง่าย การเดินทางก็ต้องวางแผนบริหารเวลา อย่างไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอนค้างที่ปัตตานี เช้ามาสงขลาใช้เวลารวม 2 ชั่วโมง ผมก็ต้องออกกันตั้งแต่ 06.30 น. มื้อเช้าจัดเป็นอาหารว่างใส่กล่องไปกินบนรถ เมื่อไปถึงสงขลา ก็ตรวจงานได้เลย” โชติวัฒน์กล่าว

นอกจากมีภารกิจในตำแหน่งประธานศาลฎีกาแล้ว ยังไปตรวจเยี่ยมศาลในต่างจังหวัดด้วย ถือเป็นงานที่หนักมาก การเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ด้วยความเป็นคนเล่นกีฬา ทำให้สุขภาพแข็งแรง ทำงานคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง

ประธานศาลฎีกาเล่าว่า โชคดีที่เล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก สมัยเรียน เล่นกีฬามาตลอด ชอบเล่นบาสเกตบอล เมื่อมาเป็นผู้พิพากษาก็เล่นเทนนิส ตอนแรกว่ายน้ำไม่เป็นก็มาหัดว่ายจนเป็น ว่ายครั้งหนึ่งเป็นกิโลเมตร ก็รู้สึกชอบ ได้ออกกำลังกายเต็มที่ ทำให้สุขภาพดี จิตใจแจ่มใส พร้อมที่จะทำงานเต็มที่เพื่อประชาชน

สำหรับเทนนิส มาหัดเล่นตอนเป็นผู้พิพากษา ถึงปัจจุบันก็เล่นมา 30 ปีแล้ว เป็นตัวแทนนักกีฬาเทนนิสของศาลยุติธรรม ไปแข่งขันตลอด

ถามว่า ได้รางวัลมาบ้างไหม ประธานศาลฎีกาหัวเราะ ก่อนตอบว่า ก็ได้อยู่

ส่วนหนึ่งของ “ประมุขตุลาการ” ลุคสปอร์ตแมน ผลจากการออกกำลังกายทำให้สุขภาพแข็งแรง ลุยภารกิจงานหนักได้อย่างเต็มที่