มุกดา สุวรรณชาติ : ระวัง!…ปัญหาแรงงานต่างด้าว รอบ 2 เปลี่ยนอธิบดี…รัฐมนตรี หรือวิธีทำงาน

มุกดา สุวรรณชาติ

ยุทธศาสตร์…นโยบายใช้ได้
การปฏิบัติ ต้องปรับปรุง

เป้าหมายทางยุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าว ที่รัฐบาลไทยอยากเห็นผลอย่างรวดเร็วคือ…

จัดระบบเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว และเป็นการสกัดการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมาย แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงที่ผ่านมาและในอนาคต การขาดแคลนแรงงานยังเป็นเรื่องที่จะดำรงอยู่ไปอีกหลายปี

23 มิถุนายน 2560 พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้

สาระสำคัญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้คือ การเพิ่มโทษให้มีอัตราที่สูงขึ้น เช่น

นายจ้างที่รับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนหรือมีใบอนุญาตทำงานกับนายจ้างอื่น มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อคน

หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น

ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น

คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากนโยบายไปสู่การปฏิบัติกลับมีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจเพราะ แรงงานต่างด้าวตกใจต่อมาตรการของรัฐบาล

นายจ้างก็ตกใจไม่มีใครกล้าจ้างแรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากแห่เดินทางกลับประเทศ

จน คสช. ต้องตัดสินใจใช้มาตรา 44 ยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน 180 วัน หรือให้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคการผลิตต่างๆ ของประเทศ

หากแรงงานต่างด้าวจำนวนมากออกจากไทยไปทันที โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม โรงแรม ภัตตาคาร และก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นกำลังหลัก ธุรกิจอาจล้มได้

การมียุทธศาสตร์เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะต้องมีวิธีการและมีขั้นตอนในการปฏิบัติที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตและการบริการในประเทศ

 

ผลงาน 4 เดือน
บ่งชี้ปัญหาที่จะตามมา

ถึงวันนี้ลองติดตามผลงานของกระทรวงแรงงานหลังจากที่ทำพลาดมารอบแรก จน คสช. ประกาศใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถ้านับจากเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน การปรับเปลี่ยนให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเมื่อจดทะเบียนให้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย มีผลงานเป็นอย่างไร

1. ที่ทำได้สำเร็จตามกำหนด คือมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา กัมพูชาและลาวที่ผ่านการคัดกรอง (คือรู้ว่าเป็นลูกจ้างของใครทำงานอะไรอยู่ที่ไหน) มีประมาณ 720,000 คน บางคนอาจจะบอกว่านี่เป็นจำนวนน้อยที่เป็นเช่นนี้เพราะบางคนที่เป็นลูกจ้างต่างด้าวไม่อยากจะทำงานต่อแล้วและเตรียมกลับบ้านจึงไม่ได้แสดงเจตจำนงที่จะรับจ้างผ่านระบบใหม่ บางแห่งก็เป็นปัญหาของนายจ้างซึ่งเศรษฐกิจตกและมีความยุ่งยากไม่อยากจะจ้างอีกแล้ว

2. แรงงานบัตรสีชมพูพิสูจน์สัญชาติแล้วซึ่งมีหลักฐานการทำงานชั่วคราว โดยแก้ไขนายจ้างและที่อยู่ให้ตรงกับความเป็นจริง ประมาณ 1.3 ล้านคนได้รับผ่อนผันให้อยู่ถึง 31 มีนาคม 2561 นี่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว แต่จะทิ้งปัญหาไว้อีก 6-8 เดือนข้างหน้า แรงงานเหล่านี้ก็จะหมดช่วงที่ผ่อนผันและจะต้องต่อสัญญาใหม่ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน

3. ปัญหาใหญ่อยู่ที่แรงงานที่ผิดกฎหมาย ที่ต้องรอการพิสูจน์สัญชาติและจดทะเบียนใหม่ แต่ปัจจุบันที่ผ่านมา 4 เดือนทำได้เพียง 116,000 คน ยังเหลืออีกประมาณ 520,000 คน ซึ่งเป็นแรงงานเมียนมายังค้างอยู่อีก 310,000 คน แรงงานกัมพูชาค้างอยู่ 209,000 คน เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์สัญชาติได้ไม่ถึง 300 คน

แรงงานลาว 87,000 คนต้องกลับไปทำไปดำเนินการที่ประเทศลาวซึ่งยังไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่

 

วิกฤตแรงงานต่างด้าว รอบ 2
จะเกิดจากอะไร

1.เมื่อใกล้สิ้นปี 2560 แรงงานประมาณ 5 แสนคนที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นถูกกฎหมายจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายใหม่หลังสิ้นปี 2560 ดังนั้น แรงงานที่รอพิสูจน์สัญชาติและยังทำบัตรไม่เรียบร้อยจะต้องกลับประเทศของตนเอง

2. ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับแรงงานที่ไม่ได้ตั้งใจต่ออายุหรือเปลี่ยนสถานะให้ถูกกฎหมาย แต่ทำงานหาเงินรอเวลาสิ้นปีก็จะกลับบ้าน ก่อนถูกจับ ดังนั้น ในช่วงปลายปีจะมีแรงงานแห่กลับบ้านไม่เพียง 5 แสน แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าเท่าใด อาจจะเป็น 600,000-700,000 คน

3. กลุ่มแรงงานบัตรสีชมพูที่ได้ผ่อนผันอยู่ชั่วคราว 1.3 ล้านคนจะต้องทำบัตรถาวรใหม่ให้เสร็จก่อน 31 มีนาคม ถ้าไม่เสร็จก็ผิดกฎหมาย ต้องออกไปก่อนสงกรานต์ 2561

4. ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแรงงานผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมายขณะนี้จะเห็นว่าทำได้เพียง 16 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 4 เดือน

ที่น่าหนักใจคือแรงงานกัมพูชาเพราะทำได้เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ส่วนลาว การดำเนินการขึ้นอยู่กับประเทศลาวเท่านั้น ขณะนี้จนถึงช่วงสิ้นปี 2560 ทั้งระบบคงไม่สามารถทำได้เกิน 50,000 คน

ถ้าดูจากกำลังที่เป็นจริงของฝ่ายปฏิบัติงานของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง อีกปีหนึ่งก็ยังทำไม่เสร็จ

ตามปกติจะมีแรงงานต่างชาติกลับบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์อยู่แล้วเพื่อเยี่ยมครอบครัว นานประมาณ 1 เดือน ทุกปี แต่การประกาศเส้นตายในเดือนธันวาคม และมีนาคม จะกลายเป็นตัวเร่งให้แรงงานทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย กลับบ้านพร้อมกัน 2 ช่วงเวลา

ดังนั้น นับตั้งแต่ปีใหม่ไปจนถึงสงกรานต์ 2561 วิกฤตขาดแคลนแรงงานจะเกิดขึ้น และจะสร้างความโกลาหลให้กับผู้ที่ใช้แรงงานต่างด้าวถึงขนาดต้องปิดกิจการ ถ้าไม่ป้องกันไว้ก่อน

 

ความรับผิดชอบ
และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้บริหาร

การกำหนดยุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องผิด แต่การนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นเรื่องที่ต้องมีขั้นตอนมาตรการและประเมินความสามารถต่างๆ ให้ถูกต้อง

ความผิดพลาดในเดือนมิถุนายน 2560 ที่จริงถือว่าร้ายแรง การที่รัฐบาลประกาศมาตรการต่างๆ และต้องถอยหลังยอมเปลี่ยนแปลงภายใน 48 ชั่วโมงถือเป็นเรื่องน่าขายหน้า บริหารไม่เป็น

ถ้าเป็นบางประเทศ ผู้รับผิดชอบต้องลาออกไปแล้ว แม้จะปรับ ครม. ในช่วงนี้ เปลี่ยนผู้รับผิดชอบกระทรวงแรงงานตั้งแต่อธิบดีถึงรัฐมนตรีก็ยังแก้ไขไม่ได้

แต่ถ้าจะเปลี่ยนต้องหาคนเก่งจริงๆ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องแรงงาน ต้องใช้มืออาชีพที่เก่งมากๆ เหมือนบังคับเรือในทะเลที่มีคลื่นลม เอามือสมัครเล่นมาทำไม่ได้

การเปลี่ยนสถานะแรงงานผิดกฎหมายเป็นล้านคนให้ถูกกฎหมาย ให้ทันเวลามิได้ขึ้นอยู่กับแรงงานหรือนายจ้าง แต่อยู่ที่ความสามารถในการรองรับที่จะจดทะเบียนแรงงานของทางราชการ ถ้าทำได้วันละ 2,000 คน คงต้องใช้เวลาเกิน 1 ปี

และถ้าจะใช้มาตรการผ่อนผัน ควรจะมีแผนการที่แน่นอน ประเมินความสามารถของฝ่ายราชการ ประเมินปัญหาของผู้ประกอบการและลูกจ้าง ให้พวกเขามีเวลาคิด มีเวลาตัดสินใจ เพื่อจะไม่ทำให้เกิดกระแสการตื่นกลัว และแห่กลับอย่างที่ผ่านมา

อย่ารอจนถึงปลายเดือนธันวาคมแล้วค่อยตัดสินใจถึงเวลานั้นที่บางคนวางแผนกลับบ้านไปแล้ว เจ้าของกิจการก็ตัดสินใจไปแล้วเช่นกัน เช่น เจ้าของเรือประมงตัดสินใจไปจดทะเบียนเรือในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้แรงงานที่นั่น จับปลาได้ก็ขายที่นั่น ต่อไปธุรกิจอาหารทะเลก็จะย้ายตามไป

 

การปรับวิธีทำงาน

เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่จะต้องรองรับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวซึ่งมีจำนวนนับล้านคนควรทำดังนี้

1. เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะต้องเลื่อนวันบังคับใช้กฎหมายออกไปอีกครั้ง โดยประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งดูจากประสิทธิภาพและวิธีการน่าจะต้องขยายออกไปถึง 1 ปี (ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำถึงกลางคืนยังทำไม่ทัน)

2. กลุ่มแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วมีใบอนุญาตทำงานซึ่งจะบังคับให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ขอให้เลื่อนวันหมดอายุออกไปโดยสามารถมาจ่ายเงินต่อใบอนุญาตทำงานออกไปอีก 1 ปี โดยใช้ระบบต่ออายุแบบง่ายจ่ายเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ เมื่อคนนับล้านไม่เข้ามาที่สำนักงานแรงงาน จะลดภาระของเจ้าหน้าที่ มีเวลาไปรับงานที่จำเป็น และการทำบัตรถาวรควรมีระบบที่จะให้ทยอยมาทำ ให้เวลา และลดค่าใช้จ่าย

3. กระจายงานเรื่องการจดทะเบียนผู้ยังไม่พิสูจน์สัญชาติออกไปตามจังหวัดต่างๆ การรวมศูนย์ทำให้คนรับบริการมีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ทำไม่ทัน ควรใช้เจ้าหน้าที่ ตม. และแรงงานร่วมกันในกรณีระบุสัญชาติ ส่วนการตรวจโรคให้แรงงานและนายจ้างกระจายไปใช้บริการจากโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดตนเอง ซึ่งจะทำให้ลดภาระและลดเวลาที่จะเข้ามารอคอยในศูนย์บริการ คงไม่ต้องถึงขนาดสแกนลายม่านตา เอาพิมพ์นิ้วมือธรรมดาก็น่าจะใช้ได้แล้ว

4. ปัญหาใหญ่คือการร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะะขณะนี้มีข่าวว่าการจะได้รับรองสัญชาติ กลายเป็นเรื่องยาก เนื่องจากบางประเทศมีนโยบายไม่อยากให้คนของตนเองมาทำงานในไทย อยากให้กลับไปทำงานที่ประเทศตน และยังมีเจ้าหน้าที่ของประเทศเหล่านั้นทำมาหากินกับการรับรองสัญชาติ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการทําพาสปอร์ตของแรงงานต่างชาติใช้เวลานาน ใช้เงินมาก เป็นหลักหมื่นในขณะที่พวกเขามีฐานะยากจนมากนี่เป็นปัญหาที่ทำให้แรงงานหลายคนท้อใจและไม่อยากกลับมาทำงาน ทางการไทยจะต้องสร้างความร่วมมือที่จะดำเนินการทําพาสปอร์ต ให้ได้จำนวนมากอย่างรวดเร็วมีค่าใช้จ่ายถูก

5. เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ควรจะมีการพิสูจน์สัญชาติแบบชั่วคราวคือ…เมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่ของชาติใดให้ความร่วมมือได้ทัน แรงงานและ ตม. ของฝ่ายไทยควรจะบันทึกสัญชาติชั่วคราวลงไปก่อน โดยใช้หลักฐานเท่าที่มี เช่น บัตรประชาชนของแรงงานต่างชาติ ซึ่งสามารถนำไปออกบัตรทำงานชั่วคราวได้ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่มีทางจดทะเบียนแรงงานได้เสร็จภายในกำหนด จากนั้นจึงรอคอยการรับรองสัญชาติอย่างเป็นทางการ

6. ระเบียบการของ ตม. ที่ระบุให้แรงงานต่างด้าวต้องไปต่อวีซ่าทุก 3 เดือน เมื่อมีบัตรทำงานแล้วควรเปลี่ยนแปลงให้ยาวนานขึ้น เป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี จะลดงานลง

 

สรุป ก่อนปีใหม่ถึงสงกรานต์จะมีแรงงานต่างด้าวแห่กลับประเทศ

พวกแรก คือพวกที่ผิดกฎหมายและไม่มีความประสงค์จะอยู่ต่อ พวกนี้ต้องปล่อยไป

พวกที่สอง คือถูกกฎหมายแต่อยู่ได้ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561

พวกที่สาม คือพวกที่กำลังดำเนินการให้ถูกกฎหมายแต่ทำไม่ทัน

พวกที่สี่ ไม่มีปัญหาอะไร แต่กลับตามเพื่อน ตามเทศกาลชั่วคราว

โรดแม็ปเลือกตั้งยังเลื่อนมาตั้งหลายครั้ง เลื่อนโรดแม็ปแรงงานทำไม่ยาก