E-DUANG : สัญญาณ จาก ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สัญญาณ จาก ครอบครัวเพื่อไทย

ปรากฎการณ์ที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกมาแสดง “ความเห็น” ต่อการเคลื่อนไหวของ “ทานตะวันกับแบม” กำลังกลายเป็นจุดสนใจเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงเพราะเรียกร้องให้ “ปล่อยตัว” เด็กๆ และมีการทบทวนรายละเอียดของการปฏิบัติ

หากแต่เกิดคำถามว่าเป็นการแสดงออกใน “ฐานะ” อะไร

เป็นฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการนปช. เป็นฐานะของนักเคลื่อน ไหวในภาคประชาชน หรือว่าเป็นการแสดงออกในฐานะแห่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

หากติดตาม “อารมณ์” และ “บทสรุป” ในทางสังคม ที่ปรากฏผ่านโซเชียลมีเดีย มีความพยายามจะโยงไปยังสถานะแห่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน ในเพจของพรรคเพื่อไทยเองก็นำเอารายละเอียดการโพสต์ของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไปรีรันอันเท่ากับเป็นการยอมรับในบทบาทและความหมาย

สายตาจึงไม่เพียงแต่จะมองไปยังพรรคเพื่อไทยหากแต่ยังมองไปยังครอบครัวเพื่อไทย

ก้าวต่อไปของพรรคเพื่อไทย ก้าวต่อไปของครอบครัวเพื่อไทย

 

ความจริงท่าทีของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เช่นนี้มิได้เป็นเรื่องใหม่ เห็นได้จากเมื่อเขาได้รับการปล่อยตัว ความเห็นของเขาต่อ “คนรุ่นใหม่” ก็เป็นเช่นนี้

นั่นก็คือ เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว นั่นก็คือ ขอบคุณที่ “คนรุ่นใหม่” ยอมรับบทบาทของ “คนเสื้อแดง”

อย่าได้แปลกใจที่เมื่อ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จับมือกับ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เคลื่อนไหวอย่างที่เรียกว่า “คาร์ม็อบ” ก็เป็น คาร์ม็อบเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะเดียวกัน ความเห็นของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับ ความ เห็นของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานนปช.ก็เป็นไปในร่องรอยเดียวกัน

คำถามจึงอยู่ที่ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แสดงความเห็นผ่านบทบาทอะไร ในฐานะนปช. หรือในฐานะครอบครัวเพื่อไทย

 

ต้องยอมรับว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดำรงอยู่อย่างเป็น “มวยหลัก” ในทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเลขาธิการนปช. ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

เป็นสายสัมพันธ์ที่ยังแนบแน่นอยู่กับพรรคเพื่อไทยแนบแน่น

การสำแดงออกของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต่อสถานการณ์จาก “ทานตะวันและแบม”

จึงเท่ากับเป็นสัญญาณตรงไปยังภายใน พรรคเพื่อไทย