“รถไฟฟ้าหลากสี” กับ 1 สายวีไอพี ที่สร้างเสร็จเร็วทันใจ…

ปริญญา ตรีน้อยใส

พาไปมอง การขนส่งมวลชนระบบรางของมหานครกรุงเทพ ที่สนุกสนาน วุ่นวาย เพราะมีหลายเจ้าภาพ หลายรูปแบบ หลายขบวนรถ และที่แน่ๆ หลายสี

เริ่มจากสายแรก เมื่อปี พ.ศ.2542 เป็นรถไฟลอยฟ้า เดิมชื่อ สายสุขุมวิท วิ่งจากสถานีหมอชิต ถึงสถานีอ่อนนุช ปัจจุบันขยายไปทางเหนือ ถึงสถานีคูคต ปทุมธานี และทางใต้ ถึงสถานีเคหะฯ สมุทรปราการ

สายนี้บริการมานาน สีเขียวเลยกลายเป็นสีเขียวอ่อน

อีกสายหนึ่ง เริ่มดำเนินการพร้อมกัน คือ สายสีลม จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงสถานีสะพานตากสิน มีการต่อขยายหลายครั้ง หลายวิธี นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ เรื่อยมา ปัจจุบันต่อขยายไปถึงบางหว้า และเรียกขานเหมือนสายแรกว่า สายสีเขียวอ่อน

สองสายแรกนี้ เป็นสัมปทานของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า บีทีเอส

 

สําหรับรถไฟใต้ดิน เริ่มครั้งแรกปี พ.ศ.2546 วิ่งจากสถานีหัวลำโพง ถึงบางซื่อ แล้วเปลี่ยนใจวิ่งลอยฟ้าไปถึงท่าพระ แล้ววนกลับมาลอดแม่น้ำเจ้าพระยา มุดใต้ดิน ผ่านเยาวราช ถึงหัวลำโพง

สายนี้เรียกขานมาตั้งแต่แรกว่า สายสีน้ำเงิน

สายนี้ เป็นผลงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่รู้กันดีคือ รฟม. หรือเอ็มอาร์ที

สายที่สี่ สายสีเขียว รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ เดิมทีดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. เริ่มต้นจากสถานีพญาไท ไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี พ.ศ.2553

วิ่งไปวิ่งมามีปัญหามากมาย เลยต้องยกให้บริษัทขายไก่ดำเนินการแทน เพื่อจะได้เชื่อมกับสนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภา ตามแผนที่วางไว้

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เริ่มเปลี่ยนแผน จึงเดินรถไฟลอยฟ้าที่แยกจากสายสีน้ำเงิน ตรงสถานีเตาปูน วิ่งขึ้นเหนือผ่านกระทรวงสาธารณสุข ไปสุดสายที่สถานีคลองบางไผ่ บางบัวทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และกำหนดให้เป็นสายสีม่วง

สายนี้ ตอนเริ่มมีปัญหางานก่อสร้างส่วนขยายสีน้ำเงิน จากสถานีบางซื่อ มาสถานีเตาปูน ไม่มาตามนัด เลยเป็นเรื่องวุ่นวายอยู่พักหนึ่ง

สายนี้ ตามแผนจะต่อเส้นทางลงมาทางใต้ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงสะพานพุทธ ผ่านวงเวียนใหญ่ ไปจนถึงราษฎร์บูรณะ

การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังเดินรถอีกสายหนึ่ง เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ ขึ้นไปทางเหนือ จนถึงรังสิต เป็นรถไฟลอยฟ้า เหนือรางรถไฟเดิม สายนี้เรียกขานกันว่า สีแดง

 

สายที่แปลกกว่าใคร คงเป็นสายที่หก

เริ่มเดินรถเมื่อปี พ.ศ.2563 เลยมีระยะทางแค่ 3 กิโลเมตร และมีแค่ 3 สถานี คือ จากสถานีกรุงธนบุรี ผ่านสถานีไอคอนสยาม ที่ทางการเรียกว่า เจริญนคร ถึงสถานีคลองสาน รถไฟที่วิ่งยังเป็นแบบอัตโนมัติไร้คนขับ

งานก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ทันการเปิดตัวของศูนย์การค้าใหญ่ริมน้ำ

เมื่อมีความพิเศษขนาดนี้ เลยเรียกขานว่า สายวีไอพีสีทอง ตามแผนจะขยายเส้นทางไปหลายทิศทาง แต่เมื่อไม่กำหนดเวลา คงจะประมาณชาตินี้แน่ๆ

หมดพื้นที่แล้ว คงต้องไปต่อฉบับหน้า ซึ่งตรงกับสภาพความเป็นจริง เพราะรถไฟฟ้าสายอื่นๆ กำลังทดลองเดินรถบ้าง กำลังก่อสร้างบ้าง กำลังประมูลบ้าง หรือยังเป็นแค่แผนบ้าง •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส