ข้อเสนอจาก ‘ตู่’ ที่ทำให้ไปกับ ‘ป้อม’ ไม่ได้ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

มีเรื่องเล่าจากบ้านป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของมูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มักจะมานั่งทำงานที่นี่เป็นประจำ ใครจะมาพบหา ทั้งงานด้านอนุรักษ์ป่า และงานทางการเมือง ก็มักจะมาพบกับบิ๊กป้อมที่บ้านรอยต่อนี่แหละ จนเป็นสถานที่ทางการเมืองอันรู้จักกันดี

ในท่ามกลางคำถามที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แตกกับ พล.อ.ประวิตรจริงหรือไม่

สัมพันธ์ของ 2 ป.หรือ 3 ป. มาถึงจุดไปต่อไม่ได้แล้วจริงหรือ

หรือแค่เป็นเรื่องลับลวงพราง หรือแค่เป็นเรื่องชั่วคราว

แต่มีเรื่องเล่าจากภายในบ้านป่ารอยต่อระบุว่า มีบทสนทนาและเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้ ป.ประยุทธ์และ ป.ประวิตร ต้องแยกกันเดิน!

โดยในช่วงราวเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการแนะนำจากกุนซือใกล้ชิด ว่าจะต้องเตรียมตัวเล่นการเมืองต่อไปในการเลือกตั้งสมัยหน้า

แต่จะเป็นแบบเดิมอีกไม่ได้แล้ว นั่นคือ พรรคพลังประชารัฐที่เป็นฐานสำคัญ ปรากฏว่าในการเมืองสมัยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถกุม ส.ส.ได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างผ่าน พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคหมด

เป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์โดนเกมจากคนในพรรคคิดจะโค่นมาแล้ว ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อกันยายน 2564 สุดท้าย พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นคนกุม ส.ส.ตัวจริง สามารถยุติศึกหนนั้นได้ แต่ก็เหมือนไม่หยุดอย่างแท้จริง กลายเป็นหนามยอกอก พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด

ดังนั้น หากจะเล่นการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องคุม ส.ส.ของพลังประชารัฐให้อยู่ในมือด้วยตัวเอง

ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นั้นเอง พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาหารือกับ พล.อ.ประวิตรที่บ้านป่ารอยต่อ

พร้อมกับยื่นข้อเสนอที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ จากนี้ไปจะขอเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วยตัวเอง ทำเอาบิ๊กป้อมถึงกับอึ้ง และพร้อมๆ กันก็แสดงเหตุผลว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สร้างพรรคเอง ไม่ได้ดูแล ส.ส.เหล่านี้เอง เกรงว่าเอาจริงๆ มานั่งหัวหน้าพรรคแล้วจะคุมไม่ได้

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์กลับมาที่บ้านป่ารอยต่ออีกครั้ง ยืนยันข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้คำเดิม

พล.อ.ประวิตรเห็นว่าสุดจะต้านทานแล้ว จึงเสนอว่ายกตำแหน่งหัวหน้าพรรคให้ก็ได้ แต่เพื่อให้คนในพรรค ให้ ส.ส.พลังประชารัฐสบายใจ ว่า พล.อ.ประวิตรยังดูแลอยู่

จึงยื่นข้อเสนอกลับว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แล้วตนเองจะขึ้นเป็นประธานพรรค

ข้อเสนอกลับจาก พล.อ.ประวิตรพยายามประนีประนอม แต่ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคิดมาก

เกรงว่าการที่ตนเองเป็นหัวหน้าพรรค แต่พี่ป้อมยังนั่งเป็นประธานพรรค ก็เหมือนยังอยู่เหนือกว่า

พล.อ.ประยุทธ์กลับหารือกุนซืออีกรอบ จนได้ข้อสรุป แล้วในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 จึงเดินทางเข้าบ้านป่ารอยต่ออีกครั้ง

เรื่องเล่าจากในบ้านป่ารอยต่อบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปลา พล.อ.ประวิตร บอกว่าคงไม่อยู่พลังประชารัฐแล้ว จะไปอยู่พรรคใหม่ รวมไทยสร้างชาติ!

 

เดิมทียังไม่มีประเด็นการพูดคุยขอเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนแนวทางที่ทั้ง 3 ป.วางเอาไว้คือ ยังอยู่ร่วมกันในพลังประชารัฐต่อไป โดย พล.อ.ประวิตรก็เป็นหัวหน้าพรรคไป เพราะมีบารมีสามารถควบคุม ส.ส.ได้คุมพรรคได้

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐดังเดิม

แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า เป็นได้ถึงปี 2568 เท่านั้น

ดังนั้น จึงจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ 2 ชื่อ มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเบอร์ 1 มี พล.อ.ประวิตร เป็นเบอร์ 2 เตรียมรับช่วงต่อในเทอมหลัง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ครบ 2 ปี

เป็นแผนที่วางเอาไว้รับการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งถ้าเป็นตามนี้ ก็คงไม่มีข่าวแตกกัน แยกกันเดิน

แต่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มีความหวาดระแวงว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เคยก่อหวอดจะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น แม้จะเชื่อฟัง พล.อ.ประวิตร แต่ก็ไม่เคยหยุดต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์

อีกทั้งมีความเคลื่อนไหวอีกหลายประการ ที่ พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกระแวงคนแวดล้อม พล.อ.ประวิตร

เช่น คดีวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ที่ยกแรกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์พักงาน ทำเอานายกฯ เสียรูปทรง เป็นนายกฯ คนแรกที่โดนพักการปฏิบัติหน้าที่

ประเด็นนี้ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์คลางแคลงใจไม่น้อย

สุดท้ายด้วยคำแนะนำของกุนซือทางการเมือง ให้ยื่นข้อเสนอขอเป็นหัวหน้าพลังประชารัฐเอง เพื่อกุมพรรคไว้ในมือตัวเอง

นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นขอรอยปริร้าวระหว่าง 2 ป.

จนเมื่อ พล.อ.ประวิตรต่อรองกลับไปว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรคก็ได้ แต่ตนเองขอเป็นประธานพรรค

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกว่าพี่ป้อมก็ยังใหญ่กว่าในพรรคอยู่ดี

ข้อเสนอแนะของกุนซือในทำเนียบรัฐบาล จึงผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ถอยดีกว่า ย้ายพรรคไปเลย

โดยขณะนั้นนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติเรียบร้อยแล้ว

บทสรุปจึงเป็นการย้ายพรรคใหม่นั่นเอง!

 

จากสูตร เป็นนายกฯ คนละครึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ อายุ 2 ปี กับ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ครึ่งเทอมหลัง โดยใส่ชื่อในบัญชีผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ของพลังประชารัฐ 2 ชื่อ 2 เบอร์

แต่สุดท้าย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไว้วางใจสูตรนี้ มองว่าตนเองควรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเต็มตัวมากกว่า

จึงทำให้เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแยกออกจากพลังประชารัฐ ไปเป็นแคนดิเดตของรวมไทยสร้างชาติ

ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2566 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จึงแยกกันเป็นแคนดิเดตของคนละพรรค และต้องต่อสู้กันในสนามเลือกตั้ง เพื่อช่วงชิงจำนวน ส.ส.ให้ได้มากที่สุด ให้เป็นพรรคใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อการต่อรองจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนั้น

โดยแน่นอนว่า ขณะนี้เซียนทุกสำนักชี้ตรงกันว่า พรรคเพื่อไทยจะกวาด ส.ส.ได้มากมายแน่นอน อย่างน้อย 200 ส.ส.ขึ้นไป

โดยมีภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ จะต้องช่วงชิงเอาชนะให้มาอันดับ 2 ให้ได้

อาจจะได้ประมาณ 100 ส.ส. หรือลงไปถึง 70 ส.ส.

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะมี พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ เป็นแม่เหล็กดึงดูด ส.ส.เก่าเข้ามาร่วมให้ได้มากที่สุด เพื่อการันตีว่า ต้องได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำมากที่สุด

แต่นักวิเคราะห์การเมืองยังมองไม่ออกว่า รวมไทยสร้างชาติจะมีมืออาชีพจากไหน มานำทัพในสนามเลือกตั้ง ในวันนี้ก็เห็นแค่นายสุชาติ ชมกลิ่น เท่านั้นที่คงมีมุ้งภาคตะวันออกมาร่วม และพอเป็นมืออาชีพอยู่บ้าง

เอาเข้าจริงๆ ถ้ารวมไทยสร้างชาติไม่สามารถยกระดับมีนักเลือกตั้งตัวจริงเข้ามาได้มากกว่านี้

จะกลายเป็นพรรคที่อยู่นอกสายตา

แถมชื่อเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงเน้นหนักขายได้ในภาคใต้ภาคเดียวเท่านั้น แต่ก็ต้องแย่งชิงกับประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ ขณะที่ใต้ล่างสุดก็เป็นพรรคประชาชาติ

ย้อนดูเรื่องเล่าจากบ้านป่ารอยต่อ ได้เห็นถึงข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หวังจะเป็นหัวหน้าพลังประชารัฐเอง สุดท้ายก็เป็นดีลที่ปิดไม่ลง

จากที่ 2 ป.จะร่วมกันในพรรคเดียวกัน กลายเป็นต่างคนต่างแยกกันเดิน อยู่คนละพรรคและต้องต่อสู้กันในสนามเลือกตั้ง 2566!!