ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งอารากอน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้เรายังคงอยู่กันที่เมืองซาราโกซา เมืองอันรุ่มรวยทางศิลปะของสเปน นอกจากพิพิธภัณฑ์โกยาแล้ว ในเมืองแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดที่จะเข้าไปเยี่ยมชม

สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งอารากอน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่า สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งอารากอน (Aragonese Institute of Contemporary Art and Culture) หรือในชื่อภาษาสเปนว่า Instituto Aragonés de Arte y Cultura Contemporáneos ที่เรียกกันในชื่อย่อๆ ว่า IAACC

หรืออีกชื่อที่คนสเปนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอย่าง พิพิธภัณฑ์ Pablo Serrano นั่นเอง

สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งอารากอน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อุทิศพื้นที่ให้กับงานศิลปะสมัยใหม่ และงานศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานสะสมของประติมากรชาวสเปนแห่งแคว้นอารากอน ปาโบล เซราโน (Pablo Serrano) ที่บริจาคผลงานชุดใหญ่ของเขาให้กับประชาชนชาวอารากอนในปี 1985 จนก่อตั้งเป็นมูลนิธิ Pablo Serrano และสร้างพิพิธภัณฑ์ของมูลนิธิขึ้นในเมืองซาราโกซา

โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บสะสมและจัดแสดงผลงานของเซราโน ตามความประสงค์ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ทั้งผลงานประติมากรรมของเซราโน และเอกสารสำคัญรวมถึงห้องสมุดส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับผลงานของเขา

ผลงานประติมากรรมของปาโบล เซราโน ด้านหน้าสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งอารากอน

เดิมทีตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นโรงงานช่างไม้และโกดังของอาคารรับรองประจำเมืองเก่าแก่ ที่รู้จักกันในชื่อ Hogar Pignatelli (ปู่ของปาโบล เซราโน เองก็เคยทำงานเป็นช่างไม้ระดับปรมาจารย์ที่นี่ด้วย) ที่ถูกบูรณะดัดแปลงให้กลายเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์โดยสถาปนิกชาวสเปน โฆเซ่ มานูเอล เปเรซ ลาตอเร่ (José Manuel Pérez Latorre) ในปี 1987 และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้สาธารณชนเข้าชมในปี 1994

ผลงานประติมากรรมของปาโบล เซราโน
ผลงานประติมากรรมของปาโบล เซราโน

ต่อมาในปี 1995 มูลนิธิ Pablo Serrano ปิดตัวลง และเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งอารากอน ปาโบล เซราโน และในปี 2008 รัฐบาลแห่งแคว้นอารากอนดำเนินการปรับปรุงขยับขยายพื้นที่ใช้งานอาคารพิพิธภัณฑ์ จาก 2,500 ตารางเมตร ให้กลายเป็นพื้นที่กว่า 7,400 ตารางเมตร และเปิดใช้งานอีกครั้งในปี 2011

แถมตัวโครงสร้างด้านนอกของอาคารดั้งเดิมยังถูกปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น ด้วยหลังคารูปทรงฟันเลื่อย และตัวอาคารที่ประดับด้วยฟาซาดกระจกรูปและโลหะเคลือบสีดำและน้ำเงินรูปทรงปริมาตรเรขาคณิตคล้ายศิลปะคิวบิสม์ตั้งตระหง่านอย่างน่าตื่นตา ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ผลงานประติมากรรมของปาโบล เซราโน
ผลงานประติมากรรมของปาโบล เซราโน

ภายในพิพิธภัณฑ์ นอกจากจะจัดแสดงผลงานชิ้นสำคัญของปาโบล เซราโน ที่ครอบคลุมทั้งงานในช่วงแรกของเขาซึ่งเป็นงานในแบบศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative art) ก่อนที่จะก้าวไปสู่งานแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) และนามธรรม

ผลงานประติมากรรมของปาโบล เซราโน
ผลงานประติมากรรมของปาโบล เซราโน
นิทรรศการแสดงผลงานประติมากรรมต้นแบบของปาโบล เซราโน

ผู้เยี่ยมชมสามารถสำรวจวิวัฒนาการแห่งการสร้างสรรค์ทางศิลปะของเซราโนผ่านผลงานประติมากรรมจำนวน 140 ชิ้น ทั้งประติมากรรมรูปบุคคลและประติมากรรมนามธรรมต่างๆ รวมถึงงานวาดเส้นหลายขนาดจำนวนมาก

รวมถึงผลงานชุดสำคัญของ ฆัวนา ฟรานซิส (Juana Francés) ศิลปินหัวก้าวหน้าคนสำคัญของสเปน ภรรยาของเซราโน และผลงานจิตรกรรมคัดสรรของ ซานติอาโก ลากูนาส (Santiago Lagunas) ศิลปินชาวสเปนผู้เป็นสมาชิกแกนนำก่อตั้งกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าแห่งแคว้นอารากอน Grupo Pórtico ซึ่งเป็นศิลปินกลุ่มแรกๆ ที่บุกเบิกงานศิลปะนามธรรมในประเทศสเปน

1900 1.2º C ผลงานประติมากรรมต้นไม้เคลือบแผ่นอะลูมิเนียมรีไซเคิล ที่บริจาคให้พิพิธภัณฑ์ โดย นาโช่ อารันเตกี ศิลปินร่วมสมัยชาวสเปนผู้ทำงานหลากสื่อ ที่สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีผลงานจากคอลเล็กชั่นสะสมส่วนตัวอย่าง Circa XX ที่ริเริ่มโดยนักสะสมคนสำคัญชาวสเปนอย่าง ปิลาร์ ซิโตแลร์ (Pilar Citoler) กับผลงานเก็บสะสมในช่วงเวลากว่าสี่ทศวรรษ ที่ครอบคลุมผลงานชิ้นสำคัญในโลกศิลปะตะวันตกจำนวน 1,200 ชิ้น ตั้งแต่งานแบบเยอรมันเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (German expressionism) ของ อีมิล นอยเด (Emil Nolde) ศิลปินเยอรมันแห่งกลุ่ม Die Brücke (The Bridge) ที่เป็นรากฐานสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะเอ็กเพรสชั่นนิสม์ในศตวรรษที่ยี่สิบ ไปจนถึงงานแบบ Art Brut (ผลงานศิลปะที่มีลักษณะเด่นในการสร้างสรรค์ด้วยความซื่อบริสุทธิ์ ไร้เหตุผลและกฎเกณฑ์) ของ ฌอง ดูบุฟเฟต์ (Jean Dubuffet) ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้บุกเบิกงานศิลปะแนวนี้ขึ้นมา

หรือผลงานของศิลปินโมเดิร์นนิสต์ตัวพ่ออย่าง ปาโบล ปิกัสโซ, ฆวน มิโร, แฟร์นอง เลเช (Fernand Léger), อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์, เฮนรี มัวร์ (Henry Moore) หรือศิลปินป๊อปอาร์ตระดับตำนานอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล, รอย ลิกเทนสไตน์ หรือศิลปินผู้เปลือยปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์อย่าง ฟรานซิส เบคอน และผลงานของศิลปินอิตาเลียนแห่งกลุ่ม Transavanguardia (หรือศิลปะนีโอเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Neo-expressionism) เวอร์ชั่นอิตาลี ที่เน้นการถ่ายทอดความฝันและจินตนาการโดยไม่มุ่งแสดงออกถึงความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด แต่เน้นการแสดงออกอย่างฉับพลันจากสัญชาติญาณอันใสซื่อบริสุทธิ์) อย่าง เอนโซ กูชชี (Enzo Cucchi) และผลงานของประติมากรชาวอังกฤษผู้ทำงานประติมากรรมจากเศษโลหะเหลือใช้จากงานอุตสาหกรรมอย่าง แอนโทนี คาโร (Anthony Caro)

หรือแม้แต่ผลงานจิตรกรรมที่หาชมได้ยากของสถาปนิกระดับตำนานชาวสวิส/ฝรั่งเศสอย่าง เลอ คอร์บูซีแยร์ (Le Corbusier) ก็ยังมี

นิทรรศการ Aragon and the arts) 1939-1957

ไฮไลท์อีกอย่างของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ผลงาน The Michael Kohlhaas Curtain (2008) ที่เป็นการหลอมรวมระหว่างงานจิตรกรรมฝาผนังความยาว 30 เมตร ของ แฟรงก์ สเตลล่า (Frank Stella) หนึ่งในศิลปินอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลที่สุด และประติมากรรมโครงสร้างเหล็กน้ำหนักหนึ่งตันของ ซานติอาโก กาลาทราวา (Santiago Calatrava) สถาปนิกชาวสเปนเจ้าของผลงานสุดล้ำยุค

นิทรรศการ Aragon and the arts) 1939-1957

นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีผลงานของศิลปินชาวสเปนในยุคหลังสมัยใหม่และศิลปินร่วมสมัยชาวสเปนผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในโลกศิลปะอย่าง อันโตนี ตาเปียส (Antoni Tàpies), อันโตนิโอ เซารา (Antonio Saura), เฆราร์โด รูเอด้า (Gerardo Rueda), ราฟาเอล คาโนการ์ (Rafael Canogar), โฮเซ่ มานูเอล โบรโต้ (José Manuel Broto), มิเกล บาร์เซโล่ (Miquel Barceló), กิเยร์โม เปเรซ บียัลตา (Guillermo Pérez Villalta), นาโช่ อารันเตกี (Nacho Arantegui) และ คริสติน่า อิเกลเซียส (Cristina Iglesias) เป็นต้น

นิทรรศการ Aragon and the arts) 1939-1957
นิทรรศการ Aragon and the arts) 1939-1957
นิทรรศการ Aragon and the arts) 1939-1957

ในพิพิธภัณฑ์ยังมีนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ ทั้งงานศิลปะในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ และงานศิลปะร่วมสมัย ที่ปรับเปลี่ยนโปรแกรมไปตลอดปี ดังเช่นนิทรรศการที่เราได้ไปชมอย่าง Aragón y las artes (Aragon and the arts) 1939-1957 กับคอลเล็กชั่นที่รวบรวมผลงานศิลปะของแคว้นอารากอนในช่วงหลังสงครามกลางเมืองสเปน ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, สถาปัตยกรรม, ภาพถ่าย, ภาพยนตร์, งานออกแบบโปสเตอร์และงานออกแบบสิ่งพิมพ์ต่างๆ

นิทรรศการ Wastelands : Urgent statement against waste โดย Almalé and Bondía
นิทรรศการ Wastelands : Urgent statement against waste โดย Almalé and Bondía

หรือนิทรรศการ Wastelands : Urgent statement against waste โดย Almalé and Bondía ศิลปินคู่หูชาวซาราโกซา ฮาเวียร์ อัลมาเล่ (Javier Almalé) และ เฆซุส บอนเดีย (Jesús Bondía) กับผลงานภาพถ่ายและวิดีโอจัดวาง ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับวิกฤตขยะจากการบริโภคอันล้นเกินของมนุษย์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลัง

นิทรรศการ Wastelands : Urgent statement against waste โดย Almalé and Bondía
นิทรรศการ Wastelands : Urgent statement against waste โดย Almalé and Bondía

สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งอารากอน (IAACC) ตั้งอยู่บนถนน Paseo María Agustín ในเมืองซาราโกซา แคว้นอารากอน ประเทศสเปน เปิดทำการวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 10:00-14:00 น. และ 16:00-21:00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดต่างๆ จะเปิดทำการเวลา 10:00-14:00 น.) ปิดทำการวันจันทร์และวันที่ 1 มกราคม, 1 พฤษภาคม และวันที่ 24, 25 และ 31 ธันวาคม, เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่ https://iaacc.es/visita/

ขอบคุณภาพจากคุณสุชาย พรศิริกุล •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์