สาทิตย์ ลั่น ปชป.จุดยืนไม่เหมือน ‘เพื่อไทย’ งานหนักอยู่ที่ประชาชน จะกาใครมาบริหารประเทศ

ย้ำชัด ปชป.ยอมเป็นฝ่ายค้าน หากร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ‘สาทิตย์’ เชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ย้ายซบ รทสช.ไม่กระทบเสถียรภาพพรรคร่วม

เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่บ้านสกุลวงศ์หนองเตย ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดบ้านให้ผู้สื่อข่าวสอบถามความคิดเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติว่า หลักปฏิบัติของสภาทราบว่าประธานสภาได้รับญัตติฝ่ายค้านแล้วส่งให้รัฐบาล ซึ่งฝ่ายรัฐบาลจะตอบกลับมาว่าจะพร้อมเมื่อไหร่ เท่าที่ทราบจาก นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ให้ข้อเสนอไว้ว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ ถ้านับจากวันนี้ไปเหลือเพียง 2 อาทิตย์ ตนมองว่าน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม

นายสาทิตย์กล่าวว่า รัฐบาลจะได้เตรียมตัวตอบ ฝ่ายค้านเองก็จะได้จัดเตรียมข้อมูลที่จะอภิปรายให้ครบถ้วน ทั้งนี้ อยากจะเห็นการอภิปรายครั้งนี้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน หมายถึงทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน

“เราไม่ควรใช้สถานการณ์นี้เพื่อเป็นเวทีดิสเครดิตกัน หรือมุ่งโจมตี หรือหาเสียงสำหรับการเลือกตั้ง แต่ควรจะนำปัญหาที่แท้จริง ซึ่งผมมองว่าปัญหามีเยอะจริงๆ เช่น ปัญหาที่สะสมจากวิกฤตโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ปัญหาสงครามจากต่างประเทศที่กระทบถึงต้นทุนสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย หรือน้ำมัน กระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการทั้งหลาย หรือวิกฤตตอนโควิดกระทบเรื่องการท่องเที่ยว กระทบต่อ SMEs ภาคการท่องเที่ยวเยอะมาก และทำให้คนภาคการท่องเที่ยวตกงานจำนวนมาก

“รวมถึงเรื่องที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาที่เห็นว่าเป็นประเด็น ผมเห็นว่าถ้าเราใช้ปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง รัฐบาลตอบในจุดที่เป็นแนวทางแก้ไข มองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ และผมเห็นด้วยที่สภาควรมีการซักฟอกรัฐบาลในลักษณะแบบนี้” นายสาทิตย์ระบุ

นายสาทิตย์กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะมีผลกับการอภิปรายหรือไม่ว่า โดยหลักทั่วไปน่าจะไม่มีผลอะไร เพราะการเข้าไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติของท่านนายกฯเป็นการแสดงความชัดเจนด้านการเมือง แต่จะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งยังมาไม่ถึง แต่การอภิปรายเป็นปัญหาในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งต้องแก้ไข แ

“อย่าเอาโจทย์ของพรรคการการเมืองในการต่อสู้ ในการแข่งขันกันในเวทีการเมืองมาเหนือปัญหาที่แท้จริง ควรเอาปัญหาของประชาชนที่แท้จริงมาเป็นตัวตั้ง ดูสิว่ารัฐบาลจะตอบอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่เพียงไร มองว่าถ้าเอาตัวเลข เอาข้อเท็จจริงต่างๆ มาเปิดเผย ประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า” นายสาทิตย์กล่าว

นายสาทิตย์ประเมินผลการเลือกตั้ง 2566 ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรว่า พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่อันดับไหนคงไม่มีใครตอบได้ ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองระดับไหน ก็ไม่มีหลักชัดเจนว่า พรรคการเมืองเรียกว่าพรรคระดับไหน เพียงแต่ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคประชาธิปัตย์อยู่มา 77 ปี เพราะฉะนั้นใน 60-70 ปี ที่ผ่านมา ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ มีขึ้นมีลง

นายสาทิตย์กล่าวว่า เที่ยวที่แล้วเราได้มา 50 กว่าที่ ถือว่าเป็นพรรคขนาดกลางค่อนข้างเล็ก แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มองว่าบริบทการเลือกตั้งเปลี่ยนไปเยอะมาก เป็นยุคที่อุดมการณ์ล่มสลาย ไม่มีซ้าย ไม่มีขวา เหมือนพรรคการเมืองต่างพยายามหาคนมาหนุนพรรคตัวเองโดยใช้ทุกวิธีการ เพื่อจะพอกพูนคะแนนสียงให้ได้เยอะ โดยมีเป้าหมายไปจัดตั้งรัฐบาล

“จะเห็นคนย้ายพรรค จากพรรคโน้นไปพรรคนี้ ย้ายจากซีกหนึ่งไปอีกซีกหนึ่ง กลายเป็นเรื่องปกติ แต่ในอดีตมันไม่เกิดขึ้น เพราะพรรคที่มีอุดมการณ์และทิศทางแนวทางที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอุดมการณ์ที่ไม่ตรงกัน คนที่เข้าไปร่วมไม่สามารถรับอุดมการณ์นั้นได้ แต่ยุคนี้เหมือนยุคอุดมการณ์ล่มสลายไปแล้ว ทุกคนพูดเฉพาะผลประโยชน์เฉพาะหน้าตนเอง พรรคการเมืองก็เหมือนมีคนคุมบังเหียน แต่น้อยคนที่จะพูดถึงเรื่องอุดมการณ์แนวคิดด้านการเมือง นโยบายจะเป็นประชานิยมเป็นหลัก เช่น ให้ 2,000 3,000 5,000 เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเมืองลักษณะแบบนี้ประชาชนเหมือนถูกปัดโดยนโยบายประชานิยมทั้งหลาย และทุกคนจะลืมจุดยืน หรืออุดมการณ์ทางการเมืองไป” นายสาทิตย์กล่าว

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้งนี้ ถ้าจะถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลการเลือกตั้งเท่าไหร่นั้น มองว่าทุกพรรคไม่มีใครคาดได้ ยกเว้นว่าคุณจะวางเป้าไว้ เช่น พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ แต่ใครจะทราบว่าแลนด์สไลด์จะได้มาเท่าไหร่ ไม่มีใครกล้าตอบ มีอยู่วันหนึ่งพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะได้เสียงเกินครึ่งของสภา 250 ตนนึกถึงตอนนายทักษิณ ชินวัตร อยู่ ได้ไป 300 กว่า จาก 500 อยู่ได้ปีหนึ่งก็อยู่ไม่ได้ เพราะมาแล้วโดนเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น โดนคนต่อต้าน

นายสาทิตย์กล่าวว่า เพราะฉะนั้นมันไม่สำคัญว่าใครได้มากน้อยเท่าไหร่ แต่สำคัญที่ว่าแนวคิดที่จะขับเคลื่อนประเทศไปทิศทางไหน ภาระหนักจะตกไปอยู่ที่ประชาชนที่จะต้องคัดเลือกเอาจากบรรดานโยบายประชานิยมทั้งหลาย โดยประสบการณ์ ผลงาน ความเชื่อถือของทีมงานที่ผ่านมาว่าพรรคไหนจะน่าเชื่อถือที่สุด

“พรรคประชาธิปัตย์ปิดกั้นเพื่อไทยหรือไม่นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวแนวคิดยังไม่ตรงกันเลย ตั้งแต่นายกฯที่เคยต่อสู้กันมา ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2556 แนวคิดไม่ตรงกัน แนวคิดการบริหารก็ไม่ตรงกัน ผมมองว่าเพื่อไทยเขามีอเจนด้าที่ชัดเจน คุณทักษิณประกาศจะกลับประเทศค่อนข้างชัด และทดลองทำกฎหมายนิรโทษกรรมมาครั้งหนึ่ง เอาน้องในไส้ตัวเองมาเป็นนายกฯ เจอแรงต่อต้านจากประชาชน กลายเป็นเหตุการณ์มวลมหาประชาชนขึ้นมา

“เที่ยวนี้ส่งลูกสาวตัวเอง ส่งคนใกล้ชิดมาคุมบังเหียนหัวของพรรคเพื่อไทย เราก็ไม่รู้ว่าโดยแนวคิดที่แท้จริงเขาคิดอะไร เพราะฉะนั้นโอกาสตรงนั้นเรายังพูดไม่ได้ แต่โดยแนวคิดพื้นฐานไม่ตรงกัน ซึ่งทุกคนต้องบอกว่ารอดูผลการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้ แต่โดยความคิดส่วนตัวการร่วมกับพรรคเพื่อไทย ณ วันนี้แนวคิดยังไม่ตรงกัน จุดยืนและอุดมการณ์ไม่ตรงกัน” นายสาทิตย์กล่าว