ปี 2566 : ความหวังกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ภายใต้รัฐบาล อันวาร์ อิบรอฮีม

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

พลันที่ข่าวการก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ของดาโต๊ะศรีอันวาร์ อิบรอฮีม สร้างความดีใจอย่างออกหน้าออกตาของประชาสังคม ผู้นำการศึกษาและผู้นำศาสนาชายแดนใต้หลายท่าน

เพราะพวกเขาหวังกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้จะถูกสานต่องานเก่าและน่าจะดีกว่าเดิม เพราะจะมีมิติใหม่ๆ เข้ามา

อย่างไรก็แล้วแต่ ยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ต้องเผชิญ

สัญญาณเชิงบวกเมื่อช่วงปลายปี 2565 “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางไปประเทศมาเลเซีย เพื่อพบปะกับนายอันวาร์ อิบรอฮีม ตามคำเชิญของนายกฯ มาเลเซีย พร้อมแสดงความยินดีที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดย พล.อ.ประวิตรและนายอันวาร์ เป็นเพื่อนที่มีความสนิทสนมกันมานาน

จากภาพดังกล่าว ประชาชนชายแดนใต้หวังว่า อันวาร์ผู้นำคนใหม่มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพชายแดนภาคใต้ จะสานต่อหลักการ 3 ประการสำหรับยึดเป็นหลักเพื่อเดินหน้ากระบวนการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ และเป็นหลักการในการพูดคุยสารัตถะกันในห้วงระยะข้างหน้าต่อไป อันประกอบด้วย

– การลดเหตุความรุนแรง

– การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่

– การแสวงหาทางออกทางการเมือง

แต่การสานต่อสารัตถะทั้งสามควรปรับปรุงข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเช่นประชาสังคมที่ตั้งคำถามกลไกตรวจสอบความรุนแรงจากผู้ที่ได้รับความน่าเชื่อถือเชิงประจักษ์จากภาคประชาชนเป็นการทำงานคู่ขนานกับการตั้งกลไกทำงานร่วมกันที่มีสถานะกึ่งทางการระหว่างสองฝ่าย

เพราะจะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือและแก้ปัญหา IO ทั้งสองฝ่าย

 

นวลน้อย ธรรมเสถียร สะท้อนเสียงภาคประชาชนว่า การวิสามัญฆาตกรรมเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าไม่ได้มีผลบวกต่อการคลี่คลายความขัดแย้ง มีข้อสงสัยเรื่อยมาว่าในการวิสามัญนั้นเจ้าหน้าที่พบกับสถานการณ์สุดวิสัยจริงหรือไม่เพียงใด ในขณะที่หลายคนอาจจะเชื่อมั่นว่านี่คือความยุติธรรมแบบติดจรวด แต่ความยุติธรรมนอกระบบเช่นนี้เองที่กัดกร่อนความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมในระบบให้หมดลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อผลการไต่สวนการตายของกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ออกมาโดยไม่ให้ความกระจ่างใดๆ เพิ่มเติมและน้อยครั้งอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชอบ

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นภาพผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมพิธีแห่ศพที่จัดกันอย่างเปิดเผย เป็นภาพที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ

และในสายตาของหลายคนที่อยู่ในพื้นที่มันคือปรากฏการณ์ที่จะเพิ่มความรุนแรงอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ในการปะทะ ปิดล้อมและวิสามัญในแต่ละครั้งมักลงเอยด้วยภาพชาวบ้านทุ่มเถียงเจ้าหน้าที่

ในขณะที่อีกด้านก็มีรายงานว่ามีการควบคุมตัวผู้คนเพิ่มเติมเพื่อเอาไปสอบปากคำตามกฎหมายพิเศษ

การสอบปากคำเช่นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในขั้นตอนที่สร้างข้อกังขาเรื่อยมาและทำให้ต้องมีการติดตามจับตากันอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่หาสาเหตุไม่ได้

สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับคำว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ยังผลให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ นับว่าค่อนข้างจะสวนทางกับความรับรู้ที่ว่าเรากำลังมีกระบวนการสันติภาพกันอยู่

นอกจากนี้ การเดินทางของบิ้กป้อมจะสานต่อโครงการร่วมกับมาเลเซียกับรัฐบาลก่อนหน้าอันวาร์โดยเฉพาะการค้าชายแดนบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียที่สำคัญ ได้แก่ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส, อ.สะเดา จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.สตูล ตามเป้าหมายส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนไม่น้อย 1.1 ล้านบาทต่อปี

 

ต้องยอมรับอันวาร์ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้

กว่า 50 ปีสมัยอันวาร์ยังเป็นผู้นำเยาวชนของมาเลเซีย ในองค์กรเยาวชนที่มีชื่อว่า ABIM มีสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรเยาวชนไทย ที่เรียกว่าสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) อันเป็นโซ่ข้อกลางกับภาคประชาสังคมอื่นๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษาปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและมหาวิทยาลัย

อันวาร์ อิบรอฮีม เคยพูดถึงชัยค์ดาวุด อัลฟาฏอนีย์ ผู้รู้ศาสนาจากชายแดนภาคใต้ ที่มีอิทธิพลต่อท่านในการทำงานขับเคลื่อนความยุติธรรมทั้งในมาเลเซียและต่างประเทศ

ผู้เขียนเคยได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ไปร่วมเวทีเสวนา “Peaceful Coexistence Strengthening The Malaysia-Thailand Relationship” ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีตัวแทนนักวิชาการ ประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 50 คนร่วมเสวนาในประเด็นกระบวนสันติภาพชายแดนใต้เพื่อให้ได้สันติภาพอย่างครอบคลุมยั่งยืนในประเด็นสังคม ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การพัฒนา และการศึกษา โดยจะร่วมออกแบบการปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation)

ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ นายอันวาร์ อิบรอฮีม กรุณาบรรยายพิเศษ ประมาณครึ่งชั่วโมง

โดยท่านเน้นถึงกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น “สันติภาพต้องควบคู่กับความยุติธรรม และการพัฒนาโดยเฉพาะการศึกษาที่ต้องทำคู่กัน”

ในขณะเดียวกันต้องครอบคลุมต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าผู้เห็นต่าง รัฐ ประชาชนในพื้นที่ไม่ว่ามุสลิม และพุทธ สตรี เยาวชน ผู้นำศาสนา นักธุรกิจ

เรียกได้ว่าทุกผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมกับจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านไม่ว่าสังคม ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา และการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับพื้นที่

ในขณะเดียวกันสังคมพหุวัฒนธรรมก็สำคัญ โดยเฉพาะอิสลามให้ความสำคัญกับหลักอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้หลักการอิสลามและมนุษยธรรมสากล

หลังจากท่านบรรยายเสร็จมีการแบ่งกลุ่มเสวนาหาทิศทางและโจทย์เพื่อใช้องค์ความรู้ดังกล่าวในการแก้ปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม

โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเซลังงอร์ มาเลเซีย (UNISEL) ร่วมกับนักวิชาการชายแดนใต้/ปาตานี

 

การปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation) เป็นโจทย์ความท้าทายสู่สันติภาพเทรนด์ใหม่ที่จะถูกขับเคลื่อนสมัยอันวาร์

ทั้งนี้ การปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation) อย่างน้อยมีสองเวทีที่พูดคุยเรื่องนี้ทันทีหลังอันวาร์ก้าวสู่ตำแหน่งคือที่มหาวิทยาลัย USM รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย และวง IPP มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่ากระบวนการนี้มิใช่พึ่งเริ่มทำช่วงนี้ แต่มันพัฒนาการตลอด 20 ปีความรุนแรงชายแดนภาคใต้

ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สะท้อนเรื่องนี้ว่า กลไกในการปรึกษาหารือสาธารณะว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมามากนัก ว่าจะดำเนินไปอย่างไร แต่ยังต้องคำนึงถึงข้อกังวลห่วงใยที่ฝ่าย BRN เสนอว่าจะเปิดโอกาสให้สมาชิกของขบวนการได้เข้าร่วมได้อย่างไร

ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีทางออกที่ลงตัว

เพราะมุมมองของฝ่ายไทย คือ กลุ่มคนในขบวนการ BRN ยังมีความผิดทางกฎหมายไทย บางคนในคณะพูดคุยยังมีหมายจับคดีทางอาญาอยู่ด้วย การเข้ามาในประเทศตามกฎหมายปกติ ยังไม่สามารถทำได้

ซึ่งส่งผลให้ BRN เข้ามาทำการปรึกษาหารือสาธารณะไม่ได้

ในขณะที่มุมมองของขบวนการ BRN ก็ต้องการมีพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน เนื่องจากของฝ่ายรัฐไทย มีกลไกที่เป็นพื้นที่ปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่แล้ว ซึ่งถ้าหากจะไปพูดคุยกันต่อ จำเป็นต้องหาข้อยุติในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน…

หากจะจัดเวทีปรึกษาหารือ สิ่งสำคัญ อาจต้องเป็นบทบาทของฝ่ายที่ 3 จะเหมาะสมกว่า ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานราชการร่วมกับภาคประชาสังคม หรือองค์กรระหว่างประเทศ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการหนุนเสริมกระบวนการนี้ เพราะกระบวนการสันติสุขไม่สามารถมีแค่รัฐบาลกับฝ่ายติดอาวุธได้ ต้องมีกลุ่มอื่นเข้ามามีบทบาทด้วย และให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนพุทธ คนจีนในพื้นที่ต้องเปิดโอกาสให้เข้ามามีพื้นที่ในการส่งเสียงของพวกเขาด้วยเช่นกัน…

สิ่งที่ดีที่สุด คือเปิดพื้นที่ให้คนทุกฝ่ายได้อภิปรายทางเลือกทุกเฉด ตั้งแต่การกระจายอำนาจ การปกครองพิเศษมีกี่รูปแบบเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียทางเลือกรูปแบบต่างๆ

มีเรื่องต้องคิดค่อนข้างมาก ประชาชนอาจไม่เห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แน่นอนว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ใช่มีแต่คนมลายูมุสลิม ยังมีคนพุทธ คนจีน และคนศาสนาอื่นๆ อยู่ด้วย

ดังนั้น เสียงของพวกเขาควรได้รับฟังด้วยเช่นกัน

อีกประการหนึ่ง หากรัฐเปิดเพดานให้มีการพูดคุย ไม่น่าจะต้องกลัวว่าคนจะเลือกเอกราช หลายพื้นที่ในโลก การที่คนจะเลือกสร้างรัฐใหม่ หรือแยกไปจากรัฐเดิม ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ฆ่ากันเป็นจำนวนมาก ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว จนประชาคมโลกสนับสนุนให้แยกตัวเองออกมา

ทั้งนี้ การแยกออกเป็นรัฐใหม่ ในการเมืองปัจจุบันของโลกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ด้วยการมีรัฐมากจนไม่มีที่สิ้นสุดนั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อการระบบเมืองระหว่างประเทศ

ฉะนั้น ในมุมของประชาคมโลก หากไม่มีเหตุผลร้ายแรงสมควรจริงก็จะหาแรงสนับสนุนเพื่อแยกออกเป็นรัฐใหม่ไม่ง่ายนัก

อย่างไรก็แล้วแต่ กระบวนการสันติภาพภายใต้รัฐบาลอันวาร์ อิบรอฮีม ยังมีปัจจัยความท้าทายใหญ่คือ ความขัดแย้งและเสถียรภาพรัฐบาลทั้งสองประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งจะต้องดูว่าจะมีผลกระทบอย่างไร