ประสบการณ์จากคน ‘เคยเดินเรือ’ มองกรณีโศกนาฏกรรม เรือรบหลวงสุโขทัย ‘จม’

อนุสนธิจากข่าว เรือรบหลวงสุโขทัย จมลงก้นทะเลหน้าอ่าวบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างฝั่ง 16 ไมล์ เมื่อ 18 ธันวาคม 2565

ในฐานะที่ผมเคยใช้ชีวิตออกเรือประมงอยู่ราว 2 ปี และคลุกคลีในวงการประมงกว่า 25 ปี จึงพอมีประสบการณ์นำมาร่วมออกความเห็นช่วยกันพิจารณา

ดังนี้

 

พยากรณ์อากาศ

ย้อนไปดูรายงานพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2565 และพยากรณ์อากาศเพื่อเรือเดินทะเล เรือในราชนาวีและเรือทำการประมง วันเดียวกัน อันนี้รายงานเป็นภาษาอังกฤษ (ยังสงสัยว่า ไต๋เรือจับปลาจะอ่านเข้าใจได้อย่างไร)

พยากรณ์อากาศทั่วไปบอกว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น อ่าวไทยห่างฝั่ง มีคลื่นสูง 2-4 เมตร หรือบริเวณฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ชาวเรือควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งจนถึง 20 ธันวาคม 2565 ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 20-45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณพายุฝน คลื่นสูงกว่า 4 เมตร

ส่วนพยากรณ์อากาศเพื่อเรือเดินทะเลเป็นภาษาอังกฤษบอกว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 11-24 น็อต หรือ 20-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง คลื่นสูง 2-4 เมตร และเหนือ 4 เมตรบริเวณ thundershowers (ฝนฟ้าคะนอง)

สมัยออกทะเล ผมชอบฟังรายงานอากาศเพื่อชาวเรือที่จะออกอากาศหลังข่าวเที่ยงวัน หลังข่าวหนึ่งทุ่มและแทรกเป็นระยะรายชั่วโมงทางสถานีวิทยุ เสียงจากทหารเรือ (สทร.) และฟังรายงานอากาศเดียวกันนี้ที่ออกอากาศจากสถานีวิทยุประมงของกรมประมงที่ส่งคลื่นตรงถึงเรือประมงในทะเล

20 ธันวาคม 2565 ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ แถลงเรื่อง รล.สุโขทัย ในส่วนเกี่ยวกับคลื่นลมว่า กรมอุตุฯ พยากรณ์ 18 ธันวาคม มีพายุกำลังแรงเข้ามาในประเทศไทย คลื่นลมรุนแรง คลื่นสูง 3-4 เมตร อ่าวไทยตอนกลางตอนล่าง “ลมมรสุมพัดจากทิศเหนือมายังทิศใต้” มีผลต่ออ่าวไทยฝั่งตะวันออก (แต่ รล.สุโขทัย อยู่อ่าวไทยฝั่งตะวันตก)

ทิศทางของลมทะเล กรมอุตุฯ บอกว่าเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมประจำฤดูกาล พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวเรือเรียกลมนี้ว่า อุ่นกาตะวันออก หรืออุ่นกาฟ้าเหลือง ลมจะเริ่มพัดจัดตั้งแต่เช้ามืดก่อนสว่างจนสายๆ ท้องฟ้าสว่างเป็นสีเหลือง จึงเรียกว่า อุ่นกาฟ้าเหลือง

ในขณะเดียวกัน ผบ.ทร.กลับแถลงว่าขณะเกิดเหตุ ลมเป็นลมมรสุมพัดจากทิศเหนือมายังทิศใต้ ลมนี้ชาวเรือเรียกว่าลมว่าว ซึ่งไม่ใช่ลมประจำฤดูกาล

ผมเข้าใจว่าการที่ลมเปลี่ยนทิศมาเป็นลมว่าวไม่ใช่ลมประจำฤดูกาลนั้น คงเป็นลมหัวฝนพัดโหมกระหน่ำ

ผบ.ทร.แถลงว่า วันนั้นมีเรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งจมที่สงขลาเช่นกัน

มีใครช่วยกระซิบท่าน ผบ.ทร.ให้ทีว่า เรือน้ำมันลำที่จมที่สงขลานั้น จอดทอดสมอซ่อมเรืออยู่นอกฝั่ง ลูกเรือขึ้นไปนอนบนฝั่งหมด ไม่มีคนเฝ้าเรือ พอลมมา สมอเกา ไม่มีคนกู้สมอขึ้นมาทิ้งใหม่ ลมจึงพัดเรือเกยตื้น ไม่ใช่จมเพราะบุกคลื่นไม่ไหว

การเดินเรือ

ผมเคยมีประสบการณ์การเดินเรือที่อยู่ในความทรงจำคือ ครั้งหนึ่งผมเคยถือท้ายเรือนำเรือประมงอวนลากคู่ออกจากหัวหินตอนเช้ามืด มีเรือหูวิ่งตามหลัง ตั้งใจจะวิ่งตัดอ่าวข้ามไปลากหมึกแถวหัวเกาะไผ่ แต่วิ่งออกเดินทางมาได้เกือบหนึ่งชั่วโมง เจอลมพายุหัวฝนเข้าปะทะ จึงต้องตัดเข็มเข้าหาก้นโป๊ะเพื่อบรรเทาการปะทะกับคลื่นลมหัวฝน

จำได้ว่า คลื่นลมที่เรือต้องฟันฝ่าไปนั้น น่ากลัวมาก ทั้งคลื่น ทั้งฝน ทั้งลมที่ถาโถมเข้ามา ส่งเสียงร้องกรีดเกรี้ยวดังรุนแรง เสียงน่ากลัวชวนขนหัวลุก ความรู้สึกที่ติดตามมาจนถึงทุกวันนี้คือ ความกลัวจับหัวใจเป็นอย่างนี้เอง

มีคำบอกเล่าในหมู่ชาวเรือว่า ถ้าเจอคลื่นใหญ่ ลมกล้า ถ้าคิดว่าเกินกำลังเรือ เช่น เจอพายุใหญ่ ไม่ให้บุกคลื่น แต่ให้ถือท้ายเรือเดินหน้าช้าๆ หันหัวเรือตั้งสู้คลื่น เดินหน้าสู้อยู่เช่นนั้น 3 วัน 3 คืน หรือจนกว่าพายุจะซัวะ (ซา)

ในกรณีของลูกเรือ รล.สุโขทัยทั้ง 74 ชีวิต ตั้งแต่ผู้การเรือ ต้นเรือ ต้นกล จนถึงพลประจำเรือทุกคน คงไม่มีคำถามเรื่องประสบการณ์การเดินเรือ เพราะต้องสั่งสมกันมาเต็มภาคภูมิอยู่แล้ว

คำถามคือ เรือรบขนาด 900 ตัน สู้คลื่นลมในอ่าวไทยแล้วจมได้อย่างไร

 

การซ่อมบำรุง

ผบ.ทร.แถลงว่า รล.สุโขทัยทิ้งสมอที่หาดทรายรี ชุมพร ไม่ได้เพราะคลื่นใหญ่ จึงขออนุญาตนำเรือขึ้นมาหลบลมที่ท่าเรือบางสะพาน

ลูกเรือที่รอดชีวิตคนหนึ่งรายงานว่า รล.สุโขทัยสู้คลื่นลมอยู่ 10 กว่าชั่วโมงก่อนจะจม

นาทีวิกฤตของ รล.สุโขทัยอยู่ที่ช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเย็นถึง 5 ทุ่มเศษ

ผบ.ทร.แถลงว่า “น้ำเข้าเรือจำนวนมากทางหัวเรือ ทำให้เกิดความเสียหายกับระบบไฟฟ้า ทางเรือพยายามสูบน้ำออกตามขั้นตอน โดยมีเครื่องสูบน้ำในเรือสูบออก แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับเครื่องจักร”

“เมื่อการสูบน้ำทำได้ไม่ทันเท่ากับปริมาณน้ำที่เข้ามา ทำให้น้ำเข้าตัวเรือมากขึ้นเรื่อยๆ ปกติเรือรบจะทนทะเลมากกว่าเรือทั่วไป หากบริเวณไหนเสียหาย ก็จะ ‘ผนึกน้ำ’ แต่ละช่วง สร้างกำลังลอยในเรือ ให้อยู่ได้ ต่างจากเรือทั่วไปที่น้ำเข้า จะไหลเข้ามาเลย เพื่อสู้กับน้ำเข้ามาได้ จึงใช้การผนึกน้ำ ให้เรือลอยอยู่ได้”

ตรงนี้ผมขออธิบายคำ “ผนึกน้ำ” เพิ่มเติมว่า ในส่วนตลอดหัวเรือใต้ดาดฟ้าจนถึงห้องเครื่อง จะมีการกั้นห้องแบ่งเป็นช่วงๆ เมื่อน้ำเข้าช่วงใดช่วงหนึ่ง ก็จะ “ผนึกน้ำ” โดยปิดประตูขังกั้นน้ำไว้ให้อยู่แต่ในห้องนั้น ไม่ให้ไหลไปท่วมห้องอื่นๆ ช่วยประคองให้เรือลอยลำอยู่ได้

มีคำถามว่า แล้วน้ำไหลไปท่วมห้องอื่นๆ จนท่วมห้องเครื่อง ทำเรือจมได้อย่างไร

คำถามนี้ ต้องการคำตอบเพิ่มเติมว่า ยางซีลขอบประตูกั้นห้องแต่ละห้อง ตั้งแต่เป็นเรือรบมา 36 ปีนั้น เคยเปลี่ยนยางกันบ้างไหม ยางพวกนี้ปกติต้องเปลี่ยนตามวาระการซ่อมบำรุงทุก 4 ปี ถ้าเปลี่ยนยางขอบประตูตามกำหนด รับรองว่าน้ำจะไม่มีวันไหลข้ามห้องเข้าไปได้

ผบ.ทร.แถลงต่อมาว่า “หลังจากพยายามสู้กับน้ำทะเล แต่เมื่อน้ำท่วมเครื่องจักรหลายส่วน จนบังคับเรือไม่ได้ เครื่องยนต์ด้านซ้ายดับหลังน้ำเข้า เหลือเครื่องยนต์ขวาเพียงเครื่องเดียว และสูญเสียการควบคุมใบจักร จึงทำความเร็วเข้าท่าไม่ได้ สุดท้ายน้ำท่วมทำให้เครื่องไฟฟ้าดับทั้งหมด เครื่องจักรใหญ่สูญเสีย ทำให้เรือลอยลำกลางทะเล น้ำเข้ามาเรื่อยๆ จนเอียงตามภาพที่เห็นในข่าว”

ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องปั่นไฟทำหน้าที่ควบคุมพังงาเรือ เมื่อเครื่องปั่นไฟดับ ทำให้หมุนพังงาให้เรือตั้งลำสู้คลื่นไม่ได้ เรือจึงโดนคลื่นโถมน้ำเข้าจนเอียงในสภาพ 60 องศาตามภาพ น้ำเข้าเรือได้ง่ายขึ้น มากขึ้น

เมื่อเครื่องยนต์ 2 เครื่องดับ รล.สุโขทัยจึงหมดสภาพ

คำถามว่า น้ำเข้าหัวเรือได้อย่างไร คำตอบของชาวเรือประมงแม่กลองที่ร่วมลงทุนจนมีเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 3,000 ตัน 5 ลำ วิ่งบรรทุกน้ำมันปาล์มย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเห็นตรงกันว่า

“เรือแตก” (เรือมีรอยร้าว ปริ รั่ว)

เรื่องนี้ แม่ทัพเรือไม่ได้พูด พูดความจริงแค่ครึ่งเดียวว่าน้ำเข้าหัวเรือ แต่ไม่บอกว่าเพราะเรือแตก

เพราะไม่มีเหตุผลอื่นใดที่น้ำจะเข้าหัวเรือได้ โดยเฉพาะในช่วงแรกของระยะวิกฤต เรือยังทรงตัวสู้คลื่นลมอยู่ได้ ไม่เสียการทรงตัวจนกระทั่งมีน้ำเข้าหัวเรือ

หัวเรือมีลักษณะแหลมเฉียบน้ำ ต้องวิ่งตัดคลื่น ตัดน้ำตลอดเวลา ต้องมีความคงทน ไม่ใช่น้ำเข้าง่ายๆ

เรือประมงยังลอยลำเดินหน้าสู้คลื่น 3 วัน 3 คืนได้เลย เรือไม่เคยแตก เอาเชือกต๋งพวงมาลัยเรือไว้ให้หัวเรือสู้คลื่นตลอดเวลา

ทำไมเรือรบจึงอยู่ไม่ได้ ในเมื่อเรือรบมีสภาพปิดเหมือนกล่องเหล็กลอยน้ำ อยู่สูงน้ำ ไม่ได้บรรทุกอะไรเพียบจนน่ากลัว น้ำซัดขึ้นดาดฟ้าหัวเรือก็ไหลกลับลงทะเล ไม่เข้าตัวเรือ

เรือรบต้อง “จม (เพราะคลื่น) ไม่เป็น”

แต่วันนี้ โลกต้องจารึกว่า “เรือหลวงแห่งราชนาวีไทย ” โดนคลื่นลมในอ่าวไทย (ไม่ใช่ทะเลเปิดข้างนอก) ซัดจนเรือแตก จมลงก้นทะเล

ถามต่อว่า แล้วเรือแตกได้อย่างไร ก็ต้องถามท่าน ผบ.ทร.ว่า ที่ว่าซ่อมเรือทุก 2 ปี ใช้งบฯ ซ่อมบำรุงหลายสิบล้านบาทต่อครั้งนั้น “ซ่อมจริง” กันอย่างไร “ซ่อมถึง” แค่ไหน หรือ “อ่อนซ่อม” ไปหน่อย (แต่เบิกเต็ม)

พวกเราชาวเรือแม่กลอง ซื้อเรือน้ำมันมือสองจากเกาหลีมาซ่อมใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ รู้ดีว่าจะซ่อมเรือให้ “ถึง” ใช้งานได้ “จริง” ทำอย่างไร

วันที่ รล.สุโขทัยจม เรือน้ำมันของเราก็บรรทุกน้ำมันปาล์มเพียบแประ วิ่งออกจากอินโดนีเซียไปเวียดนาม วิ่งตัดอ่าวไทยด้านนอกทะเลลึก ไม่มีคลื่นลมมาทำอันตรายใดๆ

คำถามสุดท้ายของช่วงนี้ คือ ทร.จะ “กู้เรือ” รล.สุโขทัย ที่จมอยู่ใต้ทะเลลึก 40 เมตร ขึ้นมาดูรอยแตกไหม

 

การกู้ภัย

รล.สุโขทัยโหลดลูกเรือเพิ่มลงมา 30 คน เป็นนาวิกโยธิน 15 คน หน่วยป้องกันชายฝั่ง 15 คน เพื่อไปร่วมงานฉลอง 100 ปีเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ ที่หาดทรายรี ชุมพร

ทั้ง 30 คนนี้ลงเรือมาโดยไม่มีเสื้อชูชีพ แสดงให้เห็นว่า ทร.เห็นคุณค่าของทหารเกณฑ์ “ร่วมเครือนาวี” เพียงใด

รล.สุโขทัยเผชิญคลื่นในช่วงวิกฤตนานกว่า 5 ชั่วโมง ไม่ใช่โดนคลื่นซัดจมในทันทีทันใด ไฉน รล.กระบุรีพร้อมเรือน้ำมันและเรือท่าเรืออีก 2 ลำที่ออกไปช่วย จึงกู้ภัยช่วยลูกเรือไม่ได้ทั้งหมด

ผมไม่เข้าใจว่า ระหว่างที่ รล.กระบุรีเข้าไปช่วยตอนที่ รล.สุโขทัยเอียงอยู่ยังไม่จมนั้น ทำไมจึงไม่โยนเชือกผูกเสื้อชูชีพในเรือตนส่งไปให้ลูกเรือ รล.สุโขทัยที่ไม่มีเสื้อชูชีพ

อีกทั้งเรือน้ำมัน และเรือลากจูงของท่าเรืออีก 2 ลำที่ออกไปช่วย ก็ไม่ได้โยนเสื้อชูชีพให้

ฟังคนที่รอดชีวิตให้สัมภาษณ์ว่า ลูกเรือต้องช่วยตัวเอง คนที่มีเสื้อชูชีพเป็นหลักให้คนที่ไม่มีเสือชูชีพเกาะลอยคอเป็นแพในทะเล วงละประมาณ 10 คน ฟังแล้วสะท้อนใจ พอคลื่นซัดมาลูกแรกแพก็แตกแล้ว คนที่ไม่มีชูชีพจะมีโอกาสรอดอย่างไร

แต่เมื่อได้มาฟัง ผบ.ทร.แถลงว่า ถึงแม้จะมีเสื้อชูชีพ บางคนที่ช่วยมาได้ก็เสียชีวิต แปลว่า

ถึงจะมีเสื้อชูชีพหรือไม่มี ก็ตายได้เท่ากัน (ไม่มีชูชีพก็ไม่ต่างอะไร) ทำให้รู้สึกแย่มาก

เพราะมีท่าทีห่วงใยชีวิตลูกน้องทหารเรือที่ไม่มีเสื้อชูชีพน้อยเกินไป

ชาวประมงมีลูกหลานเป็นทั้งทหารเกณฑ์ “ร่วมเครือนาวี” และมีหลายคนทำงานในอู่เรือรับจ้างซ่อมเรือรบ รู้เห็นว่าซ่อมเรือกันอย่างไร

เพียงแต่เขาจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น

ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียลูกเรือ และ รล.สุโขทัย

ที่มีนักการเมืองออกมาโจมตีว่า รล.สุโขทัยจม เพราะกรมอุตุฯ ไม่ได้ให้คำเตือนภัยว่าจะเกิดคลื่นใหญ่ลมแรง จนมีการเสนอให้ปลดอธิบดีกรมอุตุฯ เพื่อบูชายัญนั้น

ผมมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะกรมอุตุฯ ได้ให้คำทำนายที่สมควรแล้วว่า วันนั้นบริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นจะสูงกว่า 4 เมตร

ส่วนจะให้ทำนายเจาะจงว่าตรงจุดใด เวลาใดจะเกิดคลื่นใหญ่ลมแรงนั้น ประสิทธิภาพของเครื่องมือในเมืองไทยยังทำไม่ได้

ตรงกันข้าม ควรจัดสรรงบประมาณให้กรมอุตุฯ จัดซื้อเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และถ้าแน่จริง ขอให้นักการเมืองเสนอว่าคนที่สมควรจะโดนปลดคือ รมต.กลาโหมที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลในทุกกรณี จนเรือรบหลวงจมลงก้นทะเล ลูกเรือเสียชีวิต สูญหายจำนวนมาก

แถมยังไม่ยอมออกมาเอ่ยปากขอโทษประชาชนแต่อย่างใด