บทเรียนรัฐบาลจากฐาน ส.ว. โดย ‘ส.ส. เป็นตัวประกอบ’ และสถานะ ‘มีชัย’ ปธ.วุฒิสภาที่ยาวนานที่สุด

มุกดา สุวรรณชาติ

ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

เหตุผลตอนเริ่มแรกก็คือว่าเป็นเหมือนสภาพี่เลี้ยง คอยประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยเดินไปได้ มีวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้รู้ดีกว่าคอยกลั่นกรองกฎหมายจะได้ไม่มีข้อผิดพลาด

ผ่านไปกว่า 80 ปีจนถึงวันนี้ก็ยังจะมีวุฒิสภาอยู่ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ส.ว. ที่แต่งตั้งเข้าไปในวุฒิสภามาจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือก บางครั้งถูกสรรหาโดยผู้มีอำนาจไม่กี่คน

กำลังทางการเมืองของวุฒิสภาจึงอาจกลายเป็นกำลังของผู้ต้องการมีอำนาจในยุคนั้น

บทเรียนที่น่าศึกษาที่สุดก็คือวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2521


ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ 2521

หลังการรัฐประหาร 2519 ความโหดร้ายจากการที่กลุ่มขวาจัดเข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์และสังหารนักศึกษาไปจำนวนหนึ่ง พร้อมกับการจับกุมคุมขังนักศึกษาประมาณ 3,000 กว่าคน ทำให้นักศึกษาและประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายก้าวหน้าได้หนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งขณะนั้นใช้กำลังอาวุธโค่นอำนาจรัฐ มียุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง การต่อสู้จึงเกิดขึ้นในเขตชนบทเกือบทั่วทั้งประเทศ

รัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ภายใต้คณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ประกาศนโยบายปฏิรูปซึ่งมียุทธศาสตร์ต่อเนื่องถึง 12 ปี แต่ใช้ปกครองประเทศได้ไม่ถึง 1 ปีก็ถูกรัฐประหารโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในเดือนตุลาคม 2520 เป็นการรัฐประหารซ้ำที่ทำแบบไม่เกรงใจใครทั้งสิ้น คงเห็นว่าไม่มีใครยอมรับรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2519 ได้เลย

แต่ผลที่ตามมาก็คือคณะรัฐประหารชุดใหม่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเช่นเดิม พลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหารจึงเปิดเกมนิ่ม ใช้ไม้อ่อนด้วยการปล่อยตัวนักศึกษาที่เป็นแกนนำซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏโดยใช้กฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2521

และถือโอกาสนิรโทษคนฆ่าไปด้วย

จากนั้นจัดการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็วประกาศใช้ในเดือนธันวาคม 2521เพื่อเตรียมเลือกตั้ง จะได้ไม่ถูกเรียกว่าปกครองแบบเผด็จการ

 

ปี 2522 มีการเตรียมการเลือกตั้ง
ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

บ้านเมืองในขณะนั้นกล่าวได้ว่าอยู่ในสภาพที่สถานการณ์ภายในและภายนอกไม่น่าไว้วางใจ

คือภายในประเทศก็มีกองกำลังติดอาวุธของ พคท รบกับรัฐบาลอยู่นับร้อยจุด

ส่วนรอบบ้านเราหลังชัยชนะของกลุ่มคอมมิวนิสต์อินโดจีน… เวียดนาม ลาว กัมพูชา เกิดสภาพที่แปรเปลี่ยน มีความขัดแย้ง กองทัพเวียดนามบุกเข้ากัมพูชา เพื่อล้มรัฐบาลเขมรแดง ที่จีนสนับสนุน

กองทัพหลักเวียดนามได้เคลื่อนกำลังมาใกล้ชายแดนไทยทางด้านตะวันออก เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง

สภาพการเมืองการทหารแนวชายแดนไทยขณะนั้นสับสนมาก ฝ่ายต่อต้าน กลายเป็นทหารเขมรแดงร่วมกับกองกำลังของ พคท.อีสานใต้ และทหารไทย ให้การสนับสนุน ส่วนอาวุธได้รับจากจีนและอเมริกา

แม้สถานการณ์จะเป็นแบบนี้ แต่แนวทางการแก้ปัญหาการเมือง ที่เสนาธิการแนะนำแก่พลเอกเกรียงศักดิ์คือจะต้องมีการเลือกตั้งและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

หลังปีใหม่ 2522 มีรัฐธรรมนูญแล้วพลเอกเกรียงศักดิ์ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นช่วงกลางเดือนมกราคม พอถึงปลายเดือนมกราคมก็เดินทางไปเยือนอังกฤษ และต้นเดือนกุมภาพันธ์ได้เดินทางไปเยือนอเมริกา เข้าพบกับประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ การไปในครั้งนั้นไทยได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่เรื่องกระสุนปืนเล็กที่ตกค้างอยู่ในไทย การแก้ไขปัญหายาเสพติด เรื่องเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอีกจำนวนหนึ่งที่จะผ่านธนาคารโลก ในขณะเดียวกันก็พบกับเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน

กำหนดการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2522 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2521

 

วุฒิสภา…ตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย 2521

รธน. ฉบับนี้ประกาศใช้วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 มีสาระที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจดำเนินต่อไป คือ…

1. รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา เป็นผู้ยื่นชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการโปรดเกล้าฯ ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา

2. ส.ว. มาจากการแต่งตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร มีวาระคราวละ 6 ปี เมื่อครบ 2 ปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 โดยวิธีจับสลาก และทำดังนี้จนครบ 6 ปี ส.ว. เป็นข้าราชการประจำได้

ส.ว. มีอำนาจหน้าที่เท่ากับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

3. นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการลงประชามติ แม้ไม่เป็นที่พอใจของนักการเมืองและประชาชน ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ก็ให้ประชาชนได้แค่นี้

 

การแสดงการเลือกตั้ง…
ผลก็คือ กลุ่มวุฒิสภาใหญ่สุด

เมื่อถึงเวลาที่ละครเรื่องเลือกตั้งเปิดการแสดง ผู้สนใจร่วมต้องสมัครในนามกลุ่มการเมือง เพราะยังไม่ให้ตั้งพรรค ทำให้กำลังทางการเมืองกระจายตัวออก ทั้งนักการเมืองและประชาชนใช่ว่าอยากจะได้ประชาธิปไตยในสภาพนี้

แต่การต่อสู้กับอำนาจรัฐในขณะนั้น คนส่วนใหญ่ยังไม่อยากต่อสู้ด้วยอาวุธ เช่นเดียวกับ พคท. และนักศึกษาที่อยู่ในป่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยปลอมๆ เหมือนคนเรือล่ม จมน้ำ ได้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาหายใจ จากนั้นก็มองหาขอนไม้เกาะ คิดว่าลอยคอต่อไปคงมีโอกาสรอด

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. 22 เมษายน 2522 ทั้งหมด 301 คน ปรากฏว่า กลุ่มกิจสังคมได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 82 คน กลุ่มอิสระร่วมกัน 63 คน กลุ่มชาติไทยได้ 38 กลุ่มประชากรไทย 32 กลุ่มประชาธิปัตย์ 32 กลุ่มเสรีธรรม 21 กลุ่มชาติประชาชน 13 กลุ่มพลังใหม่ 8 นอกนั้นเป็นกลุ่มเล็กได้ 1-3 คน

สถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯ ขณะนั้นกลุ่มประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช ได้ถึง 29 กลุ่มกิจสังคมได้ 2 และประชาธิปัตย์ได้เพียง 1

และในขณะที่ผู้คนกำลังลุ้นผลการเลือกตั้ง ก็ได้มีการประกาศแต่งตั้ง ส.ว. 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. คือ 225 คนเป็นทหารบก 112 ทหารเรือ 39 ทหารอากาศ 34 และตำรวจ 8 มีพลเรือน 32 ภายในวันเดียวเราก็มีสมาชิกรัฐสภา 526 คน ใครคุมเสียงเกินครึ่ง (264 คน) จะได้เป็นนายกฯ

 

เรียกประชุมสภาด่วน
ผ่านสถานีวิทยุ โทรทัศน์
จู่โจมเลือกนายกฯ

หลังการเลือกตั้งก็ชัดเจนว่าพลเอกเกรียงศักดิ์จะได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล กลุ่มกิจสังคมโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้า แถลงว่าจะไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับใครทั้งสิ้น ไม่มีประโยชน์ บริหารประเทศได้ไม่สะดวก สุดท้ายก็จะล่ม รัฐบาลผสมแบบนี้เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย อนาคตถ้าพลเอกเกรียงศักดิ์ตั้งรัฐบาลไม่ได้ กิจสังคมจะจัดตั้งเอง

ส่วนกลุ่มประชาธิปัตย์มีมติว่าให้อยู่เฉยๆ และจะเป็นฝ่ายค้านพร้อมกับเตรียมปฏิรูปพรรคเนื่องจากประสบความพ่ายแพ้อย่างหนัก

วันที่ 9 พฤษภาคม 2522 มีการประชุมสภาทั้ง 2 สภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาในตอนเช้าและตอนบ่าย พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ จากกิจสังคมได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

10 พฤษภาคม สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานีประกาศเชิญประชุมรัฐสภาแบบสายฟ้าแลบ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 เวลา 14.00 น. เรื่องนี้ทำเอาสายการเมืองที่สังกัดพรรคโวยวายกันใหญ่ว่าการประชุมจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ทำแบบนี้มีเงื่อนงำ

วันที่ 11 พฤษภาคม เมื่อถึงเวลาประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม 349 คน จาก 526 คน หายไป 177 คน และก็มีการซาวเสียงหาตัวนายกฯ จริงๆ ใครไม่มาก็ตามใจ ผลปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ 311 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม 20 คน

วันที่ 12 พฤษภาคม 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยโรงเรียน ส.ว. โรงเรียนจีนและอเมริกา

 

การตั้งรัฐบาล
พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ก็ตั้งคณะรัฐมนตรีครบทั้ง 44 ตำแหน่ง

โดยพลเอกเกรียงศักดิ์นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วยังควบตำแหน่ง รมว.คลัง และ รมว.เกษตรฯ นั่งทีเดียว 3 เก้าอี้ ส่วนงานด้านการทหารก็ให้ความไว้วางใจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่ง

การตั้งรัฐมนตรีครั้งนี้มีผู้วิจารณ์ว่าให้ความสำคัญกับสายการเมืองน้อยไป มาจาก ส.ส. เพียง 8 คน ซึ่งพลเรือนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. 3 คน ส่วนอีก 19 คนมาจากข้าราชการประจำ เช่น ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ปลัดกระทรวงการคลัง ผอ.สำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิการบดีจุฬาฯ อธิการบดี ม.เกษตรฯ อธิบดีกรมอัยการ รองอธิบดีกรมตำรวจ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นต้น

แม้จะมีอำนาจมากมายขนาดนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังกล้าบอกว่าให้เวลารัฐบาลนี้ 6 เดือน พลเอกเกรียงศักดิ์ เก่งกว่านั้น อยู่ได้ตั้ง 9 เดือน แต่ใครสอย…อินทรีบางเขน…ผู้มีอำนาจคับเมืองร่วง? ทั้งๆ ที่มีกองทัพ และ ส.ว. หนุนถึงกว่า 200 คน เกิน 40% ของรัฐสภา…

 

ในคลื่นการเมือง ถ้าประมาท…
เรือล่มได้ ไม่ว่าเรือใคร

การชิงอำนาจทางการเมืองเหมือนคลื่นที่เข้าปะทะรัฐนาวา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่าให้เวลารัฐบาลนี้ 6 เดือน แต่…31 สิงหาคม 2522 พรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทยก็ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 4 กระทรวงคือ มหาดไทย อุตสาหกรรม พาณิชย์ และคมนาคม แต่รัฐบาลก็ผ่านได้ นายกฯ เกรียงศักดิ์ มัวแต่มองคู่ปรับคนสำคัญ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งสื่อมวลชนให้ฉายาว่าเฒ่าสารพัดพิษ ไม่ได้ระวังคนอื่น

รัฐบาลบริหารประเทศมาจนถึงสิ้นปี 2522 ยังไม่ครบปี ปัญหาที่เผชิญอยู่ตรงหน้าคือปัญหาพื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจ ในที่สุดโอกาสก็เกิดปัญหาราคาน้ำมันซึ่งดีดตัวสูงขึ้นติดต่อกันจาก 13-15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพียงปีเดียวขึ้นสูงถึง 26-32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต้องมีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ 6 ครั้ง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลการ์ดตกนิดเดียวก็มีคนปล่อยหมัดน็อกทันที

เกิดการชุมนุมของประชาชนนักศึกษา สหภาพแรงงานและฝ่ายการเมืองที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2523 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้พรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้เตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่บอกไว้

23 กุมภาพันธ์ 2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ พยายามออกวิทยุโทรทัศน์ชี้แจงและโต้ตอบ ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ 27 กุมภาพันธ์ ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ถ้าหากเสียงของ ส.ว. 225 เสียง และ ส.ส. จำนวนหนึ่ง ยังสนับสนุน ก็ไม่มีอะไรน่าวิตก แต่งานนี้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ถูกจู่โจมชิงกำลังอย่างรวดเร็ว กว่าจะรู้ตัวก็ช้าไปแล้ว รัฐบาลจึงขอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อชี้แจงปัญหาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 มีนาคม 2523

เมื่อ ส.ว. มีใจเป็นอื่น…
การแสดงก็ต้องปิดฉาก

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 หลังจากที่พลเอกเกรียงศักดิ์แถลงต่อรัฐสภาอย่างยืดยาว สุดท้ายก็ได้แถลงลาออกโดยให้เหตุผลว่า เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา…กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้…กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ตลอดไป…ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่าเข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ…

นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออกกลางสภา มีการวิเคราะห์กันต่างๆ นานาว่าทำไมพลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ยุบสภา ทำไมยอมลาออกก่อนจะถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เบื้องหลังเหตุการณ์นั้นมีผู้วิเคราะห์ว่า

นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ฐานลอยจากทุกส่วนของอำนาจคือ

1. อำนาจทางทหารหายไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้อำนาจทางทหารเป็นตัวช่วย

2. ไม่มีอำนาจในการควบคุมเสียงของ ส.ว. เพราะ ส.ว. ใจเป็นอื่นไปแล้ว คือเปลี่ยนไปตามขั้วอำนาจที่เป็นใหญ่ ณ ช่วงเวลานั้น ข่าวบอกว่าฐานเสียงสำคัญจาก จปร.7 ถอนตัว และช่วยล็อบบี้ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ให้มาหนุนคนใหม่

3. ไม่มีอำนาจในการควบคุมเสียง ส.ส. เพราะนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ มองว่านักการเมืองไม่มีน้ำยา ในสภาพประชาธิปไตยหลอกๆ จึงไม่สนใจ ฐานประชาชน แต่การปกครองระบบใดขาดการสนับสนุนจากฐานนี้ก็ไปไม่รอด

4. พลเอกเกรียงศักดิ์ ลอยตัวจากอำนาจนอกระบบมานานแล้วนับตั้งแต่รัฐประหารตุลาคม 2520 และในช่วงหลังนโยบายต่างประเทศที่คบทุกฝ่าย ทั้งจีน รัสเซีย อเมริกา กลุ่มประเทศอาหรับ ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจจากมหาอำนาจ

ฝ่ายจู่โจมชิงอำนาจครั้งนี้จึงทำไม่ยาก เพราะนายกฯ ไม่มีแนวร่วมเหลืออยู่เลย ใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เกมก็จบ

และที่ไม่ยุบสภาก็เพราะถูกบีบบังคับให้ลาออก สมัยนั้นไม่มีตุลาการภิวัฒน์ ตอนนั้นอาจจะเรียกว่าวุฒิสภาภิวัฒน์ก็ได้ เพราะ ส.ว. ใจเป็นอื่นไปแล้ว นายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่สามารถใช้การแก้ไขทั้งการทหารและการเมือง

บางคนมองว่าเป็นการยึดอำนาจอย่างเงียบๆ เมื่อถูกล็อกหมดทุกด้าน ถ้าไม่ลาออกจะถูกอภิปรายหลายเรื่องกลางสภา แพ้มติไม่ไว้วางใจ หลุดจากตำแหน่ง

ถึงอยากอยู่ยาวเขาก็ไม่ให้อยู่ เพราะเขาตกลงแบ่งอำนาจกันแล้ว (การชิงอำนาจจากนายกฯ สมัคร และนายกฯ สมชาย ปี 2551 โดยตุลาการภิวัฒน์ แล้วตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ยากกว่า)

สิ่งเหล่านี้มาพิสูจน์ตอนที่มีการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออก 3 วัน

วันที่ 3 มีนาคม 2523 มีการจัดประชุมที่รัฐสภาซาวเสียงหานายกฯ คนใหม่ ผลปรากฏว่า

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 195 เสียง ได้จาก ส.ว. 200 เสียง รวมเป็น 395

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้คะแนนจาก ส.ส. 79 เสียง ส.ว. 1 เสียง รวมเป็น 80

อดีตนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้คะแนนจาก ส.ส. 4 เสียง และ ส.ว. 1 เสียง รวมเป็น 5

และพลเอกเปรม ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 3 มีนาคมนั้นเอง

 

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานวุฒิสภาที่ยาวนานที่สุด
เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านกฎหมาย 12 ปี

มีชัย เคยเป็นเลขานุการกรรมาธิการร่าง รธน. 2521 ทำเสร็จใน 6 เดือน และเป็น รมต. ดูแลด้านกฎหมายให้กับ 4 นายกรัฐมนตรี นาน 12 ปี

แต่เป็นประธานวุฒิสภานานที่สุดของประเทศไทย เกือบ 8 ปี

ในปี 2520 หลังการรัฐประหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ ได้ตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเข้าไปช่วยงานเป็นเลขานุการรองนายกรัฐมนตรี สมภพ โหตระกิตย์

ในปลายปีนั้นเอง มีชัยก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งให้เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญคือเลขานุการของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และร่างเสร็จในเดือนมิถุนายน 2521 เข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติ 12 ตุลาคม จนถึงวันพิจารณาลงมติของ สนช. คือวันที่ 18 ธันวาคม 2521 มีผู้เห็นชอบ 330 คน ค้าน 9 คน ไม่นับฝ่ายนักศึกษาที่มาแปะโปสเตอร์คัดค้านอยู่ที่หน้าสภา และประชาชน

มาถึงยุคของ พลเอกเปรม ครม. มาจากพรรคการเมืองหลายพรรค เช่น กิจสังคม ชาติไทย ประชาธิปัตย์ สยามประชาธิปไตย รวม 24 คน บางส่วนก็มาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 42 ปี

มีชัย ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ.2523-2531 ยังต่อไปถึงรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่าง พ.ศ.2531-2533 และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ประมาณ 1 ปี เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2535 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร อยู่ได้ไม่นานก็เกิดพฤษภาทมิฬ 2535 นายมีชัยจึงต้องรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ 22 วัน

หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และเป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่นายอานันท์ กลับมาเป็นนายกฯ ชั่วคราว

เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ ชวน หลีกภัย นายมีชัยก็ยังอยู่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา

นายกฯ ชวน ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ บรรหาร ศิลปะอาชา นายมีชัย ก็ยังเป็นประธานวุฒิสภา

นายกฯ บรรหาร ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประธานวุฒิสภาก็ยังคงเป็นนายมีชัย เหมือนเดิม

นายกฯ พลเอกชวลิต ลาออก นายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง นายมีชัย ก็ยังเป็นประธานวุฒิสภาจนกระทั่งหมดสมัยในปี 2543

นี่จึงกล้าพูดได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวุฒิสภาและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วประธานวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งแค่ 1 ปี 2 ปีเท่านั้น

หลังรัฐประหารล้มนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 เมื่อตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายมีชัย จึงได้รับเลือกเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจนมีการเลือกตั้งใหม่