กระแสรถอีวีแรงจัด ทุกค่ายยอดจองถล่มทลาย ‘เทสลา’ ร่วมวงเขย่าตลาด

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในบ้านเราที่หลายฝ่ายดูหมิ่นดูแคลนมาตลอดว่า “เกิดยาก” ประเทศไทยยังไม่พร้อม กว่าจะก้าวเดินคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่จริง ความต้องการรถอีวีมีเยอะมาก โดยเฉพาะในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ปรากฏยอดจองสูงเกือบ 6 พันคัน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างแรกปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้เล่นแต่ละแบรนด์มีแคมเปญเด็ดๆ กระตุ้นการขาย แต่ตัวเร่งที่แข็งแกร่งสุดๆ หนีไม่พ้นแรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่กระโดดลงมาช่วยสร้าง “ดีมานด์” อย่างเต็มตัว

โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ งานนี้คลังใช้งบฯ อุดหนุนวงเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท

โดยรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านผู้ซื้อได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท ขณะที่จักรยานยนต์ไฟฟ้า รับเงินอุดหนุน 8 หมื่นบาท

ซึ่งมาตรการสนับสนุนนี้ ขณะนี้มีผู้ผลิต ทั้งแบรนด์จีน-ญี่ปุ่น และอื่นๆ รวมถึง 9 ราย อาทิ เอ็มจี, เกรทวอลล์, โตโยต้า, โวลต์, ไมน์ โมบิลิตี, เดโก้ กรีน, เอช เซม มอเตอร์, ไทยฮอนด้า และล่าสุดเมอร์เซเดส-เบนซ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานมอเตอร์เอ็กซ์โปปีนี้กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สามารถกวาดยอดจองสูงถึง 15% หรือมีตัวเลขจองราวๆ 5,800 คันของยอดรวม 36,679 คัน แบ่งเป็นแบรนด์ BYD 2,714 คัน แบรนด์ ORA 1,212 คัน แบรนด์ MG 600 คัน แบรนด์ Neta 827 คัน แบรนด์ Mine ของกลุ่ม EA32 คัน แบรนด์ Volt ของกลุ่มอีวีไพร์มัส 210 คัน แบรนด์ Pocco (ของกลุ่ม BRG) 30 คัน แบรนด์ Porsche 70 คัน แบรนด์ Mercedes-Benz 30 คัน และอื่นๆ อีก 75 คัน

โดยแบรนด์ BYD ถือว่าเนื้อหอมสุดๆ เนื่องจากรถสวย ราคาดี แถมมีของพร้อมส่งมอบ ล่าสุดมีการแจ้งตัวเลขการขาย ตั้งแต่เปิดตัวเมือต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงวันนี้ใช้เวลาแค่เดือนเศษๆ ฟันยอดขายไปแล้ว 10,000 คัน

ถึงขนาดต้องออกประกาศเบรกรับจองเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2565 โดยจะเปิดรับจองอีกทีราวไตรมาสแรกปี 2566

ส่วนแบรนด์ ORA ของค่ายเกรทวอลล์มอเตอร์ แม้ก่อนหน้าเปิดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเล็กน้อยจะเจอดราม่ากรณี ORA Good CAT ของลูกค้ารายหนึ่งเกิดอุบัติเหตุคล่อมฟุตปาธ พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุระบุฝาครอบพร้อมแบตเตอรี่เสียหายและทางศูนย์บริการยืนยันว่าต้องเปลี่ยนตัวแบตเตอรี่ ซึ่งมีราคาแพงมาก ทำให้บริษัทประกันภัยเสนอคืนทุนประกันแบบอุบัติเหตุหนักที่เสียหายทั้งคันและต้องโอนกรรมสิทธิ์เป็นซาก แต่ผู้เอาประกันไม่ยอม ต่อสู้จนเกิดกระแสให้คนที่กำลังจับจ้องและสนใจจะซื้อรถอีวีเริ่มกังวล

ในที่สุดบริษัทแม่แอ๊กชั่นให้อุบัติเหตุครั้งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของประกันภัย และสามารถเปลี่ยนแค่ฝาครอบแบตเตอรี่ได้ ทำให้ทุกคนคลายความกังวล ประกอบกับราคาน้ำมันแพงช่วงนี้เป็นขาขึ้น

ดังนั้น ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเที่ยวนี้ แบรนด์ ORA จึงสามารถสร้างยอดจองทะลุพันคันได้สบายๆ

ในขณะที่แบรนด์ MG ผู้บุกเบิกตลาดรถอีวีในบ้านเรา ผู้บริหารยืนยันว่า กระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าตอนนี้ดีมากๆ ทำให้เอ็มจีมั่นใจว่าตามแผนงานด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่โรงงานเอ็มจี ในนิคมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง น่าจะดำเนินการได้ตามแผน คือไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 หลังจากทำผลงานในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปได้ดีเกินคาด

โดยในงานรับจองเพียงรุ่นเดียวคือ MG ZS EV แต่สามารถกวาดยอดจองสูงถึง 600 คัน ขณะที่รุ่นอื่นๆ ทั้ง MG EP และ MG 4 นั้นเปิดรับจองผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

ส่งผลให้ปีนี้ MG มียอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 5,000 คัน และภายในไตรมาสแรกของปี 2566 จะสามารถส่งมอบได้อีก 5,000 คัน

เช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ ทั้ง Neta, Volt, Pocco ก็สามารถทำยอดจองได้เป็นกอบเป็นกำกับราคาขายเริ่มต้น 4 แสนบาทไปจนถึง 6 แสนบาท เรียกว่าเป็นราคาที่จับต้องได้ง่าย ไม่ต่างจากแบรนด์รถหรูอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู, วอลโว่ ที่ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ระคายกับกระเป๋าบรรดาเศรษฐี ทำให้ฟันยอดจองจากงานนี้ได้เกินกว่าที่เจ้าของแบรนด์คาดการณ์ไว้หลายช่วงตัว

สำหรับงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปีนี้ ตลอดระยะเวลาจัดงาน 13 วัน มียอดจองทั้งสิ้น 42,759 คัน แบ่งเป็นยอดจองรถยนต์ 36,679 คัน รถจักรยานยนต์ 6,080 คัน 5 อันดับสูงสุดได้แก่ โตโยต้า 6,064 คัน, ฮอนด้า 3,252 คัน, บีวายดี 2,714 คัน, อีซูซุ 2,648 คัน, และนิสสัน 2,478 คัน ส่วนจักรยานยนต์ แลมเบรตต้า 1,839 คัน ยามาฮ่า 1,408 คัน, อีเอ็ม 516 คัน, ฮอนด้า 445 คัน และรอยัล เอ็นฟีลด์ 403 คัน

ราคาเฉลี่ยของรถที่ขายได้ในงาน 1,349 ล้านบาท รถจักรยานยนต์เฉลี่ย 2.53 แสนบาท เงินหมุนเวียนในงานราว 5.1 หมื่นล้านบาท ผู้เข้าชมงาน 1,335,573 คน

นอกจากในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ค่ายรถยนต์กวาดยอดจองแบบถล่มทลายแล้ว การเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของยักษ์ใหญ่ในวงการผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก สัญชาติอเมริกัน ที่มีมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอ ยังประกาศลุยทำตลาดรถอีวีในบ้านเราอย่างจริงจัง นับเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งดีมานด์ในตลาดได้เป็นอย่างดี

Tesla เปิดจอง 2 รุ่นทันที พร้อมระบุว่า Tesla สามารถส่งมอบรถได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2566

นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดศูนย์บริการแห่งแรกภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ด้วยเช่นเดียวกัน

รวมทั้งยังมีแผนเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบซูเปอร์ชาร์จ แห่งแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และจะขยายเพิ่มเป็น 10 แห่งในอนาคตอันใกล้ พร้อมประกาศราคา Tesla MODEL 3 ที่มีรุ่นย่อย 3 รุ่น Model 3 Rear-Wheel Drive ราคา 1,759,000 บาท, Model 3 Long Range (AWD) ราคา 1,999,000 บาท และ Model 3 Performance (AWD) ราคา 2,309,000 บาท

ส่วน MODEL Y อีก 3 รุ่นย่อย ได้แก่ MODEL Y Rear-Wheel Drive ราคา 1,959,000 บาท, MODEL Y Long Range ( AWD) ราคา 2,259,000 บาท และ MODEL Y Performance (AWD) ราคา 2,509,000 บาท

สร้างสถิติการจองถล่มทลายแค่ 2 วัน ตัวเลขจองทะลุ 5,000 คัน สาเหตุที่ Tesla ทั้ง 2 รุ่นได้รับความนิยมเนื่องจากราคาขายที่ต่ำลงเกือบล้านบาท ด้วยเป็นรถอีวีที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน ได้สิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้า 0% ส่งผลให้มีราคาขายต่ำกว่าแบรนด์มาร์เก็ตซึ่งนำมาขายก่อนหน้านี้มากกว่าล้านบาท

 

กระแสและดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบีโอไอ มั่นใจกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคแห่งนี้ ตามนโยบาย 30/30 ของรัฐบาลไทยที่ตั้งใจจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 700,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573

ซึ่งตอนนี้บีโอไอนอกจากจะอนุมัติส่งเสริมการผลิตปีนี้ได้มากถึง 1 ล้านคัน ล่าสุดยังมีค่ายรถจีนแบรนด์ใหม่ๆ สนใจเข้ามาทำตลาดในบ้านอีกหลายแบรนด์ อาทิ ฉางอัน, จิลลี่ และเฌอรี รวมถึงแผนดึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่เข้ามาไว้ในประเทศไทย

พร้อมทั้งยังส่งทีมไล่จีบ Tesla ให้ร่วมกันหนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้อนทั่วทั้งโลกอีกด้วย