‘พลัดหลง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ระหว่างการเดินทางสู่จุดหมาย สองข้างทางที่ผ่านนั้นสำคัญ ไม่สมควรที่จะละเลย แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือ จุดหมาย ก็ไม่สมควรละเลยและจำเป็นต้องไปให้ถึง

ในงาน ผมเขียนเช่นนี้บ่อยๆ เช่นเดียวกับเล่าถึงการเดินทางในพื้นที่ทำงานในป่าด้านตะวันตกเสมอๆ ว่า การสัญจรในป่าแถบนี้ไม่ง่าย ไม่ว่าจะใช้พาหนะหรือเดินด้วยเท้า ทั้งเส้นทางที่คนทำขึ้น รวมทั้งด่านที่สัตว์ป่าใช้

คนเดินป่าทุกวันนี้รู้ดีว่า เดินทางสู่จุดหมายไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เรามีเครื่องมือ มีรายละเอียดในแผนที่ซึ่งบอกชัดเจนว่ามีร่องหุบต้องขึ้นสันเขา รวมทั้งลำห้วย และจะต้องผ่านป่าในสภาพใดบ้าง

ข้อดีคือ ทำให้รู้ว่าเส้นทางไปทิศใด ส่วนข้อเสียนั่น การรู้ว่าต้องเผชิญกับสภาพทาง ขึ้นสันเขา ลงหุบหลายๆ ครั้ง เช่นนี้ ความเมื่อยล้าจึงมาถึงก่อนยกเป้ขึ้นหลังเสียด้วยซ้ำ

เทคโนโลยีช่วยให้เดินถึงจุดหมายอย่างที่ตั้งใจได้โดยไม่หลง แต่เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยให้ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลดลง

 

ผมเล่าบ่อยๆ อีกว่า การเดินทางในป่าช่วงฤดูฝน และฤดูแล้ง ต่างกันราวกับหน้ามือกับหลังมือ

ระยะทางเดิมที่เคยใช้เวลาราวสี่ชั่วโมง อาจกลายเป็นวัน หรือหลายวัน

ป่าบางแห่งซึ่งไม่มีประชากรช้างอาศัยอยู่อย่างถาวร หน้าที่บุกเบิกสร้างเส้นทาง หรือด่านที่จะใช้เดินเชื่อมระหว่างแหล่งอาหารจึงตกเป็นของกระทิง ที่แม้ว่าจะอยู่รวมกันเป็นฝูง มีสมาชิกในฝูงหลายตัว แต่ดูเหมือนพวกมันไม่ค่อยมีฝีมือในการสร้างทางสักเท่าไหร่

แถมเมื่อเดินตามทางที่กระทิงสร้าง ยังเพิ่มความยุ่งยากให้เรา เพราะทางจะรกทึบ ไม่โล่ง อีกทั้งกระทิงจะย่ำลงไปในโคลนทิ้งรอยตีนไว้เป็นหลุมๆ ดินที่มีโครงสร้างเป็นดินเหนียว เมื่อย่ำเท้าลงไป การชักเท้าขึ้นก้าวเดินต่อไม่ง่าย

โดยเฉพาะหากเป็นทางชันๆ ในขาขึ้นไม่เท่าไหร่ แต่ในตอนลงจากสันเขา เราจะพบกับทางลื่นไถล มือต้องคว้าต้นไม้เพื่อยึดเหนี่ยว

กระนั้น การลื่นล้มก้นกระแทก หรือไถลไปปะทะกับต้นไม้ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ

สิ่งอันทำให้รู้สึกดีบ้าง เมื่อใช้เส้นทางสภาพนี้ คือ บนทางชันๆ จะปรากฏรอยกระทิงลื่นเช่นกัน

คำว่า สี่เท้ายังรู้พลาด ปลอบใจได้บ้าง

นกเงือกกรามช้าง – ตั้งแต่เช้าตรู่ นกเงือกกรามช้าง เดินทางมุ่งสู่ต้นไทรที่เป็นแหล่งอาหาร

ช่วงฤดูฝน บนทางลื่นๆ ทากชูตัวสลอนเป็นเรื่องธรรมดา ถุงเท้ากันทากช่วยได้ ช่วยไม่ให้ทากกัดแถวข้อเท้าหรือขา มันจะคืบคลานขึ้นมาถึงแถวเอว เลยไปถึงคอ ลงมือกินอาหาร กว่าจะรู้ตัว มันก็กินอิ่มตัวอ้วนกลมแล้ว

ครั้งหนึ่ง ในช่วงฝน ผมไม่ใช้แคมป์พักที่อยู่ใกล้น้ำนัก ลำห้วยซึ่งมีระดับน้ำเพียงหัวเข่า สามารถเปลี่ยนสภาพได้ทุกเมื่อ

เช้าๆ ผมเดินจากแคมป์ข้ามลำห้วยไปราว 40 นาที จุดหมายอยู่ที่ต้นไทรที่กำลังออกลูกสุก ที่ต้นไทรจึงคึกคักตลอดวัน เช้ามืดฝูงนกแก๊ก และนกเงือกกรามช้าง บินเข้า-ออก เสียงปีกแหวกอากาศดังเหมือนพายุ

สายๆ เป็นเวลาของชะนี ต่อด้วยฝูงค่างแว่นถิ่นเหนือ และลิง บางวันมีหมีควายเข้ามาร่วมวง

อยู่ในแคมป์ค่อนข้างสบาย ความยุ่งยากอยู่ที่ตอนไปทำงาน หลังข้ามลำห้วย ด่านพาขึ้นสันเขา ไต่ขึ้น และลงหุบ เป็นเส้นทางเดียวกับที่สัตว์ป่าใช้ พวกมันย่ำไว้จนทางค่อนข้างเละ

เมื่อเป็นเส้นทางที่สัตว์ป่าใช้ ทากย่อมเยอะขึ้นตาม แต่ละวัน ผมบริจาคเลือดไปหลายซีซี

บางวันก่อนถึงแคมป์ ผมต้องข้ามลำห้วยที่ระดับน้ำสูงถึงคอ

 

ทํางานช่วงฤดูฝน ยิ่งเป็นป่าซึ่งอุดมสมบูรณ์ แหล่งอาหารมาก ประชากรสัตว์ป่ามาก การพบตัวพวกมันในช่วงนี้ไม่ง่ายนัก เฝ้ารอตามแหล่งอาหารที่คาดว่าสัตว์จะมา มีโอกาสที่จะอยู่กับความว่างเปล่า เป็นไปได้ว่า หากมันสัมผัสได้ว่า มีคนในบริเวณนั้น มันจะเปลี่ยนทิศทาง มีแหล่งอาหารอื่นอยู่ใกล้ๆ

เฝ้ารออยู่กับความว่างเปล่า คืออีกสิ่งหนึ่งซึ่งมากับงานที่ผมทำ

ในเมือง ผมพูดเล่นๆ กับคนอื่นว่า ในแคมป์กลางป่านั่น เจริญนะ มีเครื่องบินผ่านด้วย กลางคืนมืดมิด มีเงาต้นไม้ตะคุ่มๆ ไหวตามแรงลม แมลงกรีดเสียง น้ำไหลกระทบแก่งหิน เสียงเครื่องบินชัดเจน

ทวีปยุโรป ที่เครื่องบินมุ่งหน้าไป ดูช่างห่างไกล จุดหมายของคนบนเครื่องอยู่ที่ใด มีคนเดินทางข้ามแคมป์ไปทุกค่ำคืน

จุดหมายพวกเขาห่างไกลเพียงใด แต่คล้ายกับว่า จะใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าที่ผมใช้จากแคมป์เข้าเมือง

 

ผมเล่าบรรยากาศข้างกองไฟบ่อย ทำงานในป่า ความรื่นรมย์มีแค่นี้ นั่งข้างกองไฟ ฟืนปะทุ ลูกไฟแตกกระจาย เปลวไฟร่ายรำ เสียงเครื่องบินชัดเจน ทำให้ผมนึกถึงการเดินทางของคน ผู้ซึ่งไปไกลกว่าค่อนโลก คนออกไปท่องอวกาศ ดำดิ่งสู่ทะเลลึก ชูธงเหนือยอดเขาสูง

แต่หลายคนดูเหมือนจะเดินทางไปไม่ถึง “จุดหมาย” ใกล้ๆ

จุดหมายอันเรียกว่า หัวใจ ที่ซึ่งคนที่เรารัก อาศัยอยู่ในนั้น

 

ในป่าช่วงฤดูฝน การเดินทางสัญจร ไม่ว่าด้วยรถ หรือเดินเท้าทำไม่ง่าย

แม้จะมีเครื่องมือช่วยให้เดินได้โดยไม่พลัดหลง

แต่เครื่องมือหรือเทคโนโลยียังช่วยให้คนเดินทางสู่จุดหมายใกล้ๆ อย่างหัวใจไม่ได้

เพราะการ “พลัดหลง” ขณะเดินสู่จุดหมายนี้ เกิดขึ้นได้เสมอ •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ