เกมยุบพรรค?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทบาทหนึ่งในการกำกับดูแลพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นที่เกรงขามของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ คือ อำนาจในการวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้น เพื่อลงมติเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารที่เกี่ยวข้อง

อำนาจในการยุบพรรคมิเพียงเป็นเครื่องมือในการกำกับการดำเนินงานของพรรคการเมือง แต่ยังเป็นที่เคลือบแคลงของประชาชนว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของผู้มีอำนาจหรือไม่

เพราะเหตุการณ์การยุบพรรคการเมืองในอดีตหลายครั้ง อาทิ การยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี พ.ศ.2550 การยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อปี พ.ศ.2551 การยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2562 และการยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2563 พรรคเหล่านี้ล้วนเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่อยู่ในฝั่งตรงข้ามผู้มีอำนาจทั้งสิ้น

ใกล้การครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ใกล้กำหนดจะมีการเลือกตั้งใหม่ ข่าวปล่อยเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองต่างๆ ก็หนาหูขึ้น

หรือว่า การยุบพรรคการเมือง จะเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าอนาคตการเมืองไทยอีกครั้ง

 

เหตุแห่งการยุบพรรค

มาตรา 92 ของพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อว่ามีพรรคการเมืองใดกระทำผิดและให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไว้ทั้งหมด 4 กรณี คือ

(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกําหนด

ซึ่งรายละเอียดของการกระทำผิดใน (3) นั้นยังเชื่อมโยงไปถึงอีกหลายมาตรา อาทิ การยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคมาครอบงำการดำเนินการของพรรค (มาตรา 28)

การให้เงินหรือทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้สมัครเป็นสมาชิกพรรค (มาตรา 30) มีการจัดตั้งสาขาพรรคนอกราชอาณาจักร (มาตรา 36) รับบริจาคเงินเพื่อกระทำการบ่อนทำลายความมั่นคงราชบัลลังก์ เศรษฐกิจหรือราชการแผ่นดิน (มาตรา 44) กระทำการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา 45)

รับเงินแล้วตอบแทนตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งทางราชการให้ (มาตรา 46) รับเงินบริจาคจากแหล่งที่รู้หรือควรรู้ว่ามีที่มาที่มิชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 72) รับเงินจากบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีต่างชาติถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ (มาตรา 74)

ส่วนความผิดใน (4) นั้น ส่วนใหญ่เป็นความผิดในเชิงธุรการที่ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขการจัดตั้งและดำเนินงานของพรรคการเมืองได้ เช่น ไม่สามารถหาสมาชิกครบเงื่อนไขในเวลาที่กำหนด ไม่ส่งรายงานการเงินตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ไม่จัดประชุมใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นการยุบพรรคโดยมติกรรมการบริหารพรรค เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองนั้นมีมากมายหลายกรณี ทั้งเป็นธรรมชาติทั้งตั้งใจ ทั้งปกติและไม่ปกติ ทั้งโดยเหตุผลที่สมควรทั้งอาจเคลือบแคลงถึงการเป็นเกมทำลายล้างทางการเมือง

 

พรรคไหนเสี่ยงบ้าง

หากติดตามจากข่าวสารที่ปรากฏ มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 3 พรรคที่น่าเป็นห่วงด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน

1) พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นพรรครุ่นที่ 3 ต่อจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนที่เคยถูกยุบไปแล้วในอดีต เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมในประชาชนค่อนข้างมากด้วยนโยบายและผลงานในอดีตรวมถึงความผูกพันที่มีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคเพื่อไทยยังคล้ายกับมีพฤติกรรมที่ตัดไม่ขาดจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่ปัจจุบันไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย จึงอาจเข้าข่ายถูกร้องในประเด็นความผิดตามมาตรา 28 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง คือ การยินยอมให้บุคคลภายนอกที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง มาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้ขาดความเป็นอิสระ

2) พรรคพลังประชารัฐ แม้อยู่ในซีกฝั่งของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่มีประเด็นที่ถูกร้องตามความผิดในมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ในกรณีที่อาจจะไปรับเงินจากแหล่งที่รู้ ควรจะรู้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เงินบริจาค 3 ล้านบาทจากนักธุรกิจจีนที่แปลงสัญชาติเป็นไทย เมื่อปี พ.ศ.2564 หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินที่มีแหล่งที่มาจากธุรกิจสีเทาที่ผิดกฎหมาย ก็อาจเข้าข่ายของการกระทำความผิดได้

3) พรรคก้าวไกล เป็นคำร้องที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 92 (2) ในประเด็นกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเคยเป็นคำร้องที่ถูกร้องในอดีตและมีการยกคำร้องไปแล้ว แต่ก็ยังอาจมีกรณีคำร้องที่อยู่ในระหว่างการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

 

จังหวะการยุบที่มีผลต่อการเมือง

การยุบพรรคอาจเกิดจากคำร้อง หรืออาจเกิดจากการหยิบยกขึ้นโดยกรรมการการเลือกตั้งเองในลักษณะ “ความปรากฏ” ก็ได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องตั้งคณะทำงานเพื่อสืบสวน ไต่สวนข้อเท็จจริง ก่อนการส่งสำนวนทั้งหมดให้คณะกรรมการวินิจฉัยก่อนส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

กระบวนการในการพิจารณามีทั้งช้าและเร็ว จึงไม่อาจประมาทได้ว่าในช่วงเวลาที่มีก่อนถึงการเลือกตั้งจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกหรือไม่ แต่หากพิจารณาจังหวะของการยุบพรรคที่มีผลทางการเมืองโดยพิจารณาจากบทเรียนในอดีต อาจจำแนกได้ดังนี้

ก. ยุบในจังหวะก่อนการเลือกตั้งและสามารถย้ายพรรคทัน ในกรณีนี้มีความเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากนักการเมืองสามารถหาพรรคใหม่อยู่ได้ทัน เพียงแต่อาจกระจัดกระจายไปตามพรรคต่างๆ ความแข็งแกร่งเป็นเอกภาพของพรรคเดิมจะหายไป

ข. ยุบในจังหวะก่อนการเลือกตั้ง และติดเงื่อนไขเวลาไม่สามารถย้ายพรรคได้ทัน ในกรณีนี้เกิดความเสียหายต่อทั้งพรรคและต่อตัวผู้สมัครที่ไม่มีโอกาสไปสมัครในพรรคการเมืองใหม่ เช่นกรณีพรรคไทยรักษาชาติ แต่ผลที่เกิดคือ ประชาชนที่มีความนิยมในพรรคที่ถูกยุบจะถ่ายคะแนนเสียงของตนไปให้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงแทน

ค. ยุบในจังหวะหลังการเลือกตั้ง มีผลต่อการรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีนี้จะมีการใช้เงินและการเสนอประโยชน์ทางการเมือง เพื่อกวาดต้อน ส.ส. ทั้งเป็นกลุ่ม ทั้งเป็นตัวบุคคล ให้สนับสนุนพรรคที่ต้องการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เช่นในกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น

ออกเหลี่ยมมุมนี้แล้ว พอคาดการณ์ได้ว่า ไม่ยุบก่อนเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้ง ไม่แน่ครับ