ส่องนัยยะปรับ ครม. บิ๊กตู่ดันขุนพลข้างกาย ‘ธนกร’ เปิดทางกลุ่ม ‘ปากน้ำ’ สนอง ‘ป้อม’ วางเกมสู้เลือกตั้ง-คัมแบ๊กตั้ง รบ.

ถือเป็นการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ 2/6 ที่สร้างเซอร์ไพรส์ ทั้งรายชื่อรัฐมนตรี และจังหวะเวลาการปรับ ครม. ภายหลัง “จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งสัญญาณทวงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่พรรค ปชป.มีมติส่งชื่อ “นริศ ขำนุรักษ์” ไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปกว่า 7 สัปดาห์แล้ว ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการจัดประชุมผู้นำเอเปคช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ก็เป็นเวลาเหมาะสมต่อการปรับ ครม. จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมายอมรับว่า จะปรับ ครม.ให้ตามเก้าอี้ที่ว่าง

กระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2562 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2562 และประกาศครั้งสุดท้าย ลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2564 นั้น บัดนี้ นายกฯ ได้กราบบังคมทูลว่า โดยที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามประกาศลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2564 และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2564 สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่าง และเพิ่มเติมบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

1.นายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2.นายสุนทร ปานแสงทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.นายนริศ ขำนุรักษ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน

การปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/6 ครั้งนี้ แม้ชื่อของ “นริศ ขำนุรักษ์” จะเป็นไปตามโผที่พรรค ปชป.ส่งมารักษาโควต้าเดิมของพรรค ในเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความได้เปรียบในการมีรัฐมนตรี เข้าไปคุมกลไกการบริหารทั้งอำนาจรัฐและงบประมาณ ในการเดินหน้าเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่ที่ “เซอร์ไพรส์” คือ เกมการเมืองผ่านการปรับ ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตั้ง “ธนกร วังบุญคงชนะ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเป็นอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ชี้แจงข่าวสารและนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนตอบโต้ประเด็นการเมืองแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในทุกเรื่อง มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทนที่จะให้นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ตามโควต้าที่ว่างของพรรค พปชร.

ซึ่ง “ธนกร” ถือเป็นขุนพลข้างกาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจนเข้าตานายกฯ เข้าตาจนถึงขั้นขึ้นชั้นแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการลงไปคุมพื้นที่สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

เพราะเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “ธนกร” ได้เป็นแกนนำ นำ ส.ส.ภาคใต้พรรค พปชร. ทั้ง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา รวม 6 คน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บ้านพักเพื่อแสดงความชัดเจนว่าจะนำ ส.ส.กลุ่มดังกล่าวตามไปร่วมงานการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

จน พล.อ.ประยุทธ์เชื่อมือให้ร่วมเป็นขุนพลดูแลพื้นที่ภาคใต้

ขณะที่ “สุนทร ปานแสงทอง” เพิ่งยื่นลาออกจากรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมแต่งตัวนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง “สุนทร” ถือเป็นสายตรงของ “บ้านใหญ่ม้าทองคำ” อย่าง “ตระกูลอัศวเหม”

เพราะเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส.ของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง บิดาของ “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ หัวหน้ากลุ่ม ส.ส.ปากน้ำ พรรค พปชร.

จนได้รับความไว้วางใจจากตระกูลอัศวเหม ผ่านการทำงานการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการ อาทิ รองประธานสภา อบจ. เลขานุการนายก อบจ.สมุทปราการ ส.จ.สมุทรปราการ ซึ่งการได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งนี้มาจากการสนับสนุนของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ที่ลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับปากกับ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ พรรค พปชร.ว่า ในการปรับ ครม.ครั้งต่อไป ส.ส.กลุ่มปากน้ำจะได้เป็นรัฐมนตรีแน่นอน

โดยการตั้ง “สุนทร” ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประการแรกคือ ได้โควต้ารัฐมนตรีของพรรค พปชร.

ประการที่สองคือ เป็นการสร้างหลักประกันให้ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ให้อยู่สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้ากับพรรค พปชร.

การปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/6 นั้น มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า เป็นไปเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ไม่ใช่ปรับ ครม.เพื่อให้การบริหารงานของรัฐบาลดีขึ้น เนื่องจากทั้งชื่อชั้น และโควต้าที่แต่ละกลุ่มส่งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีนั้น ล้วนแล้วแต่เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเลือกตั้ง

เนื่องจากเหลือวาระอีกประมาณสี่เดือนเท่านั้นที่รัฐบาลจะครบวาระ 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566 การจัดทัพให้มีความพร้อมมากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่ควบคุมและกำกับกลไกทั้งอำนาจรัฐ งบประมาณ กติกาการเลือกตั้ง ตลอดจนทุกทรัพยากร ต้องบริหารให้ฝ่ายของผู้กุมอำนาจรัฐ มีความได้เปรียบให้มากที่สุดจึงจะยอมปล่อยให้มีการเลือกตั้ง

เพราะ “กลุ่ม 3 ป.” รวมทั้งเครือข่ายพรรคร่วมรัฐบาล ต่างเชื่อมั่นว่าด้วยแต้มต่อในทางการเมืองที่กุมอยู่ในมือผ่านทุกสารพัดทรัพยากร ย่อมสร้างความได้เปรียบต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าให้กับกลุ่มอำนาจเดิมได้

เพื่อนำมาสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การรวมเสียงภายหลังการเลือกตั้งของขั้วอำนาจเดิม กลับมาจัดตั้งรัฐบาล บริหารอำนาจกันอีกครั้ง