เที่ยวเกาะพะงัน-เกาะเต่า | ดาวพลูโต

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

เที่ยวเกาะพะงัน-เกาะเต่า

 

สัปดาห์นี้ขออนุญาตพักเรื่องการบ้านการเมืองไว้ก่อนครับ เนื่องจากรัฐบาลประกาศวันหยุดกรณีพิเศษระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ผู้เขียนจึงมีโอกาสหยุดพักร้อนไปเที่ยวทะเลอ่าวไทย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมื่อกล่าวถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี นักท่องเที่ยวมักนึกถึงเกาะสมุยเป็นลำดับแรก แต่วันนี้ผมขออนุญาตพาไปเที่ยวเกาะลำดับรองลงมาจากเกาะสมุย ได้แก่ เกาะพะงัน และเกาะเต่า ทั้งสองเกาะมีความสวยงามของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกไม่แพ้เกาะสมุยครับ

เกาะพะงันและเกาะเต่า ตั้งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะพะงันมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นอำเภอที่มีขนาดเล็กที่สุดของจังหวัด ส่วนเกาะเต่าเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเกาะพะงัน

เกาะพะงันตั้งอยู่ทางทิศเหนือจากเกาะสมุย มีขนาดเล็กกว่าเกาะสมุยเล็กน้อย การเดินทางต้องอาศัยเรือข้ามเกาะ เนื่องจากไม่มีสนามบินภายในเกาะ

ในอดีตสายการบินกานต์แอร์เคยมีโครงการก่อสร้างสนามบินเกาะพะงัน แต่ระงับโครงการไปเสียก่อน หากก่อสร้างสำเร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะกลายเป็นจังหวัดที่มีสนามบินพาณิชย์มากที่สุดถึง 3 สนามบิน เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก

เมื่อนึกถึงเกาะพะงัน นักท่องเที่ยวหลายๆ ท่านมักนึกถึงกิจกรรม “ฟูลมูนปาร์ตี้” ที่จัดขึ้นทุกวันพระจันทร์เต็มดวง ณ หาดริ้น ถือได้ว่าเป็นงานปาร์ตี้ชายหาดที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก มีการประมาณการว่าในช่วงปีใหม่มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานปาร์ตี้มากถึง 30,000-40,000 คนเลยทีเดียว

เมื่อเรือเทียบท่าเกาะพะงัน ผู้เขียนพุ่งตรงไปที่หาดริ้นเป็นอันดับแรก ด้วยหาดทรายที่ขาว เม็ดทรายเนียนละเอียด ชวนน่าหลงใหล ไม่แปลกใจเลยที่ชายหาดนี้เป็นที่นิยมสำหรับจัดงานปาร์ตี้ระดับโลก

ช่วงที่ผมไปไม่ตรงกับช่วงฟูลมูนปาร์ตี้ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูมรสุม จึงยังเป็นช่วง Low season สำหรับที่นี่อยู่ แต่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินกันขวักไขว่ตามท้องถนน เป็นสัญญาณที่ดีว่าการท่องเที่ยวของไทยน่าจะฟื้นตัวในไม่ช้านี้ หลักจากประสบวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านพันไป คงต้องลุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวช่วงธันวาคม โดยเฉพาะปีใหม่นี้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวมากน้อยเพียงใด

หลังตะวันลับขอบฟ้า เสียงดนตรีเริ่มขึ้น ผับและบาร์ริมชายหาดสว่างไสวขึ้นทันใด มีการแสดงควงกระบองไฟเพื่อเรียกนักท่องเที่ยวตลอดช่วงหัวค่ำ

ถัดจากผับบาร์ริมทะเล มีแนวห้องแถวเรียงรายกันประมาณ 20-30 คูหา บริเวณก่อนทางลงชายหาด ประมาณ 80-90% ต้องปิดกิจการลงเพราะโควิด-19 จนปัจจุบันยังคงปิดร้างอยู่ ข่าวลือแบ่งเป็น 2 กระแส บ้างก็ว่าปิดร้างรอผู้เช่ารายใหม่ บ้างก็ว่านักการเมืองต่างถิ่นระดับชาติเซ้งไว้ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว รอเปิดถนนกัญชาเต็มตัว

ผมก็ไม่รู้ว่าข่าวไหนจริงกันแน่

เช้าวันรุ่งขึ้นขับรถเที่ยวรอบๆ เกาะ ไปดูทะเลแหวกที่เกาะม้า โชคดีที่ฝนไม่ตกและฟ้าครึ้มเลยไม่มีแดด ทะเลแหวกที่เกาะม้าเป็นชายหาดเชื่อมระหว่างเกาะพะงันและเกาะม้า เป็นทางยาวประมาณ 350 เมตร สองฝั่งมีทะเลรายล้อมเกิดเป็นสันทรายตรงกลาง เป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวของเกาะพะงัน หากมาพะงันต้องแวะให้ได้สักครั้ง

ช่วงบ่าย ตอนแรกตั้งใจว่าจะนั่งเรือเที่ยวรอบๆ เกาะ แต่คลื่นลมแรงเนื่องจากเป็นหน้ามรสุม เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง จึงไม่ได้ไปแตะขอบฟ้าอย่างพี่ตูน บอดี้สแลม เลยต้องเปลี่ยนแผน ขับรถเล่นรอบเกาะ ชมวิว แวะร้านกาแฟ ดูวิถีชีวิตคนในเกาะแทน

ในเกาะพะงันมีต้นมะพร้าวเยอะมาก เป็นมะพร้าวกะทิเกือบทั้งหมด สำหรับส่งเข้าโรงงานผลิตกะทิกล่อง ได้คุยกับชาวสวนจึงได้ความรู้ใหม่ว่า ด้วยความที่เกาะพะงันมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ จึงไม่มีพันธุ์มะพร้าวอื่นมาผสม ทำให้มะพร้าวกะทิในเกาะพะงันสามารถคงสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ได้ ไม่กลายพันธุ์

หากนำมะพร้าวสายพันธุ์อื่น เช่น มะพร้าวน้ำหอมมาปลูกที่พะงัน แมลงจะตอมเกสรจากสายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์ท้องถิ่นผสมปนเปกัน ทำให้ลูกมะพร้าวออกมากลายพันธุ์ไม่เป็นมะพร้าวน้ำหอมอย่างที่ตั้งใจ

มะพร้าวกะทิเกาะพะงันจึงไม่เหมือนมะพร้าวกะทิที่อื่น สมแล้วที่มะพร้าวกะทิเกาะพะงันได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

 

ตกเย็นผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เป็นข้าราชการท้องถิ่นในเทศบาล ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้หลายต่อหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่มุมมองของเค้าในฐานะคนเกาะพะงันที่น่าสนใจ คือ เรื่องกฎหมาย EIA หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้พื้นที่เขตฝั่งทะเลในระยะ 50 เมตร ห่างจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA report)

ฟังดูก็เข้าท่าดีว่าผู้ประกอบธุรกิจควรต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควรต้องอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน

แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน พบว่ากฎหมายนี้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนเป็นอย่างมาก

ประการแรก การจัดทำรายงาน EIA มีค่าใช้จ่ายสูงมาก (หลายแสนบาท จนถึงหลักล้านบาท) สำหรับนายทุนแล้วคงไม่ติดขัดปัญหาประการใดในการจัดทำรายงาน แต่สำหรับชาวบ้านที่มีที่ดินริมทะเลตกทอดต่อกันมา ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะจัดทำรายงาน EIA

ประการที่สอง ระยะ 50 เมตรจากเขตฝั่งทะเล ซึ่งนับจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ชาวบ้านที่มีที่ดิน 1/2 ไร่ ถึง 1 ไร่ แทบจะไม่มีส่วนใดสามารถก่อสร้างได้เลยถ้าไม่จัดทำรายงาน EIA เพราะพื้นที่เกือบทั้งหมดตกอยู่ในแนว 50 เมตรจากเขตฝั่งทะเลอย่างแน่นอน

ชาวบ้านเจ้าของที่ดินจึงมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ ปล่อยให้นายทุนเช่าระยะยาว หรือร่วมทุนกับนายทุน ไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเองโดยลำพังได้

เมื่อที่ดินแปลงเล็กไม่สามารถสร้างโรงแรมได้ จึงเป็นโอกาสทองของนายทุนรายใหญ่เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ตั้งแต่ 5 ไร่ขึ้นไปจนถึงหลักร้อยไร่ มีเงินทุนมากพอที่จะผลักดันโครงการของตนเองให้ผ่าน EIA ได้

ชาวบ้านเจ้าของที่ดินแท้ๆ กลับทำธุรกิจเองไม่ได้ ต้องยอมปล่อยให้ธุรกิจตกอยู่ในกำมือนายทุนแทน ถ้ากฎหมายยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คงไม่แคล้วที่ชาวบ้านต้องจำใจขายที่ดินให้นายทุน

ก่อนที่จะดึกเกินไปและผมเองก็พูดอะไรไม่ออก ผมก็ร่ำลาพี่เทศบาลขอตัวกลับไปนอนก่อน

เช้าวันที่สาม ผมขึ้นเรือไปเกาะเต่า สปีดโบ๊ตใช้เวลาเดินทางจากเกาะพะงันไปเกาะเต่าประมาณ 1 ชั่วโมง ผมเหมือนคนทำบุญมาดี เพราะวันนี้ (19 พฤศจิกายน) อากาศดีมาก แดดเปรี้ยงทั้งวัน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงมรสุม แต่คลื่นลมกลับสงบมากๆ แทนบจะไม่มีเมฆเลย ผิดกับสองวันแรก

ที่แรกที่พุ่งตัวไปคือ ทะเลแหวกเกาะนางยวน เพราะอยากเห็นว่าทะเลแหวกเกาะพะงันกับทะเลแหวกเกาะเต่าที่ไหนสวยกว่ากัน

ที่เกาะนางยวน น้ำทะเลใสมากๆ มีฝรั่งใส่บิกินีเต็มชายหาด ขึ้นไปจุดชมวิวต่อคิวนานเกือบชั่วโมง เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีของการท่องเทียวของเราเป็นอย่างมาก ส่วนทะเลแหวกที่ไหนสวยกว่ากัน ท่านผู้อ่านคงต้องมาพิสูจน์กันด้วยสายตาของท่านเองสักครั้งครับ

ช่วงบ่ายนั่งเรือเที่ยวรอบเกาะ ดำน้ำชมแนวปะการัง ฝูงปลา ช่วงเดือนพฤศจิกายนน้ำยังมีตะไคร่น้ำอยู่มาก น้ำทะเลจึงยังไม่ใสเหมือนช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน แต่ก็สวยงามด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอ่าวไทย ไม่เสียเที่ยวที่มาดำน้ำครับ

กัปตันเรือเปลี่ยนจุดดำน้ำจากแนวปะการัง ไปชมเต่าทะเล ตอนแรกผมก็คิดว่าหลอกให้เราอยากไปดำน้ำอีกที่หรือป่าว เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง ว่าเกาะเต่ามีเต่าจริงๆ คนนำว่ายน้ำหาเต่าสักพักก็เรียกให้ทุกคนว่ายไปหาเขา ปรากฏว่าเจอเต่าทะเลจริงๆ ไม่ได้โม้ ตัวใหญ่มาก และเจอมากกว่า 1 ตัวด้วย ถึงแม้ว่าพี่เต่าทะเลจะหน้าตาไม่รับแขก ประหนึ่งว่าหากพูดได้คงอยากบอกคนที่ว่ายน้ำอยู่ว่า “ขออยู่คนเดียวตามลำพังได้ไหม” มาดำผุดดำว่ายอะไรแถวนี้กันอยู่ได้

วันต่อมาได้เวลากลับกรุงเทพฯ ปรากฏว่าฝนตกหนักพายุเข้า ผมได้แต่นึกในใจว่าโชคดีจังที่ไม่ตกวันเที่ยว ตกเฉพาะวันกลับ

หวังว่าฟ้าหลังฝนของการท่องเที่ยวจะสดใสในไม่ช้าครับ