รามานุชาจารย์ : ปราชญ์ผู้นอบน้อมบนวิถีแห่งศรัทธา (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

นอกจากรับศิษย์ทุกเพศทุกชนชั้นแล้ว รามานุชะยังระลึกถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับยมุนาจารย์ ท่านจึงเริ่มเขียน “ศรีภาษยะ” อรรถาธิบายแห่งพรหมสูตรของพาทรายณะตามแนวทางของตน

นอกจากนี้ ยังได้นำนาม “ปราศระ” และ “เวทวยาส” มอบให้แก่บุตรฝาแฝดของกุเรศะ ศิษย์รักและสนิทที่สุด ตลอดจนได้เผยแพร่บทประพันธ์ของอาฬวาร์ไปยังผู้คนทั้งหลาย เป็นอันว่าได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับยมุนาจารย์อย่างครบถ้วน

แม้ผลงานของรามานุชาจารย์จะไม่ได้มีมากมายเมื่อเทียบกับศังกราจารย์ แต่ก็นับว่าเพียงพอที่จะสถาปนาหลักการปรัชญาของตนให้มั่นคง

เมื่อเขียนศรีภาษยะจบลงแล้ว ท่านออกเดินทางไปทั่วอินเดียตามธรรมเนียม “ทิควิชัยยาตรา” ซึ่งหมายถึง “การเดินทางชนะทั่วทุกทิศ” (victory tour) คือการที่ปราชญ์นำเอาหลักปรัชญาของตนไปทำวิวาทะโต้วาทีกับสำนักต่างๆ จนมีชัยในทุกแว่นแคว้น

ธรรมเนียมนี้ยังคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะไม่ได้เน้นการวิวาทะอีกแล้วแต่มักเรียกการเดินทางไปสั่งสอนของครูบาอาจารย์ว่าทิควิชัยยาตราอยู่ตามเดิม

 

หลังสิ้นสุดการเดินทางอันยาวนาน รามานุชาจารย์กลับมายังศรีรังคัม ทว่า ในเวลานั้นพระราชาแห่งโจฬะองค์ใหม่คือกุโลตตุงคะ (King Kulottunga) ขึ้นครองราชย์ พระราชาองค์นี้ชาวไวษณพพาเรียกกันว่า กฤมิกัณฑะ “เจ้าคอหนอน /เจ้าคอเน่า” เหตุว่ากุโลตตุงคโจฬะนับถือไศวนิกาย พระองค์จึงเบียดเบียนว่าร้ายไวษณพนิกายและศาสนาอื่นๆ ด้วยประสงค์ให้แคว้นของพระองค์นับถือแต่พระศิวะเท่านั้น

กุโลตตุงคะประกาศให้หัวหน้าคณะนิกายต่างๆ เข้ามายังเมืองหลวงโจฬะ เพื่อให้ลงนามยอมรับว่าพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุดหนึ่งเดียว รามานุชะถูกเรียกตัวไปในการนั้น ทว่า กุเรศะเห็นว่าอาจารย์ของตนจะมีภัย จึงได้ปลอมตัวเป็นรามานุชะเดินทางไปแทนและขอให้ท่านรีบหนีไปโดยเร็ว

กุเรศะเดินทางไปเฝ้ากุโลตตุงคะพร้อมด้วยมหาปูรณะ แต่การปลอมตัวถูกจับได้ ทั้งสองจึงถูกลงโทษด้วยการควักลูกตา มหาปูรณะสิ้นชีวิตในที่นั้นทันที ส่วนกุเรศะผู้ตาบอดได้ไปพำนักยังเทวสถานแห่งหนึ่งใกล้เมืองมทุไร

 

รามานุชะไปถึงเมลันนาฑูใกล้กับเมืองไมซอร์ในปัจจุบัน เมืองนั้นปกครองโดยพระราชาพิตติเทวะแห่งราชวงศ์โหยสาฬา เดิมพระองค์นับถือศาสนาไชนะ แต่รามานุชะทำให้พระองค์เปลี่ยนมานับถือไวษณวะได้ ราชาพิตติเทวะจึงเปลี่ยนพระนามเป็น วิษณุวรรธนะ

ด้วยเหตุนี้ รามานุชาจารย์จึงได้รับอนุญาตให้ตั้งเทวสถานยังยอดเขายาฑวาทรีหรือยาฑวคิริ ปัจจุบันเรียกว่า เมลโกเต (Melkote)

บนยอดเขานั้น ชาวบ้านเล่ากันว่าเดิมเคยมีเทวสถานของพระวิษณุตั้งอยู่ แต่มีผู้รุกรานชาวมุสลิมบุกเข้ามาทำลาย ทว่าพราหมณ์ประจำเทวสถานได้นำพระวิษณุประธานไปซ่อนไว้โดยยังไม่มีใครหาพบ

เมื่อได้ทราบเรื่องราวดังกล่าว รามานุชะอธิษฐานให้ได้พบรูปพระวิษณุที่สาบสูญไป คืนนั้นท่านฝันถึงตำแหน่งที่พระวิษณุองค์ดังกล่าวถูกฝังไว้ นอกจากนี้ ยังได้เห็นภาพเทวสถานที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ ทว่าก็ยังขาดเทวรูปสำหรับแห่แหน (อุสวมูรติ) ที่เหมาะสม

ในฝันยังบอกอีกว่า เทวรูปที่เหมาะสมนั้นอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ในความครอบครองของสุลต่านแห่งเดลลี

ภาพประกอบ : พระวิษณุเทพ โดย @artistydevals

เช้าวันต่อมา รามานุชาจารย์ไปขุดค้นยังตำแหน่งที่เห็นในความฝันและได้พบกับเทวรูปพระวิษณุจริงๆ ท่านกอดเทวรูปองค์นั้นด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง จากนั้นรีบเดินทางไปยังเดลลีเพื่อไปขอเทวรูปอีกองค์กลับมา

สุลต่านแห่งเดลลีผู้เป็นมุสลิมรู้สึกประหลาดใจที่นักบวชฮินดูจากดินแดนทางใต้ไกลโพ้น รู้จักเทวรูปในความครอบครองแห่งบุตรีของตน ทว่า ด้วยความเฉลียวฉลาดและท่วงทีอันสง่างามของรามานุชะ สุลต่านจึงยอมมอบเทวรูปให้

บางตำนานเล่าว่า รามานุชะสวดขอให้เทวรูปเดินมาหาตน และเทวรูปก็เดินมาหาจริงๆ สุลต่านผู้หมดความลังเลสงสัยจึงยกเทวรูปให้ทันที

อันที่จริงแล้ว เทวรูปนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหญิงนาจิยาร์ (Nachiyar) หรือที่มักเรียกกันว่า บีบีนาจิยาร์ (Bibi Nachiyar) เธอเป็นเจ้าของเทวรูปองค์นี้ตั้งแต่เด็ก เธอเล่นสนุกกับเทวรูปพระนารายณ์ “สัมปตกุมาร” ด้วยความใกล้ชิดมาตลอดราวกับเทวรูปนั้นมีชีวิต

ในที่สุดเจ้าหญิงก็หลงรักเทวรูปองค์นี้ เธออาจไม่ได้สนใจว่าเทวรูปนั้นเป็นของศาสนาใด เธอรู้แต่ว่าเธอรัก แม้เธอจะเป็นมุสลิมซึ่งห้ามการกราบไหว้รูปเคารพ แต่เธอก็มอบหัวใจให้เทวรูปพระนารายณ์องค์นั้นไปเสียแล้ว

ดังนั้น เมื่อรามานุชะนำเทวรูปกลับไปยังเทวสถาน “ติรุเจลุวานารายณะ” ที่เมลโกเต เจ้าหญิงนาจิยาร์ทนความอ้างว้างเมื่อต้องจากกับเทวรูปที่เธอรักไม่ไหว เธอเร่งติดตามมาจนถึงเทวสถานแล้วโผเข้ากอดพระนารายณ์องค์นั้น จากนั้นก็มลายหายไปในเทวรูป

รามานุชะรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงให้สร้างเทวรูปบีบีนาจิยาร์ในฐานะชายาของพระนารายณ์เอาไว้ในเทวสถานนั้นเคียงคู่กับพระสมปัตกุมารสืบไป

ด้วยเหตุนี้ เจ้าหญิงมุสลิมองค์หนึ่งจึงได้กลายเป็นชายาของพระเป็นเจ้าฮินดู รูปเคารพของอิสลามิกชนจึงได้ประดิษฐานเคียงคู่พระเป็นเจ้าของฮินดูจนถึงทุกวันนี้

 

แม้จะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดไม่ว่าจากทั้งฝ่ายฮินดูหรือมุสลิม แต่รามานุชะเห็นว่า พระเป็นเจ้าไม่สนพระทัยว่าสาวกของพระองค์เป็นใคร มีชาติกำเนิดหรือมีพื้นภูมิชีวิตอย่างไร พระองค์สนพระทัยเฉพาะความรักที่สาวกมีต่อพระองค์เท่านั้น

หลายปีผ่านไป โจฬราชกุโลตตุงคะสวรรคต พระราชาองค์ใหม่มีพระทัยกว้างขวาง รามานุชะจึงเดินทางกลับศรีรังคัม แต่ผู้คนที่เมลโกเตพากันโศกเศร้าที่ครูจากไป จึงขอสร้างรูปเคารพแทนตัวของท่านเอาไว้

ว่ากันว่า เพราะรามานุชะแบ่ง “ปราณ” หรือพลังชีวิตของท่านให้กับเทวรูปตนเอง ตั้งแต่นั้นมาสุขภาพของท่านก็แย่ลงเรื่อยๆ ทว่าท่านมีอายุยืนยาวต่อมาถึงหกสิบปี

เชื่อกันว่ารามานุชาจารย์มีอายุมากถึงร้อยยี่สิบปีก่อนที่จะเสียชีวิต

ก่อนจะสิ้นใจ รามานุชะสั่งสอนศิษย์ให้มีความศรัทธาภักดีในพระเจ้าเสมอ ที่สำคัญให้ปรนนิบัติรับใช้สาวกของพระเจ้าด้วย “จงสักการะผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายดุจกระทำต่อคุรุของเจ้าเอง… จงชื่นชมยินดีในการเอื้อนเอ่ยนามและเกียรติคุณแห่งสาวกทั้งหลายของพระเจ้า ให้มากเท่าที่เจ้าเอ่ยพระนามและเกียรติคุณของพระเจ้าเองนั่นเทียว”

 

ปรัชญา “วิศิษฎาทไวตะเวทานตะ” (ความหลากหลายในเอกภาพ หรือเอกภาพแบบมีคุณสมบัติพิเศษ) ของรามานุชะ ถือว่าพระเจ้าเป็นบรมสัตย์ดังที่กล่าวไว้ในอุปนิษัทและภควัทคีตา และเพราะพระองค์ดำรงอยู่ สิ่งต่างๆ จึงสามารถที่จะดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าชีวะหรือดวงชีวิตทั้งหลายกับทั้งธรรมชาติ (ประกฤติ) แห่งวัตถุสสารหรือโลก

พระเจ้าทรงประกอบด้วยคุณสมบัติมากมาย อย่างแรกเรียกรวมๆ ว่า “สวรูป” หรือคุณสมบัติภายในอันแนบเนื่องของพระองค์เอง เช่น ปัญญาญาณ บรมสุข (อานันทะ) ความไม่มีสิ้นสุด ฯลฯ ส่วนอีกอย่างหนึ่งเรียกรวมๆ ว่า “สวภาวะ” หรือคุณสมบัติอันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เช่น คุณความดี (กัลยาณะ) ความกรุณา (การุณยะ) พลังของการสรรค์สร้าง (ศักติ) เป็นต้น

ด้วยคุณสมบัติอย่างที่สองนี่เอง โลกจึงเกิดมีขึ้นมาได้ ชีวะทั้งหลายจึงได้เสพเสวยโลกนี้ แต่ไม่ว่าจะวัตถุสสารหรือโลกและบรรดาชีวะ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แยกออกจากพระเจ้า ดุจความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต (ศรีระ-ศรีรี) ถ้าอธิบายด้วยคำสมัยใหม่ ชีวะทั้งหลายและโลกก็ดุจเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ส่วนร่างกายทั้งหมดก็คือพระเจ้านั่นเอง

รามานุชะปฏิเสธแนวคิดทฤษฎีของศังกราจารย์อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องความจริงแท้ที่ปราศจากคุณสมบัติ (นิรคุณพรหมัน) รวมทั้งทฤษฎีมายาของศังกราจารย์ด้วย

ส่วนหนทางสู่ความหลุดพ้น รามานุชะให้ถือเอาพระเจ้าเป็นที่พึ่ง (ศรณาคติ) และยอมมอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ด้วยความภักดีซึ่งเรียกว่า “ประปัตติ” ในเชิงปฏิบัติก็ให้ศึกษาคำสอนของไวษณวะ ละวางความปรารถนาทางโลก ตั้งจิตจดจ่อต่อพระเจ้า ขับร้องสรรเสริญพระนาม กระทำคุณความดีต่างๆ ต่อผู้คน และรับใช้บรรดาสาวกทั้งหลาย

อิทธิพลของรามานุชะจะมีต่อคณาจารย์ในภายหลังอีกมาก เช่น นักปรัชญาเวทานตะฝ่ายภักดีรุ่นต่อมา หรือรามานันทะ ผู้เดินทางไปสู่ภาคเหนือของอินเดีย แล้วกลายเป็นอาจารย์ของนักบุญภักติในยุคกลางอีกทอดหนึ่ง เช่น นักบุญรวิทาส

ปัจจุบันสำนักและผู้สืบทอดตำแหน่งของรามานุชาจารย์ยังคงมีอยู่ ทว่า จะยังคงมีท่าทีเปิดกว้าง อ่อนน้อมและมีจิตวิญญาณแบบรามานุชะต่อไปหรือไม่นั้น

เรื่องนี้เราคงต้องสืบเสาะกันต่อไป •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง