การศึกษา/มหากาพย์… ‘สกสค.-ธ.ออมสิน’ (กว่าจะ)บรรลุเอ็มโอยู… ‘ชำระหนี้ครู’!!

การศึกษา

มหากาพย์… ‘สกสค.-ธ.ออมสิน’
(กว่าจะ)บรรลุเอ็มโอยู… ‘ชำระหนี้ครู’!!

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และธนาคารออมสิน เกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนการหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เพื่อชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป ดูเหมือนจะ “ยืดเยื้อ” มายาวนาน เนื่องจากการตีความบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ระหว่าง 2 ฝ่าย แตกต่างกันออกไป
เพราะขณะที่ ศธ. มองว่าการหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ของธนาคารออมสิน เพื่อใช้ชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดนั้น ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามข้อตกลงในเอ็มโอยูที่ทำโดยอดีตเลขาธิการ สกสค. แต่เป็นสัญญาฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการทำนิติกรรมที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องการให้ธนาคารออมสินยกเลิกการหักเงินจากกองทุนดังกล่าว
พร้อมทั้งเชิญผู้บริหารธนาคารออมสินมาพูดคุย โดยมีข้อสรุปให้ยกเลิกเอ็มโอยูฉบับเดิม และทำข้อตกลงฉบับใหม่กับเลขาธิการ สกสค. คนปัจจุบัน
แต่ดูเหมือนการเจรจาที่ผ่านมาจะ “ล้มเหลว” โดยตลอด เนื่องจากธนาคารออมสินยังคงหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ โดยอ้างว่าทำถูกต้องตามเอ็มโอยูฉบับเดิม
โดยยอดเงินที่ทางธนาคารออมสินหักจากกองทุนดังกล่าว เป็นเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

เรื่องนี้ทำให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่พอใจอย่างมาก ยืนยันว่าธนาคารออมสินต้องคืนเงินในส่วนนี้ ไม่เช่นนั้นจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด แต่ธนาคารออมสินยังคงยืนยันจะหักเงินต่อไป จนกว่าจะทำเอ็มโอยูฉบับใหม่ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. มีมติให้สำนักงาน สกสค. ดำเนินการทางแพ่ง และขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ธนาคารออมสินหยุดหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ก่อน
อย่างไรก็ตาม นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ได้แจ้งที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ว่ากองทุนสนับสนุนพิเศษฯ มีสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักงาน สกสค. ไม่ใช่นิติบุคคล อำนาจในการใช้เงินของกองทุนจึงเป็นของสำนักงาน สกสค. ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. มีมติ “ยุบ” คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนพิเศษฯ และข้อบังคับต่างๆ ที่ออกโดยคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนพิเศษฯ ชุดที่ผ่านมา ให้คณะกรรมการ สกสค. ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน เป็นผู้ดูแล
มติดังกล่าว ส่งผลให้ต้องจัดทำข้อบังคับ และยกร่างสัญญาข้อตกลงความร่วมมือที่ทำไว้กับธนาคารออมสินใหม่ เบื้องต้นสำนักงาน สกสค. จะไม่รับเงิน 1% ที่ธนาคารออมสินคืนเงินส่วนต่างเข้ากองทุนสนับสนุนพิเศษฯ อีก ซึ่งเงินจำนวนนี้มาก เนื่องจากวงเงินกู้ทั้งหมดประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยจะคืนเงินในส่วนนี้ให้กับครูที่มีวินัยในการชำระหนี้ที่ดี ส่วนแนวทางจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสำนักงาน สกสค. และธนาคารออมสินจะต้องไปวางแนวทางร่วมกัน
เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินจำนวนนี้ปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ลดหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้กับครูที่มีวินัยทางการเงิน
คาดว่าจะมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นไป

ล่าสุด นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ออกมาระบุว่า ธนาคารออมสินได้ทำข้อตกลงใหม่เกี่ยวกับการชำระหนี้ครู กับสำนักงาน สกสค.
โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดครู ได้แก่ สำนักปลัด ศธ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้นำส่งชำระหนี้ให้ธนาคารเอง
โดยธนาคารจะยกเลิกเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับ สกสค. 0.5-1% และเปลี่ยนมาคืนให้กับครูที่มีวินัยในการชำระเงินดีติดต่อกัน 12 งวดแทน
ซึ่งก่อนหน้านี้ สกสค. ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดโครงการจัดหาสวัสดิการด้านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารออมสินเพื่อดำเนินโครงการสวัสดิการเงินกู้ โดยนำเงิน ช.พ.ค. และเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาค้ำประกันไม่น้อยกว่า 7 โครงการ ทำให้ สกสค. ได้รับเงินในอัตรา 0.5-1% แยกตามแต่ละโครงการ คิดเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,500 ล้านบาทต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าธนาคารจะหักเงินดังกล่าวหากครูไม่ชำระหนี้
สำหรับแนวทางใหม่นั้น นายชาติชายระบุว่า หากครูไม่ประสงค์จะนำเงิน ช.พ.ค. มาเป็นหลักประกัน สามารถนำหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 700,000 บาท มาค้ำประกันแทนได้ คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ซึ่งปัจจุบันมีหนี้ครูยังค้างอยู่กับธนาคารออมสิน 4.25 แสนล้านบาท จำนวน 4.75 แสนบัญชี โดยมีหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล 1.25% คิดเป็นเงิน 5,432 ล้านบาท จำนวน 9,250 ราย และอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องต่อศาลประมาณ 2,000 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินจะเปิดโอกาสให้ครูเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ โดยพักหนี้เงินต้นเป็นเวลา 3 ปี ส่วนดอกเบี้ยจ่ายมี 3 แนวทาง คือ
1. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 30% ของรายได้ ชำระดอกเบี้ยปกติ 100%
2. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15-30% ของรายได้ ชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 50%
และ 3. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 15% ของรายได้ ชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 25% หากเคยชำระหนี้ 5,000 บาทต่อเดือน ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ย 2,500 บาท ถ้าใช้แนวทางที่ 1 ชำระหนี้ 2,500 บาท แนวทางที่ 2 ชำระหนี้ 1,250 บาท และแนวทางที่ 3 ชำระหนี้ 625 บาท
คาดว่าจะมีครูเข้าร่วมโครงการประมาณ 50,000 ราย ส่วนครูที่ สกสค. เคยชำระหนี้แทน แล้วไม่เข้าโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารจะฟ้องคดีตามกฎหมายต่อไป

หลังจากผู้บริหารธนาคารออมสินประกาศเรื่องการปรับข้อตกลงใหม่เกี่ยวกับการชำระหนี้ครู นพ.ธีระเกียรติ ออกมายืนยันว่า สกสค. และธนาคารออมสินได้บรรลุข้อตกลงในการแก้ปัญหาหนี้ครูอย่างไม่เป็นทางการแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มขึ้นสำหรับครูที่กังวลว่าเมื่อเสียชีวิตแล้วจะไม่มีเงินก้อนเหลือให้ทายาท ทางธนาคารออมสินได้เพิ่มทางเลือกโดยให้ใช้ทรัพย์สินอื่น เช่น โฉนดที่ดิน มาค้ำประกันแทนเงิน ช.พ.ค. ได้
ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินในการประกันชีวิตใหม่ เพราะที่ผ่านมาเบี้ยประกันค่อนข้างสูง
ต้องติดตามว่า “บันทึกข้อตกลงฉบับใหม่” จะมีหน้าตาอย่างไร หลังการเจรจาระหว่าง สกสค. และธนาคารออมสิน ซึ่งยืดเยื้อมายาวนาน ได้ข้อยุติเสียที!!

ภาพ ครู-เงิน