อุษาวิถี (4) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (4)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ปัจจุบันนี้อินเดียได้กลายเป็นแหล่งอู่อารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี และมีแหล่งที่มาของอารยธรรมสองแห่ง คือ แหล่งวัฒนธรรมหะรัปปา (Harappa) บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ (บางที่เรียกว่า “สินธ์”) และแหล่งวัฒนธรรมโมหันโช-ทโฑ (Mohenjo-daro) แหล่งอารยธรรมทั้งสองนี้ตั้งอยู่ในปากีสถาน

หลักฐานที่ค้นพบจากแหล่งอารยธรรมทั้งสองแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอินเดียในระยะเวลานั้นได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมทั้งสองนี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีการเดินทางเข้าออก หรือตั้งแหล่งพำนักอาศัยของคนต่างชาติต่างชาติพันธุ์ ไม่เฉพาะแต่คนในพื้นที่

ทราวิฑ (Dravidian) หรือมิลักขะ ถือเป็นชนชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอินเดีย แต่อยู่ถัดลงมาทางใต้ของอินเดีย ซึ่งปัจจุบันคือรัฐมัทราสของอินเดีย

จนกระทั่ง ก.ค.ศ.2000-1500 ชนชาติอารยัน (Aryan) หรืออริยัน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชนชาติที่มาจากรัฐแบกเทรียหรือรัฐบัลข์ (Balkh) ของอิหร่านในปัจจุบัน ได้เดินทางข้ามเทือกเขาฮินดูกูศเข้าไปในอัฟกานิสถาน แล้วมุ่งหน้ามายังทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย อันเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมทั้งสองข้างต้น

การเข้ามาของพวกอารยันได้ขับให้พวกทราวิฑออกไปจากพื้นที่เดิมของตน และทอนให้พวกทราวิฑลงมาเป็นทาส พวกอารยันได้นำเอาวัฒนธรรมของตนเข้ามาด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ คำว่า อารยัน ที่มีความหมายตามศัพท์ “อารยะ” ว่า ความเจริญ ความประเสริฐ นั้น โดยรากศัพท์หรือธาตุของคำแล้วแปลว่า “ไถ” ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของพวกอารยันเองที่ยกย่องอาชีพเกษตรกรรม ว่าเป็นอาชีพที่ประเสริฐ

ด้วยเหตุนี้ ชาวนาผู้อยู่ในอาชีพอัน “ประเสริฐ” นี้จึงทำหน้าที่เป็นนักบวช นักรบ และนักค้าไปด้วยในตัว ก่อนที่วัฒนธรรมนี้จะถูกพัฒนามาเป็นระบบวรรณะในเวลาต่อมา

จากรากความหมายเดิมของคำว่า อารย ที่แปลว่า ไถ นี้ นับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก ด้วยเป็นที่น่าสังเกตว่า การที่มนุษย์ค้นพบประโยชน์ของการไถเพื่อการเกษตรกรรมได้นั้น ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก

โดยเฉพาะในยุคที่มนุษย์เริ่มตั้งตัวเลี้ยงตนเองอยู่กับที่ด้วยการเกษตร แทนที่จะเร่ร่อนหาของป่าล่าสัตว์ (hunting and gathering) แต่เพียงอย่างเดียวดังเมื่อก่อนหน้านี้ แต่การเกษตรที่ว่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นด้วยการไถในยุคเริ่มต้น และคงใช้วิธีอื่น เช่น การขุด ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่เท่าการไถ

การค้นพบการไถที่สามารถให้ผลผลิตที่มากกว่า เร็วกว่า และประหยัดกว่า จึงนับว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญสำหรับมนุษยชาติ

เหตุฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ต่อมา อารย ที่แปลว่า ไถ จะกลายความหมายมาเป็นความเจริญหรือความประเสริฐ

และเมื่อคำนี้ถูกมารวมเข้ากับคำว่าธรรม ที่หมายถึง การทรงเอาไว้ กลายเป็นคำว่า อารยธรรม ที่หมายถึง การทรงเอาไว้ซึ่งความเจริญหรือความประเสริฐ เพื่อแปลคำว่า civilization แล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า อารยธรรม กับคำว่า civilization จึงเกิดมิติที่น่าสนใจขึ้น

นั่นคือ ในยุคสมัยใหม่ที่มีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจว่า ตะวันตกมีอารยธรรมเหนือกว่าตะวันออกนั้น ส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความเข้าใจเช่นนี้ก็คือ การชี้ให้เห็นว่าสังคมอุตสาหกรรมดีกว่าสังคมเกษตรกรรม

ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับความหมายเดิมของคำว่าอารย ด้วยความบังเอิญ ขณะเดียวกันก็มีนัยที่ลึกซึ้งและชวนคิดไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้มีอำนาจเหนือพวกทราวิฑแล้วก็ตาม แต่พวกอารยันก็ยังคงเข้าแย่งยึดพื้นที่อื่นๆ ในอินเดียต่อไป และได้นำมาซึ่งการรบพุ่งแตกแยกกันทั่วอินเดียขณะนั้น จนถึงขั้นกลียุค

ความยุ่งยากดังกล่าวได้ผลักดันให้สังคมอินเดียเวลานั้น ปรากฏผู้แสวงหาสัจธรรมหรือนักปราชญ์เกิดขึ้นอย่างมากมาย เพื่อนำสัจธรรมที่ตนค้นพบไปใช้แก้ปัญหาความยุ่งยาก และได้นำอินเดียเข้าสู่ยุคแห่งปรัชญะปัญญา (Age of Philosophical Intellect) ยุคนี้เริ่มขึ้นราว ก.ค.ศ.1000

และเมื่อลุล่วงเข้าสู่ช่วงพุทธกาล ความรุ่งเรืองของยุคนี้ก็เกิดขึ้น แต่ก็เป็นยุคที่อินเดียถูกแยกเป็นรัฐต่างๆ นับสิบรัฐ คือ อังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ รวม 21 รัฐ

แน่นอนว่า รัฐเหล่านี้ย่อมมีอำนาจที่เสมอกันบ้างและไม่เสมอกันบ้าง แต่รัฐที่ด้อยอำนาจกว่าต้องพึ่งพารัฐที่มีอำนาจเหนือกว่า และนับจากนี้ไปอีกนานนับพันปี วิถีจากอินเดียได้ปรากฏชัดเจนผ่านชุดความคิดต่างๆ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์

ซึ่งต่อไปนี้จะได้แยกอธิบายเป็นประเด็น ดังนี้

ก.อินเดียก่อนพุทธกาล

พวกอารยันที่เข้ามาในอินเดียในราว 1500 ถึง 1000 ก่อนพุทธกาลนั้น ก็ไม่ต่างกับกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่ต้องจัดระบบการเมืองภายในที่ไม่ใช่ของตนให้เป็นระเบียบ ผลโดยรวมก็คือ พวกอารยันได้รับเอาวัฒนธรรมธรรมหะรัปปาและโมหันโช-ทโฑของชนพื้นเมืองเดิม มาไว้กับตัวส่วนหนึ่ง และนำเอาวัฒนธรรมของตนมาปรับใช้อีกส่วนหนึ่ง

ในส่วนหลังนี้เองที่ต่อมาได้ค่อยๆ กลายมาเป็นวิถีวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจการเมืองของอินเดียที่รู้จักกันดีว่า ระบบวรรณะ

ก่อนที่ระบบวรรณะจะเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา พวกอารยันที่ยกย่องอาชีพเกษตรกรรมว่าเป็นอาชีพอันประเสริฐนั้น มีความจำเป็นต้องกระทำ “อาชีพ” อื่นควบคู่ไปด้วย ซึ่งก็คือ อาชีพนักบวช นักรบ และนักค้า

ทั้งนี้ก็เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปล่อยให้พวกทราวิฑซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม (แต่มีฐานะไม่ต่างกับศัตรู) ได้ทำอาชีพเช่นนี้แทนตนได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นที่พวกตนเข้ามาในอินเดียใหม่ๆ

แต่ในฐานะที่พวกอารยันมีความเหนือกว่าเจ้าของพื้นที่เดิม จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่พวกอารยันจักต้องใช้ “อาชีพ” ที่ว่ามาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งให้เห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างตนกับเจ้าของพื้นที่เดิม เพื่อให้เห็นความแตกต่างของผู้ที่เหนือกว่า (อารยัน) กับผู้ที่ด้อยกว่า (ทราวิฑหรือเจ้าของพื้นที่เดิม)

ด้วยเหตุนี้เอง “อาชีพ” จึงถูกนำมาแบ่งเป็น “หน้าที่” ที่แตกต่างกันจึงเกิดขึ้นจนนำไปสู่การเกิดระบบวรรณะในที่สุด