กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (15) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (15)

 

วิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง

(กรณีพิพาทปาเลสไตน์-อิสราเอล)

จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ในปี 2532 ราคา 50 บาท ความยาว 208 หน้า โดยกิติมา อมรทัต กล่าวถึงความสำคัญของปัญหานี้เอาไว้ว่า ทุกวันนี้ปาเลสไตน์และอิสราเอลปรากฏชื่อเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ

ปัญหาปาเลสไตน์ก็กำลังเป็นที่ถกเถียงกันของสหประชาชาติและประเทศที่เกี่ยวข้อง ข่าวจากแหล่งข่าวบางแห่งเรียกชาวปาเลสไตน์ว่า “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “ผู้ทำลายล้าง” ส่วนข่าวจากบางแหล่งก็กล่าวว่า ชาวปาเลสไตน์ (ซึ่งเราคุ้นกันอยู่ว่าเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายลี้ภัยมาหลายสิบปีแล้ว) นั้น คือผู้มีสิทธิ์เต็มที่ในดินแดนที่ปัจจุบันนี้เรียกว่า “อิสราเอล” ทำให้เรานึกฉงนใจว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่

ชาวปาเลสไตน์คือใคร?

และเหตุใดจึงมายื้อแย่งจะเอาแผ่นดินของชาวอิสราเอล? ใครคือพระเอก ใครคือผู้ร้ายในเรื่องนี้กันแน่?

คำกล่าวของชาวยิวที่ว่าพวกเขามีสิทธิ์เต็มที่ในดินแดนอิสราเอลนั้นก็เป็นเพราะมันเป็นดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษของเขานั้นเป็นความจริงหรือเปล่า?

ชนดั้งเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนนี้แต่โบราณกาลนั้นคือใคร?

เป็นบรรพบุรุษของฝ่ายใดกันแน่?

และเรื่องราวของปัญหาใหญ่ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้มีความเป็นมาอย่างไร?

นายพลโท อี.แอล.เอ็ม เบิร์นส์ ผู้เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่แห่งองค์การดูแลการยุติสงครามชั่วคราวของสหประชาชาติในปาเลสไตน์ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า

“การกระทำผิดติดต่อกันมาอย่างน่าฉงนที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์ในระหว่างสองทศวรรษที่แล้วมานี้ ได้สร้างปัญหาหนักที่สุดทางด้านมนุษยธรรมและการเมืองในสมัยของเราขึ้นมา”

“เรื่องราวนั้นมีผลกระทบกระเทือนโดยตรงต่อชีวิต ความปรารถนาใฝ่ฝันและอนาคตของผู้คนนับล้านๆ คนในตะวันออกกลาง ความจริงเกี่ยวกับปาเลสไตน์ถูกฝังอยู่ใต้ความจงใจให้ข่าวสารผิดๆ การบิดเบือนข้อเท็จจริง และการโฆษณาอันเต็มไปด้วยเล่ห์กระเท่ห์ซึ่งดำเนินมาตลอดเวลาหลายสิบปีมานี้”

“ผู้สังเกตการณ์ที่มีใจเป็นกลางทั้งที่เป็นชาวแคนาดา สวีเดน และอเมริกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาปาเลสไตน์มาตั้งแต่ต้นในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากสหประชาชาติ ได้สังเกตเห็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง รวมทั้งความยากลำบากในการที่จะนำเอาเรื่องราวของชาวอาหรับไปสู่ความคิดเห็นของประชาชนในโลกได้”

 

นายพลตรี คาร์ล ฟอน ฮอร์น หัวหน้าคณะเดียวกันนี้ระหว่างปี 1958-1963 ก็กล่าวว่า

“เราต้องประหลาดใจในความเท็จซึ่งได้บิดเบือนภาพอันแท้จริงเสียหมด บริการข่าวสารของอิสราเอลซึ่งมีความช่ำชองสูงได้สร้างภาพอันผิดความจริงให้แก่ประชาชนของตนเอง รวมทั้งบรรดาผู้เห็นอกเห็นใจและผู้สนับสนุนในอเมริกาและส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างชำนิชำนาญ โดยอาศัยช่องทางทุกอย่างของการโฆษณา ข้าพเจ้าไม่เคยเลยในชีวิตที่จะเชื่อความจริงที่ถูกบิดเบือนอย่างชำนาญนั้น”

ดร.จอห์น เดวิส (John Davis) ผู้เป็นข้าหลวงใหญ่ของ UNRWA (หน่วยบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติ) มา 5 ปี ก็ได้กล่าวว่าเขา “ได้พบว่าความเข้าใจของคนในโลกในเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์นั้นแตกต่างจากความจริงที่เป็นอยู่” ดร.เดวิสผู้ล่วงลับไปแล้วกล่าวว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้งโลกตะวันตกด้วยนั้นมีความรู้เกี่ยวกับปาเลสไตน์สมัยใหม่หรือการต่อสู้ที่เกิดขึ้นที่นั่นเพื่อต่อต้านการอพยพของยิว และความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลยิวน้อยเหลือเกิน ในส่วนชาวอเมริกานั้น คนส่วนมากไม่เคยได้ฟังฝ่ายอาหรับพูดเลย”

ทั้งนี้ กิติมา อมรทัต ได้กล่าวถึงการรับรู้ถึงชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ที่คนไทยมีอยู่เอาไว้ว่าชาวไทยเราซึ่งส่วนมากได้รับข่าวสารจากแหล่งข่าวเหล่านั้นก็เหมือนกันย่อมมีทางหลงผิดไปได้ง่ายๆ เพราะทราบกันอยู่ว่าชาวยิวเป็นผู้มีสมองดี มีความฉลาดและความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะในความคิดของเรานั้น ยิวดีกว่าอาหรับมากเพราะฉะนั้นยิวย่อมมีขอบข่ายของการให้ข่าวสารกว้างขวางมากทั้งทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์อยู่ในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ฉะนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเขียนขึ้นด้วยเจตนาจะให้ผู้อ่านได้รู้เรื่องที่แท้จริง ซึ่งเกิดขึ้นไม่ไกลจากประเทศของเรามากนัก ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ทราบความเป็นมาของปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอลนี้ และควรทราบอย่างถูกต้องและละเอียดพอสมควรด้วย เว้นแต่ว่าไม่มีข้อมูลและเรื่องราวในตอนท้ายให้ถึงทุกวันนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหวังว่าภูมิหลังเหล่านี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ประจักษ์ในความจริงตามสมควร

กลไกการโฆษณาของยิวซึ่งมีเงินหนุนหลังอย่างไม่จำกัด และมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้ข่าวสารข้อมูลผิดๆ แก่โลกอย่างมหาศาล พวกเขาสามารถกระจายข่าวที่เป็นประโยชน์แก่อิสราเอลได้ตามใจโดยมิได้คำนึงถึงความจริง สิทธิ และความยุติธรรม

ตรงกันข้ามฝ่ายอาหรับยังไม่มีทางที่จะเสนอเรื่องราวของพวกเขาให้โลกได้ล่วงรู้ เพราะอาหรับไม่มีสื่อการโฆษณาที่สามารถจะแข่งขันกับสื่อมวลชนของอิสราเอลได้

 

เส้นทางของชีวิตอะห์มัด คอลีล

ผู้ลี้ภัยจากปาเลสไตน์

มัรยัม ญะมีละฮ์ ชาวยิวที่หันมานับถือศาสนาอิสลาม เขียน กิติมา อมรทัต แปล อิสลามิคอะคาเดมี จัดพิมพ์ในปี 2541 150 หน้า ราคา 335 บาท

ผมเองได้เขียนคำนำในเรื่องนี้เอาไว้ว่า เส้นทางของชีวิตอะห์มัด คอลีล ผู้ลี้ภัยจากปาเลสไตน์ ซึ่งเขียนโดย มัรยัม ญะมีละฮ์ แปลโดย กิติมา อมรทัต เป็นนิยายสะท้อนชีวิตชาวปาเลสไตน์ท่ามกลางการยึดครองของอิสราเอลและเส้นทางชีวิตอันเต็มไปด้วยขวากหนามของอะห์มัด คอลีล ตัวละครเอกในเรื่อง แม้ว่าแสงแห่งความหวังในชีวิตของอะห์มัด คอลีล จะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ต้องถูกกลบด้วยโศกนาฏกรรมที่ติดตามชีวิตมาเป็นระลอกๆ

มากาเรต มาร์คัส หรือมัรยัม ญะมีละฮ์ ผู้เป็นชาวอเมริกันรุ่นที่สี่ที่มีเชื้อสายเยอรมันยิว ได้เขียนถึงความโหดร้ายที่ชาวปาเลสไตน์ได้รับจากชาวยิวผู้เข้ายึดครองดินแดนเอาไว้อย่างเข้าถึงอารมณ์ที่แท้จริงของเหตุการณ์

มัรยัม ญะมีละฮ์ เริ่มเขียนนวนิยายอิงชีวิตจริงของชาวปาเลสไตน์นับตั้งแต่เธอมีอายุแค่ 14 ปี ส่วนหลังของหนังสือนั้นเธอเขียนเมื่อมีอายุยี่สิบปีต้นๆ ในขณะที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในขณะที่ส่วนท้ายได้เขียนเพิ่มเติมขึ้นก่อนการเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในปี 1961 เนื่องจากเธอได้เขียนเรื่องนี้ในขณะที่อยู่ในอเมริกา

ความคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงย่อมปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับส่วนที่ถูกต้องซึ่งมีอยู่มากกว่า

 

งานเขียนของมัรยัม ญะมีละฮ์ เป็นงานเขียนที่เขียนขึ้นหลังจากต้องทำการศึกษาค้นคว้าชีวิตของชาวปาเลสไตน์มาแล้วอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ มัรยัม ญะมีละฮ์ คงจะต้องสนใจคัมภีร์กุรอานและคำสอนของศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ตลอดจนประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกมาแล้วอย่างลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้ว่างานของเธอนั้นเต็มไปด้วยเหตุการณ์และคำสอนซึ่งยกเอามาจากอัลกุรอานและหะดีษ (คำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) นอกจากแก่นของเนื้อเรื่องที่มีความเป็นนวนิยายแล้ว ผู้อ่านยังจะได้ศึกษาคำสอนของอิสลามในเวลาเดียวกัน

แม้ว่าเรื่องอันทุกข์โศกนี้จะเป็นผลมาจากการเข้ายึดดินแดนของอิสราเอลก็ตาม แต่มัรยัม ญะมีละฮ์ ก็ได้ชี้ให้เห็นความเลวร้ายของนายทุนปาเลสไตน์บางคนที่มีชีวิตอย่างหรูหราบนกองทุกข์ของพี่น้องตนเองในเวลาเดียวกันด้วย

ผลงานชิ้นนี้นับเป็นความตั้งใจที่น่าชมเชยของผู้เขียนที่สามารถจับเอาสปิริตที่แท้จริงของสถานการณ์และความปั่นป่วนที่ชาวปาเลสไตน์ได้รับมาเปิดเผยได้อย่างมีเหตุมีผลและมีความสมจริงอย่างยิ่ง

บัณฑิตยสถานอิสลามหรืออิสลามิคอะคาเดมี (Islamic Academy) มีความมุ่งหวังที่จะนำเสนอเรื่องราวของชาวมุสลิมผ่านนวนิยายเรื่องสั้น บทความ ตลอดจนงานเขียนและงานแปลที่อยู่ในระดับมาตรฐาน ทั้งนี้ก็ด้วยความตั้งใจที่จะให้สังคมทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้ถึงภาพที่แท้จริงของชาวมุสลิมจากงานเขียนของชาวมุสลิมที่มีความรู้ เข้าใจโลก และอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านคงจะได้รับอรรถรสของนวนิยายเล่มนี้ผ่านฝีมือการแปลระดับกิติมา อมรทัต ผู้ให้ความเคารพต่ออักษรทุกตัวของผู้เขียนอย่างไม่ตกหล่น