42 ที่เป็นมากกว่าตัวเลข | เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

42 ที่เป็นมากกว่าตัวเลข

 

จะขอเล่าถึงประเด็นที่น่าสนใจจากภาพยนตร์เรื่อง 42 American Legend กันในบทความฉบับนี้นะครับ

42 American Legend เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่ออกฉายไปนานแล้วคือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เล่าถึงเรื่องราวของนักกีฬาเบสบอล ที่ได้เป็นถึง Legend ของคนอเมริกัน ซึ่งถ้าเป็นคนผิวขาวก็ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่นักกีฬาคนที่ว่านี้เป็นคนผิวดำครับ มีชื่อว่า “แจ๊กกี้ โรบินสัน”

เขาเป็นนักกีฬาในยุคปี 1945 ที่สังคมอเมริกันมีการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง

นึกออกเลยใช่ไหมครับว่า แจ๊กจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างกว่าที่จะได้รับการยอมรับจนก้าวขึ้นมาเป็น Legend ได้เช่นนี้

แจ๊กกี้เป็นคนเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน เกิดในปี 1919 หลังจากครอบครัวถูกพ่อทอดทิ้งไปเมื่อเขาอายุได้แค่ 1 ขวบ แม่ก็พาเขาและพี่น้องย้ายมาอยู่ที่พาสซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่นั่นเขาและเพื่อนๆ ผิวสีต้องถูกแบ่งแยกจากสังคมผิวขาวที่มีอยู่จำนวนมาก

แต่เขาก็ประคองตัวและหันมาเอาดีในการเล่นกีฬาหลายชนิด และมาโดดเด่นกับกีฬายอดฮิตของชาวอเมริกันคือ เบสบอล ที่มีการจัดแข่งขันลีกระดับประเทศติดต่อกันมานาน

แม้เขาจะมีฝีมือและได้เป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในทีมหลายทีม แต่ก็เป็นแค่ลีกของนิโกรโดยเฉพาะ เพราะลีกของนักเบสบอลผิวขาวมีการกีดกันเชื้อชาติอย่างรุนแรง แม้จะไม่มีกฎหมายห้ามคนดำเล่นเบสบอลร่วมกับคนขาว แต่ระเบียบสังคมก็ไม่อนุญาต

ถึงกระนั้นก็มีคนลุกขึ้นมาท้าทายเรื่องที่ว่านี้ นั่นคือ เจ้าของสโมสรเบสบอล Brooklyn Dodgers ที่ชื่อ “แบรนช์ ริกกี้” ซึ่งเขามองการณ์ไกลว่าคนผิวดำเป็นนักเบสบอลที่เก่งฉกาจได้เพราะรูปร่างและสรีระที่มาจากเผ่าพันธุ์นั้นได้เปรียบคนผิวขาว และต้องการผู้เล่นผิวดำมาร่วมทีม

เขาถูกทีมงานคัดค้าน แต่เขาก็ยืนกรานความตั้งใจ จนเกิดการเสาะหานักกีฬาผิวดำคนแรกมาเข้าทีม

ซึ่งหวยก็ไปตกที่แจ๊กกี้นั่นเอง

วันที่แจ๊กกี้เดินทางมาพบกับริกกี้ หลังจากคุยกันสักพักรวมถึงข้อเสนอที่ริกกี้เรียกร้องจากเขา ข้อสำคัญคือ ห้ามเป็นผู้เล่นผิวดำที่มีปัญหาในการแสดงออกเรื่องเหยียดสีผิวเด็ดขาด

“คุณต้องการนักกีฬาผิวดำที่ไม่กล้าจะตอบโต้อย่างนั้นเหรอ” แจ๊กกี้ถามกลับด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ แต่ริกกี้ก็ตอบกลับมาด้วยประโยคที่เป็นเหมือนคีย์เวิร์ดของหนังเรื่องนี้ ริกกี้ตอบแจ๊กกี้ว่า

“เปล่า ผมต้องการนักกีฬาผิวดำที่กล้าที่จะไม่ตอบโต้ต่างหากล่ะ”

“เพราะไม่มีอะไรจะเอาชนะความคิดพวกนั้นไปได้ นอกจากผลงานในสนามเท่านั้น” ริกกี้บอกอย่างนั้น

และเมื่อแจ๊กกี้ยอมเซ็นสัญญา เขาได้เริ่มต้นกับทีมในลีกรองของริกกี้ก่อน ถึงกระนั้นก็เป็นทีมที่มีแต่ผู้เล่นผิวขาวล้วน แน่นอนที่เขาจะถูกต่อต้านและไม่ยอมรับจากเพื่อนร่วมทีมด้วยพฤติกรรมต่างๆ เช่น ไม่คุยด้วย เล่นกีฬาเสร็จก็ไม่ให้อาบน้ำร่วมกัน หรือแม้แต่ต้องย้ายบ้านพักกลางดึกเพราะคนขาวในละแวกนั้นประกาศว่าจะไม่ยอมให้เขาอยู่ร่วมด้วยเป็นอันขาด

ซึ่งจะว่าไปเรื่องอย่างนี้ ในชีวิตของแจ๊กกี้นั้นผ่านมาเยอะ แต่เขาเลือกที่จะไม่ทนและตอบโต้ อย่างตอนที่เขาเป็นทหารและขึ้นรถบัสของกองทัพ เขาปฏิเสธที่จะนั่งในเบาะหลังซึ่งจัดให้เป็นที่ของคนดำ แต่ยืนกรานจะนั่งที่ด้านหน้ารถ เขาถูกไล่ให้ลงจากรถไปและต้องขึ้นศาลทหาร แต่สุดท้ายก็รอดความผิดมาได้

แต่กับโลกใหม่ของเบสบอลที่นี่ เขาจำต้องที่จะ “อดทน” และ “ไม่ตอบโต้” ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดี โดยมีภรรยาคอยให้กำลังใจอยู่เคียงข้าง

แจ๊กกี้ได้พิสูจน์ฝีมือในทีมรองจนริกกี้จะย้ายเขาขึ้นมาเล่นในลีกใหญ่กับทีม Brooklyn Dodgers แต่ก็มีการลงชื่อต่อต้านจากนักกีฬาผิวขาวของทีมว่าจะไม่ยอมเล่นกับแจ๊กกี้ โรบินสัน เด็ดขาด แต่ริกกี้ก็เล่นไม้แข็งกลับ ใครไม่พอใจเขาก็จะย้ายให้ไปเล่นทีมอื่นที่ต่ำชั้นกว่าแทน

ในที่สุดแจ๊กกี้ก็ได้ก้าวมาเป็นสมาชิกใหม่ของทีม และเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักกีฬาเบสบอลผิวดำคนแรกของลีกระดับชาติ ที่กลายเป็นข่าวดังและถูกจับตามองจากคนขาวที่เป็นทั้งนักกีฬา กรรมการ สื่อมวลชน สปอนเซอร์ และผู้ชม

ในหนังเราจะได้เห็นว่า ในสนามมีการแบ่งแยกโซนที่นั่งของผู้ชมผิวขาวกับผิวดำอย่างชัดเจน ไม่เว้นแม้แต่กับห้องของสื่อมวลชน

“เวนเดล สมิธ” นักข่าวผิวดำที่ตามประกบแจ๊กกี้ และเป็นประหนึ่งพี่เลี้ยงของเขา ได้บอกกับแจ๊กกี้ในวันที่เขาย่ำแย่ว่า

“เรื่องอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคุณหรอก ไม่สังเกตเหรอว่าทำไม ผมต้องมานั่งพิมพ์ดีดอยู่บนอัฒจันทร์คนดู เพราะในห้องสื่อมวลชนไม่ยอมให้ผมเข้า”

ฉากที่เป็นการเปิดตัวการลงสนามครั้งแรกในนามผู้เล่นผิวดำคนแรกของทีม Brooklyn Dodgers แจ๊กกี้สวมชุดเบอร์ 42 เดินมาตามช่องทางออกใต้อัฒจันทร์คนดูเพียงลำพัง การถ่ายภาพ ดนตรี และบรรยากาศ ทำให้ผมนึกไปถึงฉากในเรื่อง The Gladiator ที่รัสเซล โครว์ กำลังเดินจากช่องใต้อัฒจันทร์เข้าสู่สนามประลอง ต่างกันที่ว่านั่นเป็นสนามแห่งเลือดเนื้อที่พระเอกมีเสือตัวใหญ่เตรียมจะขย้ำเขา แต่นี่เป็นสนามเบสบอลที่มีคนดูผิวขาวนับร้อยๆ เตรียมจะขย้ำแจ๊กกี้

และเขาก็ถูกขย้ำจริงๆ ตั้งแต่วินาที่แรกของการปรากฏตัว เสียงโห่ เสียงตะโกนด่า เสียงไล่ให้ออกไปจากสนามดังอยู่ตลอดเวลา คิดดูว่าถ้าเป็นคุณจะรู้สึกอย่างไร

และที่หนักหนาคือครั้งหนึ่งเมื่อเขาลงมือเล่นและเข้าประจำที่เตรียมจะตี ก็มีผู้จัดการทีมตรงข้ามมายืนพูดจาด่าทอ ส่อเสียด ลามไปถึงพ่อแม่และเมียของเขา จนเขาสมาธิแตกจนไม่สามารถตีลูกได้

เขาออกมาระบายด้วยการฟาดไม้กับผนังทางเดินและตะโกนออกมาอย่างบ้าคลั่ง มันบอกถึงขีดสุดของความอดทนอดกลั้นแล้ว ริกกี้ปรากฏตัวขึ้น คำพูดของเขาทำให้แจ๊กกี้สงบและกลับมาสู้ต่อได้ เขาบอกว่า

“ตอนนี้นายไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแล้ว แต่ทำเพื่อคนดำทุกคน หากไม่อยากให้คนดำถูกตราหน้าว่าเป็นพวกชอบความรุนแรง ก็ต้องโต้กลับไปด้วยการตีเบสบอลของนาย นั่นเป็นทางเดียว”

และเมื่อกลับออกไปในสนามใหม่ แจ๊กกี้ก็สามารถใช้ผีมือการเล่นเบสบอลของเขาอุดปากหมาๆ ของคนที่ด่าเขาได้จริงๆ และเขาก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เพราะผลงานของทีมที่ดีขึ้นและเก็บชัยชนะมาได้ก็ด้วยฝีมือแบบยอดมนุษย์ของเขาจริงๆ

บรรยากาศในทีมค่อยๆ ดีขึ้น เขาเป็นที่ยอมรับกับบางคน เช่น ยอมให้อาบน้ำร่วมได้ บางคนก็เข้าไปตอบโต้คนผิวขาวด้วยกันแทนเขา เข้ามาช่วยเหลือเขาในสนามเพราะโดนรังแก และพร้อมจะอัดกลับไป

และในที่สุดเขาก็เป็นที่ยอมรับของผู้ชม เมื่อทีม Brooklyn Dodgers สามารถคว้าชัยชนะในลีกได้ และเขาทำคะแนนการเล่นได้อย่างน่าอัศจรรย์

เขาได้รับรางวัลนักเล่นดาวรุ่งของเมเจอร์ลีกในปี 1947 และในปี 1962 ก็ได้รับเกียรติบรรจุชื่อในหอเกียรติยศของเบสบอล

ที่สำคัญคือเขาได้เปิดประตูให้นักกีฬาผิวดำได้มีพื้นที่ในกีฬาเบสบอลมากยิ่งขึ้น

แม้เมื่อเขาได้จบชีวิตลงไปแล้วตั้งแต่ปี 1972 ด้วยวัย 53 ปี แต่ในวันที่ 15 เมษายน ปี 2004 ผู้เล่นเบสบอลทุกคนในทุกลีกของอเมริกา พากันใส่เสื้อเบอร์ 42 เพื่อเป็นการรำลึกและให้เกียรติกับ “แจ๊กกี้ โรบินสัน”

เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นและตอกย้ำถึงสังคมที่ถูกครอบงำและกำหนดโดยผู้มีอำนาจโดยแท้ อำนาจของสังคมอเมริกาคือคนผิวขาวที่รุกรานแย่งชิงพื้นดินที่อาศัยของคนพื้นเมืองมาเป็นของตน และตั้งท่าวางตัวให้เหนือชั้นวรรณะกับคนพื้นเมืองเจ้าของถิ่น

เมื่อมีการล่าอาณานิคมก็จับเอาคนผิวดำจากต่างถิ่นมาเป็นทาสอย่างทารุณ และหยามเหยียดว่าเป็นเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง ไม่ใช่มนุษย์แบบเดียวกัน แม้เมื่อโลกเจริญขึ้น แต่การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติยังคงมีอยู่ และทวีความรุนแรงในมิติต่างๆ มากขึ้น

ซึ่งเรื่องการฉกฉวยประโยชน์จากอำนาจไม่ได้มีเฉพาะในสังคมต่างเชื้อชาติเท่านั้น แม้แต่ในสังคมเดียวกัน เพศชายก็เป็นคนกำหนดทุกอย่าง และด้อยค่าเพศหญิงอย่างตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

แม้แต่กับโลกของกีฬาเบสบอลเอง

ในภาพยนตร์เรื่อง A League of Their Own ที่ออกฉายเมื่อปี 2535 ได้เล่าถึงอเมริกาในช่วงปี 1943 ที่เป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่สอง ชายอเมริกันจำนวนมากถูกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อทำสงคราม จนขาดนักกีฬาเบสบอลไป

แต่ธุรกิจของสปอนเซอร์ที่สนับสนุนต้องเดินต่อ จึงได้ไปเสาะหานักกีฬาเบสบอลผู้หญิงมารวมตัวกันเป็นทีมและจัดการแข่งขันแบบลีกขึ้น

ซึ่งจากความกระท่อนกระแท่นของการเกิดการแข่งขัน รวมทั้งการไม่ได้รับการยอมรับจากแฟนกีฬาเพศชาย และสื่อมวลชนว่าผู้หญิงจะมาเล่นเบสบอลได้อย่างไร ทำให้เปิดตัวได้ไม่สวย

แต่นักกีฬาหญิงเหล่านั้นก็ยังตั้งหน้าตั้งตาอดทนฝึกซ้อมลงแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ ต้องเดินทางข้ามรัฐบนรถบัสคันเดียว พร้อมกับเขียนจดหมายถึงลูกหรือสามี หรือพ่อแม่ที่อยู่ข้างหลัง

ในที่สุดจากผลงานที่ประจักษ์ว่าพวกเธอไม่ได้มาเล่นๆ แต่แข่งขันจริงจังไม่แพ้ผู้ชาย ก็เรียกความนิยมของแฟนเบสบอลกลับมาได้ ผู้ชมแน่นสนาม จนปิดฤดูกาลแข่งขันของลีกลงได้อย่างประทับใจ และสำเร็จเกินคาด

เมื่อจบลีก ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สงครามยุติ ผู้ชายที่เป็นทหารและรอดตายกำลังพากันกลับบ้าน นักเบสบอลกำลังจะคืนสนาม ซึ่งก็มีผู้บริหารลีกคิดว่าจะยุติลีกเบสบอลหญิงลงแต่เพียงเท่านี้ ประโยคหนึ่งที่ผู้ปลุกปั้นลีกหญิงนี้ขึ้นมาพูดกับผู้มีอำนาจว่า

“คุณไปควักพวกเธอออกมาจากครอบครัวและก้นครัว มาสร้างความสำเร็จให้คุณ และตอนนี้คุณก็จะยัดพวกเธอกลับไปที่ก้นครัวเหมือนเดิมยังงั้นหรือ”

นี่สะท้อนให้เห็นถึงการมองอำนาจเป็นใหญ่ อำนาจของผู้ชายที่กำหนดชีวิตผู้หญิง เช่นเดียวกับอำนาจของคนผิวขาว ที่กำหนดชีวิตของคนผิวดำและผิวสี

เลข 42 บนหลังเสื้อของแจ๊กกี้ โรบินสัน จึงไม่ได้เป็นแค่เบอร์เสื้อตัวหนึ่งเท่านั้น แต่มันได้ประกาศชัยชนะของผู้ที่เป็น Underdog ที่เป็นดั่งตัวแทนในการแสดงออกอย่างสันติ และปลดปล่อยจากการถูกกดขี่ของผู้ที่เหมือนเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่มีอำนาจทั้งหลาย

และสิ่งที่เป็นเครื่องมือที่ปลดปล่อยได้ดีที่สุด คือ ทัศนคติ ฝีมือ และผลงานของการกระทำที่ใครๆ ก็มิอาจปฏิเสธได้

ไม่ว่าจะมีอำนาจในมือเพียงใดก็ตาม •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์