E-DUANG : ก้าวอีกก้าว ของ บอกอลายจุด กับแผนการ  #วันอาทิตย์สีดำ

การเปิดตัว#วันอาทิตย์สีดำผ่านกระบวนการ Flash Mob โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มิได้เป็นเรื่องในแบบครั้งแรกและไม่เคยปรากฏมาก่อนแน่นอน

เพราะในห้วงนับแต่เดือนธันวาคม 2562 ก็เคยเห็นมาแล้วบนสกายวอล์คเหนือกรุงเทพมหานคร

และในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก็เบ่งบานอย่างคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็นลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ยิ่งกว่านั้น กล่าวสำหรับ นายสมบุติ บุญงามอนงค์ ก็เคยนำเสนอรูปการณ์เคลื่อนไหวในแบบ Flash Mob มาแล้วตั้งแต่หลังสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

นั่นก็คือ การตัดหมายไปรวมตัวกันบริเวณป้ายแยกราชประ สงค์ แล้วผูกริบบิ้นพร้อมกับเปล่งคำขวัญ”ที่นี่ มีคนตาย”ดังกึกก้องซ้ำแล้วซ้ำอีก

ส่งผลให้ความท้อแท้ ห่อเหี่ยวของเหล่า”คนเสื้อแดง”ได้รับการชุบย้อมประโลมความรู้สึกและพลิกฟื้นยืนขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรหรือคือ #วันอาทิตย์สีดำของ”บอกอลายจุด”

 

มีความจำเป็นต้องหาคำตอบจากแถลงโดยตรงจากเฟซ นายสม บัติ บุญงามอนงค์ ที่ยืนยันว่า ไม่อยากให้เป็น Mob แต่อยากให้เป็น Direct Action

ความหมายเป็นอย่างไร ไม่ว่าสันติบาล ไม่ว่านครบาล ต้องหาความหมายเอาเอง

นั่นก็คือ “ไม่มี่มวลชน ทุกคนเป็นผู้ปฏิบัติงานอาสาสมัคร” นั่นก็คือ “ต้องทำด้วยกัน พร้อมกัน ไม่กินเวลา ไม่ยืดเยื้อ เรียบง่ายขยายใหญ่ได้”

#วันอาทิตย์สีดำ 1 @สกาล่า ดำเนินไปในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็น Experimental หรือการทดลอง วันอาทิตย์ เท่ากับ 1 วันต่อสัปดาห์

ทำซ้ำเป็น Snowball Effect เป้าหมายคือ สะสมกำลัง

และฟื้นฟูขบวน

 

เบื้องต้นจากคำประกาศของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ คือเพรียกหาอาสาสมัครจำนวน 100 คน โดยไม่บอกว่าจะมีภาระหน้าที่อย่างไรในปฏิบัติการนี้

เด่นชัดว่าเป็นการเริ่มจาก 100 และตั้งเป้าอยู่ที่หลายร้อย

เด่นชัดว่าท่วงทำนองของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ไม่เพียงดำเนินไปเหมือนกับเป็นคำถาม แต่ในคำถามนั้นมีความต่อเนื่อง

หลายคนจึงรอคอย#วันอาทิตย์สีดำด้วยความระทึก