ศาลจังหวัดขอนแก่น พิพากษายกฟ้อง ‘ทิวากร วิถีตน’ ถูกฟ้อง ม.112 ปมข้อความในเสื้อยืด

วันที่ 29 ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง “ทิวากร วิถีตน” ในความผิดคดีมาตรา 112 จากกรณี ถูกฟ้องใส่เสื้อยืดเขียนมีข้อความเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมทั้งเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊ก

โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อเวลา 10.36 น.ว่า ศาลชี้ว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์กล่าวถึง ประกอบกับพยานโจทก์เบิกความว่าคำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทิวากร วิถีตน เป็นเกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 46 ปี เนื่องจากศาลจังหวัดขอนแก่น นัดเขาไปฟังคำพิพากษา หลังปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเดินทางไปศาลถึง 4 วัน เพื่อร่วมการสืบพยานในคดีที่เขาถูกพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564

ทั้งนี้ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความของนายทิวากร ก็ได้โพสต์ข้อความภายหลังศาลยกฟ้องคดีดังกล่าวว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง ‘ทิวากร’ ข้อหา 112

เราทำสำเร็จแล้วครับ สามารถยกระดับการตีความบังคับการใช้มาตรา 112 ได้อีกขั้นหนึ่ง

‘สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112’

เมื่อข้อความและรูปภาพที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กดังกล่าว

กล่าวถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึง องค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ หากจำเลยต้องการลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง

จำเลยจะระบุไว้โดยชัดเจนตามที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ และ พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยไว้

และผศ.อานนท์ ก็เบิกความยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการ ประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายพระองค์

การที่จำเลยลงภาพและข้อความดังกล่าวจึงไม่ได้ระบุถึงการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ให้รู้ได้โดยแน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะการเข้าใจข้อความดังกล่าว ขึ้นกับการตีความของบุคคล และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊ก จึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์

และไม่ใช่กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีไม่พอที่จะลงโทษจำเลยความผิดฐานดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงการกระทำของจำเลยไม่ใช่ความผิดตาม ม.112 และ ม.116 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊กจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง