นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (3) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

นางพญาวิสุทธิเทวี

ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (3)

 

กลับมาสู่ความวุ่นวายสับสนอีกครั้งของเหตุการณ์ช่วงปลายราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา หลังจากที่ อาจารย์ชัยวุฒิ ชัยชนะ ได้เปิดประเด็นเรื่องศึกชิงบัลลังก์ระหว่างสามมหาเทวีองค์ต่างๆ ในรายการคลับเฮาส์เมื่อราวสามเดือนก่อนไปแล้วนั้น

1.มหาเทวีจิรประภา 2.มหาเทวีแม่พระจอมเมือง 3.นางพญาวิสุทธิเทวี

เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ปริศนาแห่งขัตติยนารี จากจามเทวีถึงมหาเทวีล้านนา” อาจารย์ชัยวุฒิเป็นหนึ่งในวิทยากรครั้งนี้ด้วย ท่านได้นำเสนอถึงผลการวิเคราะห์วิจัย “หลักฐานใหม่” เกี่ยวกับมหาเทวีองค์ต่างๆ ที่คืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งบางประเด็นนั้น ดูเหมือนจะ “คิดใหม่ มองใหม่” หักล้างกับทฤษฎีเดิมของตัวเองที่เพิ่งนำเสนอในคลับเฮาส์ไปหมาดๆ ด้วยซ้ำ

อาจเป็นไปได้ว่า หลักฐานที่อาจารย์ชัยวุฒิได้มาใหม่ 9 ชิ้นนั้น แม้หลายชิ้นจะช่วยต่อจิ๊กซอว์หน้าประวัติศาสตร์ล้านนาที่ขาดหายไปได้บ้าง แต่เขาก็ยอมรับว่า เป็นการทำงานที่ยากยิ่งนักที่จะให้ด่วนสรุปหาข้อสรุปยุติแบบลงตัวร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยเฉพาะประเด็น “ลูกเขาเมียใคร ในช่วงปลายราชวงศ์ล้านนา”

ภาพพระบฏวัดพระยืน

จิรประภาเป็นแม่พระเมืองไชย

และเชื่อมล้านช้าง-ล้านนา?

ในรายการคลับเฮาส์ ที่อาจารย์ชัยวุฒินำเสนอเรื่อง “บุคคลปริศนา” ชื่อ “พระเมืองไชย” หรือท้าวไชย โดยไม่ทราบว่าเป็นลูกของมหาเทวีองค์ไหนกัน แต่ที่แน่ๆ ต้องเป็นโอรสองค์หนึ่งของพระเมืองแก้ว มิเช่นนั้นแล้ว ทันทีที่พระเมืองแก้วสวรรคต ไฉนเลยพระเมืองไชยจึงมีสิทธิ์เข้าพิธีราชาภิเษกขึ้นนั่งเมืองเชียงใหม่ได้

ผลักให้คู่แข่งคือ “พระเมืองเกษเกล้า” ซึ่งเป็นโอรสองค์สำคัญ (มีอีกชื่อว่า “พระเมืองอ้าย” ประหนึ่งถูกนับให้เป็นลูกชายคนโตที่เกิดจากมเหสีเอก) ต้องหนีไปกระทำพิธีราชาภิเษกนั่งเมืองที่เวียงกุมกามแทน สายนี้ต้องสถาปนาเวียงกุมกามซึ่งแทบจะร้างมาก่อนหน้านั้น ขึ้นเป็นราชธานีแบบฉุกเฉิน คู่ขนานกับเชียงใหม่

ในบทความฉบับก่อนๆ ดิฉันถอดคลิปเสวนาจากอาจารย์ชัยวุฒิแล้วนำมาเรียบเรียง พบว่าอาจารย์ชัยวุฒิเองก็ยังไม่แน่ใจนักว่า พระเมืองไชย (ท้าวยี่) เป็นลูกใครกันแน่ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานใดๆ ว่า มหาเทวีจิรประภามีใครเป็นโอรสธิดา

ทว่า จากการเสวนาอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน อาจารย์ชัยวุฒิกลับมีความเห็นว่า พระเมืองไชยน่าจะเป็นคนเดียวกันกับท้าวยี่ เป็นโอรสของพระเมืองแก้วที่เกิดจากพระนางจิรประภามหาเทวี เนื่องจากบริบทแวดล้อมทั้งหมด เริ่มชัดเจนขึ้นมากว่า พระนางจิรประภาต่อสู้กับทุกฝ่ายเพื่อให้พระเมืองไชยได้นั่งเมืองเชียงใหม่

ดังนั้น อาจารย์ชัยวุฒิจึงสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่า พระเมืองไชยจึงน่าจะเป็นโอรสของจิรประภามหาเทวี

ภาพพระบฏวัดพระยืน

อีกประเด็นหนึ่ง ข้อมูลที่เราเสวนากันในคลับเฮาส์ อาจารย์ชัยวุฒิมองว่า “มหาเทวีองค์หนึ่ง” ที่ไปกวักมือเรียกกษัตริย์ล้านช้างและพระอุปโยคือ “พระโพธิสาลราชและพระไชยเชษฐา” จากหลวงพระบางให้ขึ้นนั่งบัลลังก์เมืองเชียงใหม่นั้น ควรเป็น “นางพญาวิสุทธิเทวี” เนื่องจากอาจารย์ชัยวุฒิมองว่า ทันทีที่ฝ่ายล้านช้างมาถึง พระนางจิรประภาก็สวรรคตเสียแล้ว

แต่ในเวทีเสวนาที่สถาบันวิจัยสังคม มช. อาจารย์ชัยวุฒิวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้งจนได้ข้อสันนิษฐานใหม่ 2 ข้อ 1.มหาเทวีจิรประภาควรเป็นแม่ของพระเมืองไชย 2.คนที่ไปเจรจาต้าอ้วยกับทางล้านช้างควรเป็นจิรประภาไม่ใช่วิสุทธิเทวี

ข้อสันนิษฐานใหม่สองข้อของอาจารย์ชัยวุฒิ ท่านวิเคราะห์จากเหตุการณ์การสูญเสียพระเมืองไชยไป (ซึ่งสมมุติว่าควรเป็นโอรสของจิรประภา) ดูสอดคล้องกับการดิ้นรนที่ทำให้พระนางต้องหาที่พึ่งพิงใหม่ หลังจากที่ประสานกองกำลังจากเชียงตุงบ้าง เชียงแสนบ้าง แล้วล้มเหลว รอช้าไม่ได้ เพราะทางฝ่ายล้านนาตอนใต้ คือตั้งแต่หางดงลงไปจนถึงจอมทอง ฮอด ก็คือฐานอำนาจอันเข้มแข็งของฝ่ายมหาเทวีจอมใจ (วิสุทธิเทวี)

ดังนั้น ทางรอดสุดท้ายคือการไปเชิญกองกำลังอีกฝ่ายมาคัดง้าง นั่นคือฝ่ายล้านช้าง โดยที่ทั้งอาจารย์ชัยวุฒิ ชัยชนะ และคุณธีรานนท์ โพธะราช ก็ยังยืนยันว่า พระไชยเชษฐาไม่น่าจะใช่เลือดเนื้อเชื้อไขสายตรงจากพระนางจิรประภาเช่นเดิม

หากพระเมืองไชยเป็นโอรสของมหาเทวีจิรประภาจริง และสมมุติว่า “นางตนทิพ กับนางตนคำ” เป็นธิดาพระเมืองไชยจริง (ตำนานหลายฉบับระบุว่านางทั้งสองเป็นธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ไหนเล่า?) สมมุติว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์นั้นคือพระเมืองไชย (ลูกจิประภา) ก็เท่ากับว่า พระไชยเชษฐามีฐานะเป็น “หลานเขย” ของ “ย่าดอง” จิรประภา คือเกี่ยวดองกันห่างๆ ผ่านการแต่งงานของชั้นหลาน ไม่ใช่ย่าจริง แต่ก็ถือว่า “ดองกัน”

หลายท่านอาจท้วงว่า อ้าว! บทความนี้ตั้งใจจะเขียนถึงมหาเทวีอีกนางที่ชื่อวิสุทธิเทวีมิใช่หรือ ทำไมยังกลับมาสาละวนอยู่กับจิรประภาอีกด้วยเล่า คงต้องตอบผู้อ่านว่า เรื่องราวของสองมหาเทวีที่ต่างเป็นอัครชายาพระเมืองแก้วคู่นี้ ประวัติของทั้งสองนางตีคู่สูสีเบียดแทรกกันไปมาตลอด เมื่อเขียนถึงคนหนึ่ง หนีไม่พ้นที่จะต้องพาดพิงถึงอีกคนเสมอ

ภาพพระบฏวัดพระยืน

การปูพื้นว่าจิรประภาน่าจะเป็นแม่ของพระเมืองไชย อีกทั้งเป็นคนส่งสาส์นถึงฝ่ายล้านช้าง ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นเห็นว่า เหตุการณ์ช่วงที่ล้านนาดึงเอาพระโพธิสาลราชกับพระไชยราชาเข้ามาเชียงใหม่นี้ หาใช่ผลงานของวิสุทธิเทวีไม่

เรื่องนี้จำเป็นต้องอธิบายอย่างละเอียด เนื่องจากปริศนาโบราณคดีสามฉบับก่อนหน้านั้น ดิฉันได้ทิ้งท้ายไว้ที่คำถามว่า นางพญาวิสุทธิเทวีมีความสามารถถึงขนาดใช้กลวิธีดึงเอาชาวต่างด้าวท้าวต่างแดนมาชนกันให้เลือดสาดในแผ่นดินล้านนาได้จริงหรือ? คือดึงมาได้ทั้งฝ่ายอโยธยาของพระไชยราชา และยังจะดึงฝ่ายล้านช้างของพระโพธิสาลราชมาด้วยอีกหรือ

หลังจากผ่านไป 2-3 เดือน อาจารย์ชัยวุฒิพยายามนำข้อย้อนแย้งนี้ไปขบคิดต่อ แล้วขอแก้ข้อเสนอของตัวเองในคลับเฮาส์ ที่เคยเชื่อว่าการขึ้นมาทั้งของอโยธยาและล้านช้าง ล้วนเป็นฝีมือของนางพญาวิสุทธิเทวีแต่เพียงผู้เดียว

จึงขอนำเสนอใหม่ว่า คนที่ฝักใฝ่ฝายล้านช้างนั้นคือจิรประภา เดิมอาจารย์ชัยวุฒิมองไม่เห็นว่า จิรประภาเป็นแม่ของใคร นางมีส่วนได้ส่วนเสียอะไร ถึงต้องไปยุ่งกับฝ่ายล้านช้างด้วย ครั้นวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่า ทำไมพระเมืองไชยจึงถูกจิรประภาดันให้ขึ้นนั่งเมือง จึงสันนิษฐานว่า สองคนนี้น่าจะเป็นแม่ลูกกัน

ในเมื่อพระเมืองไชย (ท้าวยี่) นั่งเมืองเชียงใหม่ (ห้วงเวลาเดียวกันกับที่พระเมืองเกษเกล้า – ท้าวอ้ายไม่ยอมแพ้ นั่งเมืองกุมกามหริภุญไชย ด้วยสถานะที่เหนือกว่า) เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระเมืองไชยคนนี้เองที่ควรเป็นพ่อของนางตนทิพ ตนคำ ปริศนาที่เราเคยตามหามาตลอดว่าสองราชนารีนี้เป็นลูกใครกันแน่?

และเมื่อคิดต่อไปว่า ในเมื่อตนทิพ ตนคำ เป็นลูกพระเมืองไชย สองนางก็ย่อมเป็นหลานย่าของจิรประภา จิรประภาก็ควรเป็น “มหาเทวีองค์นั้น” (ซึ่งในตำนานไม่ระบุชื่อ) ว่าเป็นคนไปเทียบเชิญฝ่ายหลวงพระบางมานั่งเมืองเชียงใหม่นั่นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการคิด บนพื้นฐานข้อมูลอันน้อยนิดที่เราต้องช่วยกันปะติดปะต่อบนความน่าจะเป็น ซึ่งอาจารย์ชัยวุฒิมักพูดทิ้งท้ายเสมอว่า “สิ่งที่ผมเสนอนั้นยังอาจไม่ถูกต้องสมบูรณ์ดีนัก ยังรอผู้รู้ช่วยกันหาหลักฐานเพิ่มมาวิเคราะห์ร่วมกันอีกหลายเวที”

เวียงหิน ของนางพญาวิสุทธิเทวี ที่อำเภอจอมทอง

นางพญาวิสุทธิเทวีคือใคร?

ไทใหญ่เมืองนาย เชื้อมอญนางเม็ง

หรือลัวะบ้านแปะ?

เดิมสันนิษฐานว่า มหาเทวีผู้นี้น่าจะเป็นราชนารีเชื้อสายไทใหญ่แถบเมืองนาย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา) เหตุที่โอรสของพระนางคือ “ท้าวแม่กุ” หรือ “พระแม่กุ” เคยผนวชอยู่เมืองนายมาก่อน

ครั้นเมื่อศึกษาเอกสารหลายฉบับ กลับพบความสัมพันธ์ของวิสุทธิเทวีว่า น่าจะค่อนข้างแนบแน่นกับ “เชียงใหม่โซนใต้” มากกว่ากลุ่มไทใหญ่ ปัจจุบันอำเภอจอมทอง มีร่องรอยหลักฐานชิ้นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนางพญาวิสุทธิเทวีอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ วัดบ้านแปะ (วัดราชวิสุทธาราม) ถ้ำตอง และเวียงหิน

ศ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ปราชญ์ใหญ่ของล้านนา เป็นบุคคลแรกที่นำเสนอบทความเกี่ยวกับ “หลาบเงินของพระนางวิสุทธิเทวี” มาเปิดเผยเมื่อปี 2521 (และเขียนบทความใหม่อีกชิ้นชื่อ “ตราหลวงหลาบเงินของพระนางวิสุทธิเทวี” ตีพิมพ์ในหนังสือ “รวมบทความล้านนาคดีสัญจร : ตามรอยโคลงมังทรารบเชียงใหม่” ปี 2523 มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ดังนี้

“วัดราชวิสุทธาสร้างโดยพระนางวิสุทธิเทวี เมื่อปีเถาะ นพศก (พ.ศ.2110) ภายหลังจากที่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเชียงใหม่แล้ว 3 ปี จากเชียงใหม่ทรงล่องเรือมาตามแม่น้ำปิงจนถึงท่าทาน…”

“เจ้านายและขุนนางข้าราชการเมืองเชียงใหม่แตกแยกกัน โดยแบ่งออกเป็นพรรคเป็นพวก แม้จนกระทั่งเสียบ้านเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนองไปแล้วก็ตาม ความสงบสุขในเมืองเชียงใหม่ก็หามีไม่ พระนางเองซึ่งทรงมีสายพระโลหิตจากพระญามังรายมหาราช แม้จะครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ …และเกลียดศัตรูอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้พระนางจึงอพยพลงมาอยู่ที่บ้านแปะเป็นครั้งคราว เพื่อความสงบสุขและผ่อนคลาย”

จากข้อความที่คัดมานี้ อาจารย์ไกรศรีมองว่า การเสด็จมาประทับที่บ้านแปะ จอมทอง ในแคว้นหัวเคียนของพระนางวิสุทธิเทวีนั้น เป็นเพราะต้องการหนีความสับสนวุ่นวายในราชธานีเชียงใหม่ ซึ่งถูกปกครองโดยพม่าแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว

ทว่า จากการศึกษาค้นคว้าของอาจารย์ชัยวุฒิกลับพบว่า บริเวณแคว้นหัวเคียนทางตอนใต้ของเชียงใหม่นี้ แท้จริงเป็นเขตเครือญาติหรือฐานอำนาจของ “มหาเทวีจอมใจ” (ต่อมาคือนางพญาวิสุทธิเทวี) มาก่อน แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว อาจเป็นเมืองมาตุคามของพระนางเลยก็เป็นได้

เมื่อตรวจสอบกับต้นวงศ์ของเจ้าเมืองหัวเคียน จะปรากฏชื่อของ “นายสอย นางเม็ง” ว่าเป็นผู้บุกเบิกสร้างเมืองแถบนั้น ชื่อของ “นางเม็ง” อันหมายถึง “มอญ” จักสามารถสะท้อนว่าบรรพบุรุษของเจ้าเมืองแถบหัวเคียนมีเชื้อสายมอญได้หรือไม่ ประเด็นนี้ค่อยสืบค้นและถกเถียงกันต่อไป

ความสำคัญของหมู่บ้านลัวะที่บ้านแปะ (บ้านแปะบก) อำเภอจอมทอง เกี่ยวข้องกับพระนางวิสุทธิเทวีอย่างไร พบว่าไม่ไกลจากวัดบ้านแปะนี้ ทุกๆ 3 ปีจะมีพิธีนำ “หลาบเงิน” (ตราสาร/จารึกพระราชโองการ) กับตราพระราชลัญจกร ที่พระเจ้าบุเรงนองมอบอำนาจให้นางพญาวิสุทธิเทวีปกครองเชียงใหม่ ภายใต้อำนาจพม่า ออกจาก “ถ้ำตอง” มาทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้เพื่อขอความเป็นสิริมงคลบังเกิดแก่ชาวบ้าน

ชาวลัวะที่บ้านแปะเล่าว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเคยเป็นข้าวัดหรือทาสวัดราชวิสุทธารามมาก่อน โดยพระนางวิสุทธิเทวีได้ทำหลาบเงินขึ้นในปี 2110 (หลังจากล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่าได้ 9 ปี) แล้วมอบให้แก่ชาวลัวะ-ชาวไทหลายหมู่บ้านให้ช่วยกันรักษาดูแล นำหลาบเงินไปฝังไว้ในป่า จุดที่ไม่ให้คนภายนอกรับทราบ

ปัจจุบันมีแต่ชาวลัวะเท่านั้นที่ช่วยกันดูแล โดยทุกๆ 3 ปีจะมีการขุดหลาบเงินนำขึ้นมาทำพิธีบวงสรวง จากนั้นก็เอาไปซ่อนตามเดิม สถานที่เก็บนั้นเป็นความลับ แต่ละปีอาจเปลี่ยนแปลงที่ซ่อนได้

สถานที่อีกแห่งในเขตอำเภอจอมทองที่เกี่ยวข้องกับนางพญาวิสุทธิเทวีคือ “เวียงหิน” เป็นป้อมปราการที่พระนางให้สร้างขึ้น คราวเสด็จประทับเมืองหัวเคียน ทุกวันนี้เหลือแต่ซากกองหินซ้อนกันทั้งสี่ด้าน แต่ตัวพระตำหนักซึ่งคงสร้างด้วยเครื่องไม้ตอนกลางเวียง ไม่หลงเหลือหลักฐานใดๆ อีกแล้ว

เรื่องการมอบหลาบเงินให้ชาวลัวะดูแล หลายท่านก็อดคิดไม่ได้ว่า นางพญาวิสุทธิเทวีราชนารีล้านนาที่ปกครองเชียงใหม่องค์สุดท้ายผู้นี้ น่าจะมีเชื้อสายลัวะด้วยหรือไม่ จึงมีความผูกพันมอบหมายให้ชาวลัวะรักษาหลาบเงินของพระองค์มาจวบจนทุกวันนี้

ฉบับหน้ายังมีต่อค่ะ •