ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 30 ก.ย.- 6 ต.ค. 2565 ฉบับที่ 2198

 

ขอแสดงความนับถือ

 

เหตุผลสำคัญหนึ่ง

ที่เป็นข้ออ้าง และเกื้อหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะ “ไปต่อ” หลังวันที่ 30 กันยายน 2565

คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์มีภาระหน้าที่ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2022

โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565

ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ที่ผู้นำชาติมหาอำนาจมารวมกันในไทย

และหวังว่าจะประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ที่ขมุกขมัวมาจากการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ให้สดใสขึ้น

นอกจากนี้ ความหวังลึกๆ ที่ไม่ได้มีการพูดออกมาตรงๆ

นั่นก็คือโอกาสนี้จะเป็นการช่วยโฆษณาทางการเมืองให้แก่รัฐบาลผู้จัด

และส่งเสริมบทบาททางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่งหากผ่านด่านวันที่ 30 กันยายนไปได้ และมีแรงหนุนสำคัญ จากความสำเร็จในการเป็นประธานการประชุมเอเปค

พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นพยัคฆ์เสียบปีก

 

อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ การประชุมเอเปคดูจะด้อยค่าลงทันที

เมื่อมีแนวโน้มสูง ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา จะไม่มาร่วมประชุม

ด้วยเหตุผลส่วนตัว ติดภารกิจครอบครัว หลานสาวจะแต่งงาน

จะส่งเพียงรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส มาประชุม

ขณะที่นายไบเดนยังจะคงเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอด จี 20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ตามเดิม

ครึกโครมที่อินโดฯ แต่ขาดผู้นำหมายเลข 1 ของโลกที่ไทย

ย่อมทำให้การประชุมเอเปคที่ พล.อ.ประยุทธ์หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นงานสำคัญของตน หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี อับแสงลงอย่างมาก

และที่หวังว่า เวทีเอเปคจะเป็นกระดานหก

ส่งให้ตนเองพุ่งทะยานขึ้นโดดเด่นก่อนเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ก็ไร้แรงส่งลงอย่างสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เดอะโชว์ มัส โก ออน

ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

“ณัฐภาณุ นพคุณ” รองอธิบดีกรมสารนิเทศ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

นำ 10 เกร็ดน่ารู้…เกี่ยวกับเอเปค 2022 มาให้อ่านเป็นพื้นฐาน ที่หน้า 37

ว่าที่จริง เอเปคปีนี้ ที่จัดขึ้นภายใต้ธีมหลักของ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” มีเรื่องดีๆ อยู่ไม่น้อย

อาทิ ไทยจะผลักดันแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจโดยตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับทิศทางของโลก

แนวคิดนั้นคือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy Model

ที่ไทยหวังผลักดันให้สำเร็จเป็นไฮไลต์ในเวทีเอเปคนี้เป็นครั้งแรกด้วย

ถือเป็น “Bangkok Goals” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยวางเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

การค้า การลงทุน การจัดการทรัพยากรมีความยั่งยืน

การจัดการของเสียมีประสิทธิภาพ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ คอลัมน์สิ่งแวดล้อม ของทวีศักดิ์ บุตรตัน ที่หน้า 27

เสริมข้อมูลให้ด้วยว่า หากโมเดล “บีซีจี” ( Bio-Circular-Green Economy) สำเร็จ

จะช่วยตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้ตรงประเด็น ทั้งการเติบโตอย่างยั่งยืน ความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ของสมาชิกกลุ่มเอเปคในระยะยาว

โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพ ในฐานะผู้ผลักดัน

ย่อมจะต้องมีภาระผูกพันที่จะทำเรื่องนี้ ให้เป็นรูปธรรม

ทั้งประเด็นการบริหารจัดการของเสียและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องยอมรับว่ามีปัญหามานาน

หากเราทำได้จริง ความฝันที่ตั้งไว้ว่า ปี 2580 ประเทศไทยจะเป็น “เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ก็อาจเป็นจริง

แต่กระนั้น ไบเดนก็ทำให้ “Bangkok Goals” ดูไม่เจิดจรัสเท่าไหร่

รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่หลายๆ เสียงบอกว่าจะได้ไปต่อ หลังวันที่ 30 กันยายน

แต่ก็มิใช่ “ดวงดาวที่พราวแสง” เหมือนเดิมอีกแล้ว! •