เสียงสะท้อนจากคนวงใน ทำไม…ต้องเพิ่มงบอาหารกลางวัน!! / การศึกษา

การศึกษา

 

เสียงสะท้อนจากคนวงใน

ทำไม…ต้องเพิ่มงบอาหารกลางวัน!!

 

รายงานตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2565 ของไทย อยู่ที่ 7.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี บวกกับอัตราค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และไม่มีท่าทีจะลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสนใจว่า “รัฐบาล” จะเข้ามาจัดการปัญหานี้อย่างไร

ปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการศึกษา แม้ขณะนี้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หลายแสนล้านบาทต่อปี

หรือเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งจะอนุมัติเพิ่ม “เงินอุดหนุนรายหัว” จำนวน 4 รายการ โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันได เป็นระยะเวลา 4 ปีต่อเนื่อง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้รัฐจะทุ่มเงินลงไปเท่าไหร่ คุณภาพการศึกษาก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร และการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ก็ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ปกครองได้เท่าที่ควร เพราะแม้จะเพิ่มงบประมาณ แต่เป็นการเพิ่มที่น้อยมาก ขณะที่ผู้ปกครองยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้บุตรหลานของตนอยู่

 

นอกจากจะเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวแล้ว หลายฝ่ายยังออกมาเรียกร้องว่าควรจะเพิ่ม “เงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวัน” ด้วย

แม้ในปี 2564 ที่ผ่านมา ครม.มีมติปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึงชั้น ป.6 เป็นเงิน 21 บาท/คน/วัน แต่กลับไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่เพียงพอกับ “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะบริหารจัดการอาหารกลางวันให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการได้

ประเด็นนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่รอช้า ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนในโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ในระดับอนุบาลถึงชั้น ป.6 โดยจะเป็นการปรับเพิ่มตามข้อมูลที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ศึกษาไว้

ส่วนสาเหตุในการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันนั้น น.ส.ตรีนุชระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก และห่วงเรื่องภาวะทางโภชนาการของนักเรียน

“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา และมองว่าอาหารกลางวันของเด็กเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดสรรงบฯ มาดูแล จัดการอาหารกลางวันให้เด็กได้อย่างเพียงพอ และสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน” น.ส.ตรีนุชกล่าว

 

แม้จะเป็นเรื่องด่วนที่ ศธ.เร่งขับเคลื่อน แต่คำถามที่ตามมาคือ ควรจะ “เพิ่ม” เงินอุดหนุนเท่าไหร่? ถึงจะเพียงพอ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ประเด็นนี้ คนในแวดวงการศึกษาออกมาให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจจำนวนมาก เริ่มจากนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า การเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน ควรจะเพิ่มในลักษณะผกผัน คือไม่ควรให้เด็กได้รับจำนวนเงินเท่ากันหมด เพราะหากนักเรียนได้รับเงินเท่ากันหมด โรงเรียนขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบเช่นเดิม เพราะมีจำนวนเด็กน้อย ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ มีเด็กมาก จะได้รับเงินมาก ซึ่งพบว่ามีโรงเรียนหลายแห่งนำเงินอุดหนุนอาหารกลางวันที่ได้รับ ไปดำเนินการพัฒนาโรงเรียนด้านอื่นๆ

ทั้งนี้ นายเอกชัยเสนอให้ ศธ.ปรับอัตราเงินอุดหนุนอาหารกลางวันใหม่ในลักษณะ “ผกผัน” เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 300 คน ควรได้รับเงินอุดหนุน 25 บาท/คน/วัน ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า 500 คน อาจได้รับเงินอุดหนุน 22 บาท/คน/วัน ซึ่งทำให้ ศธ.ใช้งบฯ เท่าเดิม เพราะเป็นการถัวเฉลี่ยกระจายงบฯ ให้เท่าๆ กัน

นอกจากนี้ นายเอกชัยยังได้เสนอการบริหารจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนขนาดเล็กไว้น่าสนใจ ว่าควรจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำเป็นแคนทีนกระจายอาหารกลางวันให้โรงเรียนในพื้นที่ โดยไม่ต้องให้โรงเรียนมาดูแล เพราะอาจจะบริหารจัดการได้ไม่ดีพอ ถ้าให้คนในชุมชนมาจัดอาหารกลางวัน จะถือเป็นการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน สามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพให้กับเด็กได้

แต่หากห่วงเรื่องโภชนาการ ก็สามารถให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) เข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพ

 

ด้านฝ่ายปฏิบัติอย่าง ว่าที่ ร.ท.สุเวศ กลับศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครศรีธรรมราช เขต 4 ระบุว่า เป็นเรื่องดี ที่ผ่านมาโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน จำนวน 21 บาท/คน/วัน โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเด็กมาก สามารถบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็ก 20-30 คน อาจจะได้รับความลำบากในการบริหารจัดการ

“มองว่าเงินอุดหนุนอาหารกลางวันของนักเรียน ควรเพิ่มอย่างน้อย 30 บาท/คน/วัน เพราะในปัจจุบันราคาสินค้าสูงอย่างมาก บางโรงเรียนสะท้อนว่า การจัดอาหารกลางวันที่ต้องมีกับข้าวให้ 2 อย่าง ยังบริหารจัดการลำบาก ทำให้โรงเรียนต้องหาผู้มีจิตศรัทธาเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารให้นักเรียนได้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ” ว่าที่ ร.ท.สุเวศกล่าว

ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ทวีศักดิ์ นามศรี ผู้อำนวยการ สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 ระบุเช่นเดียวกันว่าเป็นเรื่องดี และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้นักเรียน เพราะช่วงที่ดีที่สุดของการพัฒนาของเด็ก คือตั้งแต่แรกเกิด-6 ปี ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญเด็กวัยนี้ในทุกด้าน จึงอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นวัยทองในการพัฒนา เรียนรู้ และหลอมรวมด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา พร้อมที่จะเข้าเรียนในระดับชั้นต่อๆ ไป

“ส่วนควรจะเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนเป็นเท่าไหร่นั้น ผมมองว่าจะเพิ่มเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้เพียงพอ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ว่าที่ ร.ต.ทวีศักดิ์ระบุ

 

จับตาดูต่อไป ว่าการเพิ่มเงินอุดหนุนครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือ และทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก บริหารจัดการอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการให้กับเด็กๆ ได้หรือไม่

เพราะหากได้อาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเต็มที่…

อย่าเป็นเพียงการสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ…

หรือสุดท้ายแล้ว ก็เป็นเพียงแค่นโยบายหาเสียงทางการเมือง!! •