พิธา แนะ ประวิตร ตั้งวอร์รูมจัดการน้ำท่วม ชี้ถ้ายังแยกกันบริหาร คนรับเคราะห์คือประชาชน!

พิธา แนะ ป้อม ตั้งวอร์รูมจัดการน้ำท่วม ชี้ถ้ายังแยกกันบริหาร คนรับเคราะห์คือประชาชน หลังจากลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

17 ก.ย. 2565 – นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังจากลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล และทีมงานพรรค

นายพิธา ระบุว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมพี่น้องชาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว

ชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้ว ระดับน้ำจะเริ่มสูงและท่วมในช่วงเดือนกันยายน แต่ในปีนี้เริ่มท่วมตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ลำบากกันมาก ถึงแม้จะมีการพูดคุยเรื่องการผันน้ำลงทุ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน มีการเลื่อนเวลา ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ยังต้องอดทนกับสภาวะน้ำท่วมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่การช่วยเหลือจากทางการก็ยังทำได้อย่างไม่ทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ที่มีทั้งเด็ก คนชรา และคนป่วย

การที่รัฐไม่สามารถควบคุมการผันน้ำ ปล่อยน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเกิดการท่วมขังเป็นเวลานาน เป็นหนึ่งในสัญญาณของการไม่มีหน่วยบริหารจัดการที่จะตัดสินใจร่วมกันอย่างเป็นระบบ การจัดการน้ำที่ดี จะต้องมีข้อมูลทั้งเรื่องมวลน้ำในพื้นที่ต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงการพยากรณ์ล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ถ้ายังไม่มีข้อมูลองค์รวมอย่างละเอียด ไม่มีการตัดสินใจร่วมกันอย่างรอบด้าน ก็เป็นไปได้สูงครับที่การตัดสินใจแต่ละครั้งจะขาดความแม่นยำ และไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

น้ำข้างล่างยังระบายได้ไม่ดี ข้างบนตัดสินใจปล่อยน้ำมาเพิ่ม โดยไม่ได้คุยกันก่อนหรือมีกระบวนการตัดสินใจร่วมกันว่าควรผันน้ำไปที่ใด เมื่อไหร่ และจะเยียวยา แก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร การจัดการวิกฤติขนาดใหญ่เช่นนี้จะมีประสิทธิภาพไม่ได้เลยถ้ายังไม่มีการรวมศูนย์การตัดสินใจ รวมศูนย์ข้อมูล และรวมศูนย์ความเห็น เพื่อบริหารให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ผมจึงอยากขอให้รักษาการณ์นายกประวิตร รีบตั้ง war room เพื่อบริหารวิกฤติอุทกภัยครั้งนี้ได้แล้วครับ โดยรวมองค์ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำของประเทศไทยที่มีกว่า 30 หน่วยงาน รวมสถานการณ์จากผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวมผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับทราบสถานการณ์ของประชาชนเพื่อดูแล ถ้ายังคงแยกกันบริหารของใครของมันอยู่ การบริหารจัดการวิกฤติก็จะไม่มีประสิทธิภาพ และผู้รับเคราะห์ก็คือประชาชนครับ

หลังจากเยี่ยมเยียนพี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วมและรับฟังความกังวลใจของประชาชนในพื้นที่เสร็จแล้ว ผมและคณะก็ได้เดินทางไปยังศูนย์จัดการขยะต้นแบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พี่น้องประชาชนมีความกังวลว่าอาจจะมีปัญหาการรั่วซึมของสารพิษและเกิดการรั่วไหลของขยะในกรณีที่เกิดน้ำท่วมได้