ศัลยา ประชาชาติ : พระบรมราโชบาย ร.9 คลายวิปโยคการเมือง หลักชัยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ

ตราบ 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แผ่ไพศาล ปกทั่วราชอาณาจักร

ทั้งพ่อค้า-วาณิชจากแผ่นดินจีนโพ้นทะเล ต่างได้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร

เฉพาะกิจการของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์นั้นผ่าน-ผลัดแผ่นดินมาแล้ว 4 รัชกาล ล่วงเข้าสู่แผ่นดินรัชสมัยที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

“ตระกูลโชควัฒนาเป็นคนจีนโพ้นทะเล เติบโตภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 กระทั่งถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เข้าสู่รัชกาลที่ 10 โชคดีที่มาอยู่เมืองไทย ทำธุรกิจมาจนถึงวันนี้ เพราะในหลวงทุกพระองค์ไม่เคยแบ่งแยก หรือกีดกันว่านั่นคนไทย นี่คนจีน”

“บุญยสิทธิ์” วัย 80 ปี ยังแจ่มชัดถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งครอบครัว “โชควัฒนา” ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

“การเข้าวังเพื่อเข้าเฝ้าฯ ในหลวงเป็นเรื่องใหญ่มาก ครั้งหนึ่งผมกับคุณพ่อ (ดร.เทียม โชควัฒนา) ต้องกล่าวถวายรายงาน คุณพ่อยังพูดภาษาไทยไม่คล่อง ทว่าในหลวงทรงตั้งใจฟังมาก พวกเราดีอกดีใจ ปลาบปลื้ม ถือเป็นโอกาสสำคัญ”

ไม่เพียงแต่ครอบครัว “บุญยสิทธิ์” ที่ได้รับพระเมตตา หากทว่า พระมหากรุณาธิคุณยังแผ่ไพศาลถึงกิจการ “เครือสหพัฒน์”

“ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งพระครุฑพ่าห์ ประดับเหนือบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เป็นสิริมงคล เป็นความภูมิใจของเครือสหพัฒน์อย่างมาก”

วัตรปฏิบัติบูชาต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงไม่เพียงถวายความจงรักภักดี หากแต่ยังน้อมนำอภิปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ถ้าคนไทยรู้และเข้าใจ จะนำมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เราจะอยู่ได้ เครือสหพัฒน์จึงไม่ฟุ่มเฟือยเลย ลงทุนแต่พอตัว และสามารถเลี้ยงพนักงานได้”

“ผมคือคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากมีส่วนร่วมทำให้ประเทศไทยดีขึ้น ผมหวังเช่นนั้นจริงๆ” บุญยสิทธิ์ตั้งปณิธาน

เช่นเดียวกับกิจการของพ่อค้าจีนที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ 96 ปีก่อน อย่าง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ซีพี กรุ๊ป”

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมสืบสานแนวพระราชดำริ-อภิปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นธงนำชัยในการผ่านวิกฤตชาติ-วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 มาได้

“ตอนนั้นเป็นช่วงหนักที่สุดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย หากยังลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย กิจการหลายอย่างต้องปิดตัวลง หรือขายออกไป บางรายต้องปรับโครงสร้าง หรือล้มละลายก็มี”

“แต่ถ้ามองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องมองที่ตัวเรา เราทำอะไรเกินกว่าที่เราทำหรือเปล่า สมเหตุสมผลหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสติอย่างมาก ผมจำได้ว่าตอนนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้สติทั้งระบบ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เราทุกคนเรียนรู้ว่าสิ่งที่พระองค์ทรงสอนคืออย่าทำอะไรเกินตัว อย่าวางตัวเองอยู่บนพื้นฐานของความโลภ หรือความเห็นแก่ตัว ไม่ทำอะไรที่ได้มาจากการเบียดเบียนผู้อื่น เราต้องมีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี และต้องรู้ว่าสิ่งนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

“สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เราจ่ายหนี้คืนทุกบาท ทุกสตางค์ เพียงแต่ต้องขอเวลา ซึ่งกว่าจะผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ต้องใช้เวลาร่วม 10 ปี”

“โครงการในพระราชดำริหลายโครงการ เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงน้อมนำไปปฏิบัติ เพราะพระองค์ทรงเพียรพยายามทำโมเดลจำลองหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเกษตรกรรม การพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเราทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทั้งยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องปรับตัว ยิ่งหากจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องเรียนรู้การพัฒนาไปสู่การเป็นพาร์ตเนอร์กับเกษตรกร”

 

ไม่เพียงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่นำประเทศไทยฝ่าคลื่นทุนนิยมมาถึงวันนี้ได้ หากว่าวิกฤตการเมือง ก็ผ่อนร้อนเป็นเย็นได้ ด้วยพระบรมราโชบาย

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้านรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ ผ่าน “พระปฐมบรมราชโองการ”

“พระองค์ท่านทรงปกครองแผ่นดินนี้โดยธรรม ไม่ได้ปกครองด้วยอำนาจหรืออาชญา ไม่ได้ปกครองตามอำเภอใจ ไม่ได้ทรงใช้แต่กฎหมายอย่างเดียว”

“เรามีพระประมุขที่มีหลักการปกครองที่เป็นอารยะมากที่สุด เมื่อเข้ามาทำงานเป็นข้าราชการ ทำงานของพระราชา น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระองค์ท่านมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลให้ได้”

“พระปฐมบรมราชโองการองค์นั้น คือเป้าหมายของการปกครองของพระมหากษัตริย์ไทย มุ่งไปที่ประโยชน์และความสุขของมหาชนชาวสยาม หมายความว่าพระราชภารกิจต่างๆ ไม่ใช่เพื่อความสุขของพระองค์เอง ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แต่เพื่อให้บังเกิดผลเป็นความสุขความเจริญของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ พระราชปณิธานใหญ่ข้อนี้ต้องนำมาเป็นหลักชัยให้มั่นคงไว้ให้ได้”

 

มีพระราชดำรัสองค์หนึ่งที่ “จรัญ” เชื่อว่าแก้วิกฤตและเปลี่ยนประเทศไทยไปตลอดกาล

“ผมประทับใจมากที่สุด เมื่อครั้งที่นักข่าวต่างประเทศสัมภาษณ์พระองค์ท่าน กราบบังคมทูลถามถึงสถานการณ์ขณะนั้นว่า พระองค์ท่านจะมั่นใจได้ไหม แค่ไหน ว่ารัฐบาลไทย ประเทศไทยจะชนะสงครามกับคอมมิวนิสต์ พระองค์ทรงตอบว่า เราไม่เคยรบกับคอมมิวนิสต์ เราต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย ปรารถนาให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ฝ่ายนั้น (คอมมิวนิสต์) ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน”

เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการเมือง วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 “จรัญ” เล่าถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงที่มีพระบรมราชวินิจฉัยปัญหาและทางออก

“ในหลวงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของพวกเรา หมดหนทาง มืดบอด ก็นึกถึงพระองค์ท่าน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่เคยมีนายกฯ พระราชทานอย่างที่พวกเราเข้าใจกัน ขณะนั้นมีรองประธานวุฒิสภาที่ทำหน้าที่ในฐานะประธานของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ใช่ขอให้พระองค์ท่านพระราชทานนายกฯ ไม่มีช่องทางในรัฐธรรมนูญ”

 

เหตุการณ์เดียวกันนี้เมื่อ 44 ปีก่อน อยู่ในความทรงจำ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์”

เขาย้อนเล่า “การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนหลัง 14 ตุลาคม 2516 ผมถูกยิง พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้บาดเจ็บ พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์”

ประสบการณ์ชีวิต-การต่อสู้ในวัยหนุ่ม ถึงวันนี้ ทำให้ “ประพัฒน์” ตกผลึกว่า

“พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่ำคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เหตุการณ์คลี่คลายสงบลงได้ เหมือนกับไฟในใจคนที่กำลังโหมพร้อมที่จะลุกขึ้นมา เมื่อพระองค์ท่านทรงมีรับสั่ง จึงเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หยาดลงในใจคน ทำให้ประชาชนคนไทยเย็นลง เพราะพระบารมี”