เรื่องเล่าแพร่กระจาย ตามเส้นทางการค้าภายใน / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เรื่องเล่าแพร่กระจาย

ตามเส้นทางการค้าภายใน

 

ภาษาและวรรณกรรมจากโซเมียทางตอนใต้ของจีน แพร่กระจายหลายพันปีมาแล้วตามเส้นทางการค้าภายในสู่ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบร่องรอยในคําบอกเล่าหรือเรื่องเล่าเป็นสัญลักษณ์อย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องนาค กับ เรื่องขุนบรม

 

[1.] เรื่องนาค

มีแทรกในหนังสืออุรังคธาตุ (ตําานานพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม) สรุปว่ามีนาคจํานวนหนึ่งชุมนุมอาศัยในหนองแส ต่อมาเกิดขัดแย้งรุนแรงเลยถูกผู้มีฤทธิ์ขับไล่ จึงต่างแยกย้ายอพยพลงทางทิศใต้ไปอยู่ที่ต่างๆ ตามลําแม่น้ำโขง แล้วทําให้เกิดภูมิประเทศหลากหลาย ได้แก่ แม่น้ำอู, แม่น้ำงึม, แม่น้ำปิง, แม่น้ำมูล, แม่น้ำชี, แก่งลี่ผี, หนองหานหลวง, หนองหานน้อย เป็นต้น

นาค หมายถึง วัฒนธรรมหลากหลายบริเวณโซเมีย (คําว่า “นาค” มีขึ้นสมัยหลังเมื่อมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร)

หนองแส หมายถึง หนองน้ำใหญ่ (หรือทะเลสาบน้ำจืด แต่มีบางสํานวนกล่าวว่าหมายถึงแม่น้ำโขง) โดยไม่จําเพาะเจาะจงแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีมากทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะในมณฑลยูนนาน

น้ำโขง แม่น้ำโขงเป็นคําเรียกอย่างภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่คนพื้นเมืองในวัฒนธรรมลาวเรียก น้ำ (แม่) ของ [คําว่าของ มีรากจากภาษามอญว่า โคลฺง พวกไทย-ลาวรับมาใช้แล้วเพี้ยนเป็น คลอง แปลว่าทางคมนาคม เช่น แม่น้ำลําคลอง แต่ในวัฒนธรรมลาวไม่ออกเสียงควบกล้ำ เลยเรียกของ แล้วคนทางภาคกลางออกเสียงเป็นโขง]

ในคําบอกเล่าเก่าแก่และในกาพย์กลอนโคลงสองฝั่งโขง เรียกแม่น้ำโขงว่าน้ำแม่กาหลง มีในมหากาพย์ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง และในโคลงพระลอ คําว่า “กาหลง” กลายมาจากชื่อเก้าลวง หมายถึงนาคเก้าตัวพิทักษ์น้ำโขง [ในเวียดนาม ปากแม่น้ำโขงแยกเป็นแควสายเล็กๆ 9 สาย เหมือนมังกร 9 ตัว ภาษาปากชาวเวียดนาม เรียก เกาหลง, เกาลุ้ง แล้วชาวลาวเรียกเป็น เก้าลวง เพี้ยนเป็น กาหลง]

น้ำชี คําเดิมว่า ซี หรือ ซี่ หมายถึง เจาะ ไช แทง เช่น เหล็กแหลมใช้เจาะไชให้เป็นร่องเป็นรู เรียกเหล็กซีหรือเหล็กซี่ มีตัวอย่างในพงศาวดารล้านช้างตอนกําเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง มีความตอนหนึ่งว่า “ยามนั้น ปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กซีแดงชีหมากน้ำนั้น…” และ “ฝูงออกมาทางฮูชีนั้นเป็นข้า…” คนแต่ก่อนเรียกน้ำ (แม่) ซี หมายถึง แม่น้ำที่เกิดจากการเจาะ ไช แทง ของอํานาจเหนือธรรมชาติ เช่น นาค

น้ำมูล คําเดิมว่า มูน หมายถึง มาก, ล้น, มั่งคั่ง ฯลฯ มีใช้ในชีวิตประจําวันว่ามั่งมูน และมีในกาพย์กลอนโคลงสังข์ศิลป์ชัยว่า “น้ำสมุทรมูนมากล้น ลืบแผ่นธรณี” คนแต่ก่อนเรียกน้ำ (แม่) มูน หมายถึงแม่น้ำใหญ่ มีน้ำมากมูนล้นฝั่ง ภายหลังมีนักบวชบัณฑิตแต่งแปลงอย่างบาลีว่ามูล เป็นมูลนที เลยเขียนว่าแม่น้ำมูล

หนองหาน, หนองหาร คําว่า หนอง หมายถึง แอ่งน้ำ มีในภาษาปากชาวบ้านว่าหนองน้ำ ส่วนคําว่าละหาน, ละหาร หมายถึงที่ลุ่มเก็บน้ำไว้จํานวนมาก บางทีเรียกลํา ห้วยต้นน้ำลําธารว่าห้วยละหาน แล้วกร่อนเหลือหานคําเดียว โดยยืมจากคําเขมรว่า รหาล (อ่านว่า รัว-ฮาล), ลฺหาล (ละหาล) แปลว่า ห้วงน้ำเวิ้งว้าง

 

[2.] เรื่องขุนบรม

เป็นทายาทแถนอยู่เมืองแถน ต่อมามีลูกชาย 7 คน เมื่อโตขึ้นได้แยกย้ายไปก่อบ้านสร้างเมืองเป็นเครือญาติพี่น้อง 7 แห่ง ได้แก่ 1. เมืองหลวงพระบาง ในลาว (โดยขุนลอ) 2. เมืองหอแต สิบสองพันนา ในจีน (โดยยี่ผาลาน) 3. เมืองแกวช่องบัว ในเวียดนาม (โดยสามจูสง) 4. เมืองยวนโยนก ลุ่มน้ำกก-อิง-โขง ในไทย (โดยไสผง) 5. เมืองอโยธยา-สุพรรณภูมิ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในไทย (โดยงั่วอิน) 6. เมืองคําเกิด ลุ่มน้ำโขง ในลาว (โดยลกกลม) 7. เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ในลาว (โดยเจ็ดเจือง)

ในดินแดนประเทศไทยมี 2 เมืองเชื้อสายขุนบรมซึ่งมีความสัมพันธ์ผันแปรทั้งเครือญาติใกล้ชิดและคู่สงครามต่อเนื่องยาวนาน ได้แก่

1. เมืองยวนโยนก ต่อไปคือ รัฐล้านนา และ

2. เมืองอโยธยา-สุพรรณภูมิ ต่อไปคือ รัฐอยุธยา

ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ทั้งเชิงเครือญาติและเชิงศัตรูกับเมืองเชื้อสายขุนบรมที่อยู่ในเขตลาว คือ เมืองหลวงพระบาง ความสัมพันธ์เหล่านี้มีให้เห็นเป็นสัญลักษณ์อยู่ในวรรณกรรมสําคัญเรื่องขุนช้างขุนแผน เกี่ยวข้องหมดทุกเมืองทั้งอยุธยา, ล้านนา, หลวงพระบาง

“ขุนบรม” เป็นคําเรียกอย่างไทย แต่ลาวเรียก ขุนบูลม, ขุนบูฮม ได้รับยกย่องเป็น “วีรบุรุษในตําานาน” ของคนลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำแดง-ดํา ขุนบรมเป็นทายาทแถน มีศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์อยู่เมืองแถน (ปัจจุบันมีชื่อภาษาเวียดนามว่า “เดียนเบียนฟู”) อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ติดพรมแดนลาว

เมืองแถน เป็นเมืองลาวเก่า มีบอกในตํานานหรือนิทานเรื่องขุนบรม ตอนหนึ่งมีความว่า “—–พระยาผีแถน จักให้ท้าวขุนบรมลงมาเกิดในเมืองลาวเก่า—–“ เท่ากับเป็นหลักฐานว่าลาวล้านช้าง (หลวงพระบาง) และลาวล้านนา (ในโยนก) มีบรรพชนอยู่เมืองแถน เดิมเรียกนาน้อยอ้อยหนู

แถน คือขุนแผน บริเวณภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียกแถนด้วยสําเนียงกลายเป็นไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า “ขุนแผน” หมายถึงพระพรหม มีในโองการแช่งน้ำ

แถน (ผู้รู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน อธิบายว่ามีรากจากคําจีนว่า เทียน แปลว่า ฟ้า) หมายถึง อํานาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นบรรพชนของผู้ไทและคนในตระกูลไท-ไตทั้งหลาย บางทีเรียกผีฟ้า, เจ้าฟ้า เพราะเชื่อว่าสิงอยู่บนฟ้า เป็นเจ้าใหญ่ของท้องฟ้า แล้วเชื่ออีกว่าเป็นผู้ควบคุมน้ำที่มีบนฟ้าซึ่งปล่อยให้ตกลงมาเป็นฝน จึงมีนิทานจุดบั้งไฟขอฝนบนฟ้าจากแถน

 

คําบอกเล่ามี “นิยาย”

อํานาจของภาษาและวรรณกรรมมีพลังกว้างไกลมาก ดูจากการแพร่กระจายของคําบอกเล่ามี “นิยาย” อย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ ปลาบู่ทอง กับ พระรถ นางเมรี

[1.] ปลาบู่ทอง

คําบอกเล่าเก่าแก่ของชาวจ้วง (พูดตระกูลภาษาไท-ไต) มณฑลกวางสี ทางใต้ของจีน แล้วแพร่กระจายหลายทิศทางกว้างไกล

ทางหนึ่ง ไปตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในจากทางใต้ของจีน เข้าถึงลุ่มน้ำโขง ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

อีกทางหนึ่ง เข้าสู่ราชสํานักจีน พบหลักฐานเก่าสุดในหนังสือของจีน โดยต้วนเฉิงซี (ระหว่าง พ.ศ.1346-1406) แล้วแพร่หลายถึงยุโรป ถูกดัดแปลงเป็นเรื่องซินเดอเรลลา มีบันทึกโดยชาวอิตาลี พ.ศ.2180

พระรถเมรี ตอนพระรถขี่ม้าข้ามน้ำหนีนางเมรีอยู่อีกฝั่ง นางเมรีกำลังร้องไห้เสียใจ รำพึงรำพันว่า “ชาตินี้น้องตามพี่มา ชาติหน้าพี่ต้องตามน้องไป” อยู่ริมแม่น้ำที่กำลังไหลแรงอันเกิดจากยาวิเศษ บรรดารี้พลกองทัพยักษ์ที่กำลังเดินข้ามภูเขาป่าไม้ใหญ่ที่เป็นเครื่องกีดกั้นก็เกิดจากยาวิเศษที่พระรถทรงโปรยไว้ (จิตรกรรมวรรณคดีใส่กรอบ สมัย ร.5 ปัจจุบันเก็บรักษาในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 2, กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2537.)

[2.] พระรถ นางเมรี

เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง ดังนี้

(1.) เริ่มแรกแพร่หลายในกลุ่มชาติพันธุ์กํามุ (ขมุ) พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร คนพื้นเมืองดั้งเดิมบริเวณสองฝั่งโขงกับแม่น้ำคาน (ปัจจุบันเรียกเมืองหลวงพระบาง) ก่อนการเข้ามาของลาวพูดตระกูลภาษาไท-ไต จากเมืองแถน (ในเวียดนาม)

(2.) คนพูดตระกูลภาษาไท-ไต จากเมืองแถนเรียกตนเองว่าลาว เคลื่อนไหวโยกย้ายไปก่อบ้านสร้างเมืองหลวงพระบาง (เชียงดงเชียงทอง) อยู่ร่วมกับกลุ่มกํามุจึงรับคําบอกเล่าของกํามุเรื่องพระรถ นางเมรี เป็นคําบอกเล่าเผ่าพันธุ์ลาว

(3.) แพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าของดินแดนภายในจากลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากนั้นคําบอกเล่าเรื่องพระรถ นางเมรี ได้รับยกย่องจากราชสำนักอยุธยาเป็นเรื่องราวศักดิ์ศิทธิ์ แล้วแต่งเป็นบทขับไม้โดยใช้ขับไม้ในพิธีกรรมสําคัญ ได้แก่ งานสมโภชชั้นสูงสืบเนื่องถึงราชสํานักกรุงรัตนโกสินทร์

[ข้อมูลมีอีกในหนังสือนามานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ 1 ชื่อวรรณคดี (มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2550 หน้า 320-322)]

(4.) พระรถเมรีเป็นคําบอกเล่ามี “นิยาย” กลับชาติเกิดใหม่ ต่อมาใช้เล่นเป็นละครชาวบ้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากคนในรัฐอยุธยา เนื้อเรื่องแบ่งเป็น 2 ภาคต่อเนื่องกัน ภาคต้นเรียกพระรถ นางเมรี (แต่ชาวบ้านเรียกเรื่องนางสิบสอง) ภาคปลายเรียกพระสุธน นางมโนห์รา (แต่ชาวบ้านเรียกเรื่องนางมโนห์รา) •